โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2526 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดิน น.ส.2 เลขที่ 110 ให้แก่โจทก์ โจทก์วางเงินมัดจำในวันทำสัญญา 40,000 บาท ส่วนที่เหลือ 110,000 บาท จะชำระในวันจดทะเบียนโอนขายซึ่งจะโอนขายเมื่อได้ออก น.ส.3เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจำเลยไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าได้ออก น.ส.3 แล้วหรือไม่ ต่อมาโจทก์ไปขอตรวจสอบที่ที่ว่าการอำเภอท้องที่ จึงทราบว่าที่ดินดังกล่าวได้ออก น.ส.3เรียบร้อยแล้ว แต่มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 31แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2526 ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2536 ซึ่งเป็นวันครบ 10 ปี ที่สามารถจดทะเบียนโอนขายได้ โจทก์ได้ไปรอรับการจดทะเบียนโอนขายที่ดินจากจำเลยที่สำนักงานที่ดินอำเภอท้องที่และขอตรวจสอบ น.ส.3 ของจำเลยปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์ไม่สุจริตด้วยเจตนาไม่ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินโดยนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนให้ผู้อื่นเช่ามีกำหนด 30 ปี นับแต่เดือนเมษายน 2533 ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนขายที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 110 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าขนุนอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ให้แก่โจทก์และรับเงินราคาที่ดินส่วนที่เหลือ 110,000 บาท จากโจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้โจทก์วางเงินราคาที่ดินต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์
จำเลยให้การว่า ไม่ได้ทำสัญญาจะขายแก่โจทก์ เมื่อออก น.ส.3แล้วปรากฏว่ามีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี สัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นโมฆะเพราะฝ่าฝืนกฎหมาย สัญญาทำกันมานานเกินกว่า 10 ปี คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส.3เลขที่ 110 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิจังหวัดกาญจนบุรี ให้แก่โจทก์พร้อมกับรับเงินราคาที่ดินส่วนที่เหลืออีก 110,000 บาท จากโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้โจทก์นำเงินราคาที่ดินจำนวน 110,000 บาท ไปวางที่สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดกาญจนบุรีก่อนนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนโอนที่ดิน
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า ขณะทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินยังไม่มีข้อกำหนดห้ามโอนเพราะยังไม่ได้ออก น.ส.3 ด้วยเหตุนี้จะถือว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงข้อห้ามโอนหรือมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายยังไม่ได้สัญญาไม่เป็นโมฆะ เมื่อพ้นกำหนดห้ามโอนย่อมบังคับให้โอนขายได้เกี่ยวกับปัญหานี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ตามสัญญาจะซื้อขายตกลงกันว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนขายที่ดินแก่โจทก์เมื่อได้ออก น.ส.3เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคำบรรยายฟ้องในข้อนี้ตรงกับข้อตกลงในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.1 ข้อ 5โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่าเมื่อออก น.ส.3 แล้ว ปรากฏว่ามีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ดังนี้ กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคแรก คือการชำระหนี้หรืออีกนัยหนึ่งคือการจดทะเบียนโอนขายที่ดินแก่โจทก์กลายเป็นพ้นวิสัย เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนอันเป็นพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้คือภายหลังการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว ซึ่งลูกหนี้หรือจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ ตามบทบัญญัติดังกล่าวจำเลยเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้โดยไม่ต้องจดทะเบียนโอนขายที่ดินแก่โจทก์อีกต่อไป เพราะไม่มีข้อตกลงว่าต้องรอจนพ้นกำหนดห้ามโอนแล้วจึงจะจดทะเบียนโอนขาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่บังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน