โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 177, 264, 266, 268
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาพลเรือเอก อ. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคแรก (เดิม), 264 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 266 (2), 268 วรรคแรก, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับความผิดฐานร่วมกันปลอมพินัยกรรมและฐานร่วมกันใช้หรืออ้างพินัยกรรมปลอม จำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันปลอมและใช้หรืออ้างพินัยกรรมปลอม จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้หรืออ้างพินัยกรรมปลอม ตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (2) แต่กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุกคนละ 4 ปี ฐานเบิกความเท็จ จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี ทางนำสืบพยานจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 นางสาวอรอนงค์ นางสาวอนุรี และนางประภัสสร เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 นางสาวอรอนงค์ นางสาวอนุรี และนางประภัสสร จำเลยที่ 1 และนางประภัสสร เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 287 และ 287/1 นางสาวอรอนงค์ และนางสาวอนุรี พักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 287 ส่วนจำเลยทั้งสองและบุตรพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 287/1 จำเลยทั้งสองมีบุตรด้วยกันสามคน คือนางสาวฐิติรัตน์ นางสาวสมชนก และนางสาวจารุภัทร เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2556 นางสาวอรอนงค์ ถึงแก่ความตายต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2556 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอตั้งโจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวอรอนงค์ ผู้ตาย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 214/2556 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านอ้างว่า ก่อนถึงแก่ความตายนางสาวอรอนงค์ ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยูในปัจจุบันและในอนาคตให้แก่บุตรทั้งสามคนของจำเลยทั้งสองแล้ว ระหว่างพิจารณาคดีศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ส่งพินัยกรรมที่จำเลยที่ 1 ผู้คัดค้านอ้างส่งไปตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมว่าเป็นลายมือชื่อของนางสาวอรอนงค์ หรือไม่ ที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยส่งพินัยกรรมฉบับที่ประทับตรา "คู่ฉบับ" ไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับลายมือชื่อของนางสาวอรอนงค์ ในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อธนาคารนางสาวอรอนงค์ ในหนังสือมอบอำนาจ ลงวันที่ 12 มกราคม 2543 ในภาพถ่ายสำเนาทะเบียนบ้านและในภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ต่อมาพันตำรวจเอก พิษณุ ผู้ตรวจพิสูจน์รายงานผลการตรวจพิสูจน์ลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 จำเลยทั้งสองเบิกความเป็นพยานผู้คัดค้านต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนคำคัดค้าน ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตแล้วจึงมีคำสั่งตั้งโจทก์ร่วมผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวอรอนงค์ ผู้ตาย ส่วนคดีนี้ ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งพินัยกรรมฉบับที่ประทับตรา "ต้นฉบับ" ไปตรวจพิสูจน์ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมว่าลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมเป็นของนางสาวอรอนงค์ หรือไม่ โดยให้เปรียบเทียบกับลายมือชื่อนางสาวอรอนงค์ ในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อของธนาคาร อ. ลายมือชื่อในช่องเจ้าของบัญชีและผู้มอบฉันทะของใบถอนเงิน ต่อมาร้อยตำรวจเอกหญิง รัตนาพร และคณะผู้ตรวจสอบรายงานผลการตรวจพิสูจน์ลงความเห็นว่า เป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ฉบับลงวันที่ 25 เมษายน 2557 มีข้อความบันทึกไว้ว่า ทนายผู้คัดค้านขอนำส่งต้นฉบับพินัยกรรมของนางสาวอรอนงค์ เพื่อนำส่งตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในพินัยกรรม ส่วนคำให้การพยานผู้คัดค้านของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 1 เบิกความว่า "...รายละเอียดปรากฏตามต้นฉบับพินัยกรรมและคู่ฉบับพินัยกรรมที่มีข้อความตรงกัน" ประกอบกับต้นฉบับพินัยกรรมเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้คัดค้านได้อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 214/2556 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยระบุเอกสารจำนวน 2 แผ่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า พินัยกรรมทั้งสองฉบับถูกอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้พร้อมกัน และโจทก์ร่วมทราบอยู่แล้วว่าพินัยกรรมของนางสาวอรอนงค์ มี 2 ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกัน โดยประทับตรา "ต้นฉบับ" ฉบับหนึ่ง และประทับตรา "คู่ฉบับ" อีกฉบับหนึ่ง ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า การตรวจพิสูจน์พินัยกรรมที่ประทับตรา "ต้นฉบับ" โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นเอกสารคนละฉบับกับพินัยกรรมที่ประทับตรา "คู่ฉบับ" จึงนำมารับฟังหักล้างผลการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นั้น เห็นว่า เมื่อพินัยกรรมทั้งต้นฉบับและคู่ฉบับเป็นเอกสารที่ระบุชื่อผู้ทำพินัยกรรมคนเดียวกัน ถูกอ้างเป็นพยานหลักฐานในเวลาเดียวกัน เชื่อว่าเป็นการจัดทำโดยบุคคลคนเดียวกันและในคราวเดียวกัน การตรวจพิสูจน์พินัยกรรมแต่ละฉบับโดยผู้ตรวจพิสูจน์ต่างรายกันหาได้ต้องห้ามที่จะนำมารับฟังเพื่อชั่งนํ้าหนักพยานของแต่ละฝ่ายไม่ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อของนางสาวอรอนงค์ โจทก์และโจทก์ร่วมมีพลตำรวจตรีพิษณุ ผู้ตรวจพิสูจน์พินัยกรรมฉบับประทับตราคู่ฉบับในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 214/2556 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นพยานเบิกความว่า พยานตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมโดยการเปรียบเทียบคุณสมบัติการเขียนลายมือชื่อแสดงให้เห็นโดยทำลูกศรชี้กำหนดไว้โดยระบุไว้ในตอนล่างว่าเป็นการเปรียบเทียบจากเอกสารใด พยานลงความเห็นว่ามีความแตกต่างกันโดยตัวอักษรที่ปรากฏในลายมือชื่อของนางสาวอรอนงค์ในคู่ฉบับพินัยกรรมมีอัตราส่วนระหว่างความสูงมากกว่าความกว้าง ส่วนในเอกสารเปรียบเทียบมีอัตราส่วนของความกว้างมากกว่าความสูง ลูกศรที่ชี้กำกับในรายงานการตรวจพิสูจน์ แผ่นที่ 5 ถึงแผ่นที่ 7 เป็นการชี้ให้เห็นว่าตำแหน่งนั้น ๆ มีคุณสมบัติการเขียนที่แตกต่างกัน ซึ่งพยานลงความเห็นในระดับ "ไม่ไช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน" อันเป็นระดับสูงสุดของการตรวจลายมือชื่อ ได้แก่ "ใช่", "น่าจะใช่", "คล้ายคลึงแต่ไม่ยืนยัน", "ไม่ยืนยัน", "มีลักษณะต่างแต่ไม่ยืนยัน", "น่าจะไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน" และ "ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน" พยานเห็นว่าลายมือชื่อในคู่ฉบับพินัยกรรมมีลักษณะของเส้นช้าและเร็วปนกันแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนไม่ชำนาญในการเขียนลายมือชื่อนี้ และพยานเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า การเขียนช้าลงดูจากลายเส้นมีลักษณะสั่น ขอบไม่เรียบ เฉพาะกรณีผู้ป่วยจะมีลักษณะช้าอย่างสมํ่าเสมอ ส่วนจำเลยที่ 1 มีร้อยตำรวจเอกหญิงรัตนาพร เป็นพยานเบิกความว่า พยานขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม พยานตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของนางสาวอรอนงค์ ที่ปรากฏในช่องผู้ทำพินัยกรรมตามพินัยกรรมต้นฉบับเอกสาร กับตัวอย่างลายมือชื่อตามเอกสารเปรียบเทียบกันปรากฏว่า มีคุณสมบัติของการเขียนและรูปร่างตัวอักษรเป็นอย่างเดียวกันเหมือนกัน ได้แก่ ตัวอักษร ร.เรือ ของชื่อนางสาวอรอนงค์ ที่ทำเครื่องหมายลูกศรสีแดงมีลักษณะม้วนเหมือนกัน ส่วนสระอุ มีลักษณะโค้งเหมือนกัน รวมถึงลักษณะการเขียนตัวอักษร น.หนู เป็นอย่างเดียวกัน พยานตรวจสอบด้วยมาตรฐานของผู้เชี่ยวชาญและมีความเห็นว่าลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมกับลายมือชื่อที่นำมาเปรียบเทียบนั้นมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน ยืนยันว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน พยานเป็นเจ้าของสำนวนและจะมีองค์คณะอีกสองคนเป็นผู้ตรวจสอบโดยองค์คณะทั้งสองมีความเห็นเช่นเดียวกันกับพยาน และพยานเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมถามค้านว่า การตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ใช้หลักการเดียวกัน คือ เปรียบเทียบกับลายมือชื่อตัวอย่างในเอกสารอื่น ๆ การทำเครื่องหมายลูกศรสีแดงแสดงจุดที่เหมือนกัน แต่ไม่ได้แสดงเครื่องหมายในจุดที่แตกต่างกัน เนื่องจากในการเขียนลายมือชื่อแต่ละครั้งไม่สามารถเขียนได้เหมือนกันทุกครั้งทุกเวลา เห็นว่า การตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมโดยพลตำรวจตรีพิษณุ เป็นการตรวจหาตำแหน่งที่แตกต่างกันของลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมกับลายมือชื่อของนางสาวอรอนงค์ ในเอกสารตัวอย่าง แต่ที่พลตำรวจตรีพิษณุ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความว่า ลายมือชื่อในคู่ฉบับพินัยกรรมมีลักษณะของลายเส้นช้าและเร็วปนกันแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนไม่ชำนาญในการเขียนลายมือชื่อนี้นั้น ไม่ปรากฏว่าพยานได้ระบุเหตุผลดังกล่าวในรายงานผลการตรวจพิสูจน์ อีกทั้งไม่ได้ระบุว่าตัวอักษรใด ตำแหน่งใดที่เส้นมีลักษณะสั่น ขอบไม่เรียบที่แสดงว่าเป็นการเขียนช้าสลับเร็วตามที่พยานเบิกความถึง ส่วนร้อยตำรวจเอกหญิงรัตนาพร ผู้ตรวจพิสูจน์เอกสารซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม เบิกความยืนยันว่า วิธีการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมใช้หลักการเดียวกันกับการตรวจพิสูจน์ของกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่การตรวจพิสูจน์ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กระทำในรูปแบบองค์คณะโดยองค์คณะต้องเห็นชอบด้วยกับผลการตรวจและความเห็นร่วมกันทั้งสามคน แม้ผลการตรวจพิสูจน์และความเห็นตรงกันข้ามกับการตรวจพิสูจน์โดยพลตำรวจตรี พิษณุ ก็มิใช่ข้อพิรุธ ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า พลตำรวจตรี พิษณุ มีอายุงานและประสบการณ์มากกว่าน่าเชื่อกว่านั้น เห็นว่า ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญนั้นมิได้มีกฎหมายบังคับว่าศาลจำต้องเลือกฟังจากผู้ตรวจพิสูจน์ที่มีอายุงานมากกว่าแต่อย่างใด ประกอบกับศาลฎีกาตรวจสอบลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมทั้งฉบับที่ประทับตรา "ต้นฉบับ" และฉบับที่ประทับตรา "คู่ฉบับ" ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพแสดงประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ โดยการเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อเจ้าของบัญชีธนาคาร อ. แผ่นที่ 1 ถึงแผ่นที่ 3 ซึ่งเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกซึ่งเป็นคนกลางแล้วพบว่า ลักษณะการเขียนตัวอักษรและลีลาการเขียนคล้ายคลึงกันมาก ทั้งพฤติการณ์แห่งคดีที่นางสาวอรอนงค์ เป็นพี่สาวของจำเลยที่ 1 เป็นป้าของหลานที่มีชื่อเป็นผู้รับพินัยกรรม พักอาศัยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกสร้างใกล้เคียงกันในรั้วเดียวกัน อ. เป็นโสดไม่มีคู่สมรสและบุตร การทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนเองให้แก่หลานที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันจึงไม่เป็นพิรุธสงสัยแต่อย่างใด ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า พยานจำเลยปากนางสาวจารุภัทรและนางสาวสมชนกเบิกความแตกต่างกันในเรื่องการเดินทางมายังบ้านของนางสาวอรอนงค์ ในวันทำพินัยกรรมนั้น เห็นว่า วันที่ทำพินัยกรรมห่างจากวันที่พยานทั้งสองเบิกความเป็นเวลากว่าสิบห้าปี ความจำย่อมเลือนไปบ้าง ข้อแตกต่างของพยานในเรื่องการเดินทางเป็นรายละเอียดปลีกย่อยอันเป็นพลความ ไม่ถือเป็นข้อพิรุธสงสัยถึงขนาดรับฟังไม่ได้ว่านางสาวอรอนงค์ มิได้ทำพินัยกรรม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวอรอนงค์ ได้ทำพินัยกรรม และคู่ฉบับตามสำเนาพินัยกรรมในรายงานการตรวจพิสูจน์จริง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม และการเบิกความถึงพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน