โจทก์ฟ้องขอให้ยกเลิกหรือเพิกถอนมติหรือคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๓ เข้าทำนาในที่ดินของโจทก์โดยให้โจทก์เป็นผุ้เข้าทำประโยชน์ ห้ามจำเลยที่ ๓ เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเพราะคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมประจำตำบลบ่อทองและกับคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมประจำจังหวัดปราจีนบุรีไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์บอกเลิกการเช่านาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ วินิจฉัยให้ยับยั้งการบอกเลิกการเช่านาของโจทก์ เพื่อให้จำเลยที่ ๓ เช่านามีกำหนดเวลา ๒ ปี โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ต่อจำเลยที่ ๒ เกินกำหนดจำเลยที่ ๒ จึงยกอุทธรณ์โจทก์ คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ เป็นผู้เช่าที่นาของโจทก์ตามมติของคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบ่อทอง จึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โจทก์ไม่เสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติหรือคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เสีย ห้ามจำเลยที่ ๓ เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ต่อไป
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ แต่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเพียงบัญญัติว่า คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล (คชก.ตำบล) ก็ดี คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด (คชก.จังหวัด) ก็ดีประกอบด้วยบุคคลใดบ้าง ไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองให้คณะกรรมการดังกล่าวมีสภาพเป็นนิติบุคคลหรือเป็นบุคคลธรรมดาแต่อย่างใด จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จึงไม่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาดันจะอยู่ในฐานะที่ถูกฟ้องร้องได้ ทั้งฟ้องโจทก์ก็แปลความไม่ได้ว่า โจทก์ฟ้องตัวบุคคลที่ประกอบเป็นคณะกรรมการเพราะโจทก์มิได้ระบุชื่อเป็นรายบุคคล โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ได้ แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนี้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่ก็เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ส่วนจำเลยที่ ๓ นั้นข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามเอกสารที่คู่ความแถลงรับกันว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ จำเลยที่ ๓ ได้เช่านาของโจทก์ที่ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๖๓ ตารางวา มีกำหนด ๖ ปี จะสิ้นระยะเวลาเช่านาในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่า จำเลยที่ ๓ ชำระค่าเช่านาให้โจทก์ไม่ครบ โจทก์จึงให้บุคคลอื่นเข้าทำนาแทนจำเลยที่ ๓ ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ ๓ เกิดพิพาทกัน แต่ตกลงกันได้ด้วยการประนีประนอมยอมความตามสัญญลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๔ ปรากฎตามเอกสาร หมาย จ.๔ โดยให้จำเลยที่ ๓ เข้าทำนาของโจทก์ได้ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ กับปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยที่ ๓ จะไม่เข้าเกี่ยวข้องกับที่นาของโจทก์อีกต่อไป วันเดียวกับโจทก์ได้แจ้งบอกเลิกการเช่านาไปยังจำเลยที่ ๓ ตามเอกสารหมาย จ.๒ และส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่าพร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการบอกเลิกการเช่านาไปยังคณะกรรมการควบคุมการเช่า ตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรี ตามเอกสารหมาย จ.๓ คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลบ่อทองได้มีคำวินิจฉัยให้จำเลยที่ ๓ เข้าทำนาของโจทก์ได้อีกต่อไป มีปัญหาตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยที่ ๓ มีสิทธิเช่าที่ดินของโจทก์ต่อไปได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.๔ ได้ทำไว้เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๔ ก่อนสิ้นกำหนดระยะเวลาการเช่านาตามสัญญาเช่าทำนาระหว่างจำเลยที่ ๓ กับโจทก์ การที่จำเลยที่ ๓ ตกลงว่าจะออกไปจากที่นาของโจทก์เมื่อครบกำหนดและจะมอบที่นาคืนแก่โจทก์ จนโจทก์ได้แจ้งบอกกล่าวเลิกสัญญาการเช่านาไปยังจำเลยที่ ๓ เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่านาคือโจทก์กับผู้เช่านาคือจำเลยที่ ๓ ได้ตกลงที่จะเลิกสัญญาเช่านาพิพาทกันเมื่อสิ้นระยะเวลาการเช่านาซึ่งโจทก์จะต้องบอกเลิกการเช่านาเป็นหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๓ ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี และต้องส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกการเช่านาพร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการบอกเลิกการเช่านาไปยังคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอภายในสามสิบวันนับแต่วันส่งหนังสือบอกเลิกการเช่าให้จำเลยที่ ๓ ทราบตามมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือบอกเลิกการเช่านาให้แก่จำเลยที่ ๓ และส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวพร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการบอกเลิกการเช่าไปยังคณะกรรมการควบคุมการเช่าประจำอำเภอแล้วก่อนสิ้นระยะเวลาการเช่านาเกินกว่า ๑ ปี และคณะกรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอมิได้ยับยั้งการบอกเลิกการเช่านาของโจทก์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๓๙ วรรคท้าย การบอกเลิกการเช่านาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับได้ แม้ในระหว่างที่สัญญาการเช่านายังไม่สิ้นสุดลงพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ จะถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งบังคับเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๒๔ แต่มาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ถือว่าการเช่านาที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นการเช่านาที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติฉบับใหม่ต่อไป และมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้บัญญัติเงื่อนไขและวิธีการที่ผู้ให้เช่านาจะต้องปฏิบัติเมื่อประสงค์จะให้การเช่านาสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นระยะเวลาการเช่านาไว้เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๙ แห่ง พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ ด้วย เมื่อไม่ปรากฎว่า คชก. ตำบลบ่อทองมีมติให้ยับยั้งการบอกเลิกการเช่านาของโจทก์ก่อนสิ้นระยะเวลาการเช่านา การบอกเลิกการเช่านาของโจทก์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับได้ต่อไป เป็นผลให้สัญญาการเช่านาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ สิ้นสุดลงเมื่อสิ้นระยะเวลาการทำนา ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เมื่อการเช่านาสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยที่ ๓ จะเข้าทำนาของโจทก์ได้อีกก็ต่อเมื่อกรณีต้องด้วยมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ กล่าวคือ จะต้องปรากฎว่าโจทก์ยังมิได้ลงมือทำประโยชน์ในที่นาภายในหนึ่งปีและจำเลยที่ ๓ แสดงความจำนงจะเช่านา ซึ่งโจทก์จะต้องให้จำเลยที่ ๓ เช่านา เว้นแต่โจทก์จะได้ร้องขอต่อ คชก. ตำบลก่อนสิ้นกำหนดหนึ่งปีเพื่อขอขยายเวลาการเข้าทำประโยชน์ในที่นานั้น แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ ร้องขอต่อ คชก. ตำบลบ่อทอง ขอเช่าทำนาของโจทก์ต่อไป เมื่อเริ่มฤดูทำนาปี พ.ศ. ๒๕๒๖ อันเป็นเวลาหลังจากสัญญาการเช่านาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ สิ้นสุดลงแล้ว ไม่ถึงหนึ่งปีและไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้ลงมือทำประโยชน์แล้วหรือไม่ ซึ่งตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ หากมีบทบัญญัติใดให้อำนาจ คชก. ตำบลที่จะวินิจฉัยคำร้องของผู้เช่านาในกรณ๊เช่นนี้ไม่ คชก. ตำบลบ่อทอง จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำร้องของจำเลยที่ ๓ และไม่มีอำนาจที่จะยับยั้งการบอกเลิกการเช่านาของโจทก์ซึ่งการเช่านาได้สิ้นสุดลงไปแล้ว จำเลยที่ ๓ จึงไม่อาจจอ้างคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลบ่อทอง เพื่อเข้าทำนาในที่นาพิพาทต่อไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฏีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยที่ ๓ เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ต่อไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์