โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 72497 เนื้อที่ 1 งาน 49 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 26 และชดใช้ค่าเสียหาย 518,750 บาท ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบที่ดินพร้อมบ้านตามฟ้องให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยโอนใส่ชื่อโจทก์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 72497 เลขที่ดิน 65 เนื้อที่ 58.165 ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล และได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า นายเลียบ มีบุตร 3 คน คือ นายแสวง นางสาวหวาน และนางแพว โจทก์และนายจรัล เป็นบุตรของนางแพว ส่วนจำเลยและพี่น้องรวม 5 คน เป็นบุตรของนายแสวง นายเลียบเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 5 หมู่ที่ 1 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน โดยปลูกบ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 1 อยู่บนที่ดินดังกล่าว ต่อมาปี 2502 นายเลียบถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนายแสวงถึงแก่ความตายวันที่ 10 พฤศจิกายน 2536 นางสาวหวานถึงแก่ความตายวันที่ 27 กันยายน 2538 และนางแพวถึงแก่ความตายวันที่ 15 กรกฎาคม 2543 ต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 จำเลยนำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ซึ่งมีชื่อนายเลียบเป็นผู้แจ้งการครอบครองไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 กรมที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ 72497 เนื้อที่ 3 งาน 49 ตารางวา ระบุชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 จำเลยให้นายไกรสร ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 200 ตารางวา จำเลยจึงถือกรรมสิทธิ์เนื้อที่ 1 งาน 49 ตารางวา นางสาวหวานไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 1 ถูกรื้อถอนไปแล้ว
กรณีเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาเรื่องการที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาฉบับลงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต แต่ให้รับไว้เป็นคำแถลงการณ์ นั้น กรณีเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะสั่งคำร้องดังกล่าว ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาต รับหรือไม่รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นมีสั่งคำร้องดังกล่าวจึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว และเมื่อคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยยื่นมาเมื่อพ้นระยะเวลาที่จำเลยจะยื่นฎีกาได้แล้ว จึงไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีเพียงแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 5 ผู้เป็นเจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครอง หลังจากนายเลียบและนางสาวหวานถึงแก่ความตาย จำเลยครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดทั้งแปลงและยึดถือเพื่อตน โจทก์และทายาทอื่นมิได้ครอบครอง จำเลยมีสิทธิครอบครอง และนำที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 5 ดังกล่าวไปออกโฉนดที่ดินเลขที่ 72497 แล้ว ที่ดินพิพาทจึงมิใช่มรดก นั้น เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีเพียงแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ผู้เป็นเจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครองก็ตาม แต่หากผู้มีสิทธิครอบครองถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 72497 เป็นที่ดินที่นายเลียบเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 5 หมู่ที่ 1 พร้อมบ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 1 เมื่อปี 2502 นายเลียบถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท คือ นายแสวงบิดาจำเลย นางสาวหวาน และนางแพวมารดาโจทก์ ซึ่งจำเลยก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่า หลังจากนายเลียบถึงแก่ความตาย ทายาทของนายเลียบคือนางสาวหวานและนางแพวมารดาโจทก์อยู่ในบ้านซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินดังกล่าวโดยมีโจทก์และจำเลยอยู่ด้วย ส่วนนายแสวงบิดาจำเลยพักอาศัยอยู่ที่อื่น หลังจากนางสาวหวานถึงแก่ความตายเมื่อปี 2538 นางแพวยังคงอาศัยอยู่ต่อมาและถึงแก่ความตายเมื่อปี 2543 ดังนี้ การที่นางสาวหวานและนางแพวมารดาโจทก์อยู่ในที่ดินดังกล่าวต่อมาจึงเป็นการครอบครองในฐานะทายาทและแทนทายาทอื่น ต่อมานางสาวหวานถึงแก่ความตาย นางแพวยังคงอาศัยอยู่ต่อมาก็เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ส่วนที่นายแสวงบิดาจำเลยถึงแก่ความตายเมื่อปี 2536 ที่ดินมรดกส่วนของนายแสวงตกทอดแก่ทายาทของนายแสวงรวมทั้งจำเลยด้วย การที่จำเลยอยู่ในบ้านและที่ดินดังกล่าวหลังจากนั้นร่วมกับนางสาวหวานและนางแพวมารดาโจทก์ก็เป็นการร่วมกันครอบครองแทนทายาทอื่นเช่นกัน และที่จำเลยฎีกาว่าหลังจากนางสาวหวานและนางแพวมารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์มิได้เข้ามาอยู่ในบ้านและที่ดินดังกล่าว เป็นกรณีที่จำเลยครอบครองที่ดินมรดกเป็นส่วนสัดเพื่อตนเองนั้น เห็นว่า จำเลยมิได้ให้การว่าได้มีการตกลงแบ่งปันมรดกของนายเลียบโดยให้จำเลยมีสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินดังกล่าว และตามพฤติการณ์แห่งคดีดังที่ได้วินิจฉัยมา ถือไม่ได้ว่าทายาทของนายเลียบตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันแล้วโดยให้จำเลยมีสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนสัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 จึงไม่อาจถือได้ว่าการที่จำเลยยังคงอยู่ในบ้านและที่ดินดังกล่าวเป็นการครอบครองที่ดินมรดกเพื่อตนเอง ดังนี้ที่ดินพิพาทจึงยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของนายเลียบเจ้ามรดก และกรณีต้องถือว่าการที่นางแพวมารดาโจทก์และจำเลยครอบครองบ้านและที่ดินอยู่นั้นเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น ๆ ของนายเลียบทุกคน ส่วนการที่จำเลยรื้อถอนบ้านเดิมออกไปและนำที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 5 ดังกล่าวไปออกโฉนดที่ดินเลขที่ 72497 นั้น ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะการครอบครองที่ดินมรดกเป็นครอบครองด้วยตนเอง และได้แสดงเจตนาแก่ฝ่ายโจทก์แล้ว ที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นมรดกของนายเลียบ จึงเป็นกรณีที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังมิได้มีการแบ่งปันแทนทายาทอื่น ดังนี้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของนายเลียบเพราะเข้าสืบสิทธิมรดกส่วนของนางแพวมารดาโจทก์ มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทในส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าที่ดินมรดกของนายเลียบตกทอดแก่ทายาท คือ นายแสวงบิดาจำเลย นางสาวหวาน และนางแพวมารดาโจทก์ ในส่วนของนางสาวหวานไม่ได้ความชัดว่ามีทายาทอื่นหรือไม่ จึงไม่อาจแบ่งที่ดินพิพาทส่วนของนางสาวหวานแก่โจทก์ในฐานะทายาทของนางสาวหวาน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่เพื่อแบ่งมรดกของนางสาวหวาน และพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิในทรัพย์มรดกส่วนของนางแพวมารดาโจทก์ในส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับเนื้อที่ 58.165 ตารางวา มานั้น ชอบด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเพื่อแบ่งมรดกของนางสาวหวาน เป็นคดีใหม่ และยกคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ