โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของกองประโยชน์ทดแทนที่ รส 0719/20340 ลงวันที่ 17 เมษายน 2545 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 858/2545 ให้จำเลยจ่ายค่าคลอดบุตรแก่โจทก์เป็นเงิน 4,000 บาท
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยเขตพื้นที่ 2 ที่ รส 0719/20340 ลงวันที่ 17 เมษายน 2545 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 858/2545 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2545 และให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรเป็นเงิน 4,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อแรกที่ว่า การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำเลยส่งประกาศของจำเลยเรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรไปให้ศาลแรงงานกลาง โดยไม่ปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งในระหว่างพิจารณาคดีในห้องพิจารณาต่อหน้าคู่ความ และโดยความเห็นชอบของผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีทั้งคณะ เป็นการพิจารณาคดีที่ขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 หรือไม่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 18 บัญญัติว่า "กระบวนพิจารณานอกจากการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดี ผู้พิพากษาของศาลแรงงานคนใดคนหนึ่งมีอำนาจกระทำหรือออกคำสั่งใด ๆ ได้ โดยจะให้มีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้" และการที่ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเรียกเอกสารดังกล่าวก็อาศัยอำนาจตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร" เมื่อคำสั่งเรียกพยานเอกสารเป็นกระบวนพิจารณานอกจากการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดี แม้ศาลแรงงานกลางจะได้กระทำตามที่จำเลยอุทธรณ์ ก็เป็นการชอบด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า คดีนี้โจทก์ได้ทราบคำสั่งให้มาศาลในวันเวลาในการพิจารณานัดพร้อมวันที่ 8 ตุลาคม 2545 และวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรกในวันที่ 25 ตุลาคม 2545 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่โจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุที่ไม่มา ถือได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ศาลแรงงานกลางน่าจะต้องมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น เห็นว่า วันที่ 8 ตุลาคม 2545 เป็นวันนัดพร้อมมิใช่วันสืบพยาน การที่โจทก์ไม่มาศาลในวันดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 วรรคสอง ก็ให้ถือว่าโจทก์สละสิทธิการดำเนินกระบวนพิจารณาของตนในนัดนั้น และทราบกระบวนพิจารณาที่ศาลได้ดำเนินไปในนัดนั้นด้วยแล้ว ส่วนวันที่ 25 ตุลาคม 2545 เป็นวันที่ศาลแรงงานกลางนัดสืบพยานจำเลยและนัดฟังคำพิพากษา เมื่อถึงวันนัดศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว ให้งดสืบพยานและได้อ่านคำพิพากษาให้ทนายจำเลยฟัง โดยถือว่าโจทก์ได้ฟังคำพิพากษาโดยชอบแล้ว เมื่อปรากฏว่ามิได้มีการสืบพยานจำเลยดังกล่าว ย่อมจะถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางไม่มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตรหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนและประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนให้ยื่นคำขอรับประโยชน์แทนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็มิได้บัญญัติว่าหากผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนไม่ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในเวลาดังกล่าว จะมีผลทำให้สิทธิที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนระงับสิ้นไป ดังนั้นระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายในหนึ่งปีดังกล่าวจึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนใช้สิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนโดยเร็วเท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิแต่อย่างใด ซึ่งต่างกับกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจะไม่ได้รับประโยชน์ทดแทนจะต้องเป็นไปตามมาตรา 56 วรรคสอง อันเป็นกรณีที่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน และสำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนโดยแจ้งให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนมารับประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว แต่บุคคลดังกล่าวไม่มารับภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคมประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินนั้นจึงจะตกเป็นของกองทุน สำหรับมาตรา 84 ทวิ เป็นกรณีที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติตามกำหนดเวลาตามมาตรา 56 ทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของตนที่จะต้องปฏิบัติภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแต่ตนมิได้อยู่ในประเทศไทยหรืออยู่ในประเทศไทยแต่มีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตามกำหนดเวลานั้นได้ จึงยื่นคำร้องขอขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 56 ออกไป เพื่อรักษาประโยชน์ของลูกจ้าง มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิเช่นกัน ดังนั้น แม้โจทก์จะยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมเกินหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น โจทก์ก็ยังมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.