โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์ในวงเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดผ่อนชำระให้หมดภายในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๑๒ จำเลยที่ ๒ จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างค้ำประกันเงินกู้รายนี้ เมื่อสัญญาครบกำหนดแล้วได้ต่ออายุสัญญาอีก ๗ ครั้ง ครั้งสุดท้ายกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ให้เสร็จภายในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๖ ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง เมื่อครบกำหนดตามสัญญา จำเลยที่ ๑ ไม่ชำระเงินกู้ แต่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ยังติดต่อการเงินกันและบัญชีเดินสะพัดยังมีอยู่ จำเลยที่ ๑ จึงต้องชำระดอกเบี้ยด้วยวิธีทบต้นต่อมาคิดถึงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ จำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์ ๒,๕๐๙,๓๔๙.๐๗ บาท ต่อจากนั้นโจทก์คิดดอกเบี้ยอย่างไม่ทบต้น โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ชำระจึงขอให้พิพากษาและบังคับ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๒ ค้ำประกันการกู้เงินของจำเลยที่ ๑ ในวงเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองเพราะคดีขาดอายุความ โจทก์คิดยอดเงินผิด เพราะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าที่ตกลงกันไว้ ทั้งคิดดอกเบี้ยทบต้นโดยไม่มีสิทธิอีกด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ ๒,๓๐๖,๔๘๘.๒๙ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดในต้นเงินไม่เกิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันบอกกล่าวเลิกสัญญาเช่นกัน
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ ๒ ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในต้นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นนับแต่วันทำสัญญาประกันจนถึงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๐ และแบบไม่ทบต้นต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินคือวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๖ จึงต้องถือว่าสัญญาสิ้นสุดตามวันดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีการบอกเลิกสัญญากันอีก เมื่อจำเลยไม่ได้ชำระหนี้ โจทก์ไม่ฟ้องเรียกดอกเบี้ย จนถึงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๑ เป็นเวลา ๕ ปี ย่อมขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิ์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองอีก เห็นว่า สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ ๑ ทำไว้แก่โจทก์ เป็นข้อตกลงที่จะให้มีบัญชีเดินสะพัด เมื่อมีการปฏิบัติตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันแล้ว การชำระหนี้ย่อมจะต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำได้เมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระเงินคงเหลือ ในระหว่างที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังดำเนินอยู่ต่อไป โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่หักทอนบัญชีและมีการผิดนัดแล้ว หลังจากนั้นโจทก์ก็ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นได้ วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๖ ที่จำเลยอ้างมานั้น เป็นกำหนดเวลาใช้คืนเงินกู้ที่เบิกโดยบัญชีเดินสะพัดกล่าวคือ เป็นกำหนดเวลาชำระหนี้ที่เบิกเงินไป หาใช่อายุของสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่จะสิ้นสุดลงโดยเป็นเงื่อนเวลาสุดสิ้นไม่ ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๖ จำเลยก็ยังนำเงินส่งเข้าบัญชีเพื่อหักทอนบัญชีให้จำนวนหนี้ลดลง ปรากฏตามเอกสารหมายจ.๒๐ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ หาขาดอายุความไม่
ที่จำเลยฎีกาว่า บัญชีกระแสรายวันหยุดเดินสะพัดมาตั้งแต่วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๑๖ แล้ว หลังจากนั้นแม้จำเลยที่ ๑ จะนำเงินเข้าบัญชีก็เป็นการชำระหนี้แต่จำเลยไม่เคยเบิกเงินจากบัญชีอีก การเดินสะพัดจะต้องนำเงินเข้าและเบิกเงินออกด้วยเห็นว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีการเบิกเงินเกินบัญชีและมีการขยายเวลาเบิกเงินออกไป ข้อตกลงยึดอายุสัญญาไม่มีข้อความว่าให้สัญญาสิ้นสุดลงในวันใด เมื่อยังไม่ได้มีการบอกเลิกสัญญา ถือว่ามีการต่ออายุออกไปโดยปริยาย และโจทก์ยังมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๗๖/๒๕๒๒ ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยทั้งสองมิได้เป็นเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อโจทก์เรียกร้องให้ชำระหนี้จำเลยก็ตอบว่าพร้อมที่จะชำระแต่ต้องคิดดอกเบี้ยให้ถูกต้องนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์มานานหลายปี จำนวนหนี้และดอกเบี้ยก็สูงขึ้นเป็นลำดับ มิได้ผ่อนชำระให้ลดน้อยลง แสดงว่าจำเลยทั้งสองยังไม่พร้อมที่จะชำระหนี้รายนี้ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับเอกสารหมาย ล.๓ ซึ่งเป็นจดหมายของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มีถึงโจทก์ขอชำระหนี้และขอลดเงินค่าดอกเบี้ยซึ่งทำให้เห็นถึงฐานะของจำเลยที่ ๑ ว่าไม่อยู่ในสภาพที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ โดยจำเลยที่ ๑ แจ้งว่า กิจการของจำเลยที่ ๑ ต้องเลิกโดยฉับพลัน พนักงานต้องว่างงานลงทันที การเงินจึงสะดุดหยุดลง จำเลยที่ ๑ ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้เพราะมีหนี้สินมาก กรรมการผู้จัดการก็ถูกฟ้องล้มละลาย สถานการณ์การเงินไม่กระเตื้องขึ้นอาจต้องเลิกกิจการ หากโจทก์ยอมลดหย่อนหนี้ให้ก็จะไปกู้ยืมเงินจากพี่น้องมาชดใช้ ซึ่งเท่ากับจำเลยทั้งสองไม่มีเงินพร้อมที่จะชำระหนี้เมื่อโจทก์ทวงถามให้ชำระหนี้รายนี้ จำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ ๒ ควรรับผิดต้นเงินและดอกเบี้ยในวงเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น ไม่ควรรับผิดมากเท่ากับจำเลยที่ ๑ เห็นว่า สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๕ ที่จำเลยที่ ๒ ทำกับโจทก์ในข้อ ๑ ระบุไว้ว่า จำเลยที่ ๒ ยอมรับผิดชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวรวมทั้งดอกเบี้ยตลอดจนค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งหมดอย่างลูกหนี้ร่วมกันกับผู้กู้ จนกว่าผู้ให้กู้จะได้รับชำระหนี้ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดแห่งสัญญากู้ดังกล่าวโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นจำเลยที่ ๒ จึงต้องรับผิดค่าดอกเบี้ยในต้นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาทด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน