โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 350 และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1799/2559 ของศาลแขวงพิษณุโลก
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350, 83 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 6 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน ทั้งเป็นหญิงมีอายุมากถึง 62 ปี เห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1799/2559 ของศาลแขวงพิษณุโลก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของนายเชาว์เนตร มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นางสาวปุณญิศา และจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2541 จำเลยที่ 2 กับนายเชาว์เนตรร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการรับจ้างผลิตเหล็ก รีด หล่อและหลอมเหล็ก สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 286 หมู่ที่ 6 ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ มีจำเลยที่ 2 กับนายเชาว์เนตรเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน วันที่ 10 มกราคม 2549 และวันที่ 8 ธันวาคม 2549 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องจักรที่ใช้ในการประกอบกิจการต่อนายทะเบียนเครื่องจักรกลางระบุสถานที่ตั้งเครื่องจักรอยู่เลขที่ 286 ซึ่งเป็นสำนักงานแห่งใหญ่ และเลขที่ 286/1 ซึ่งเป็นสำนักงานสาขา เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการให้ร่วมกันชำระเงิน 18,431,305 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 จำเลยที่ 4 เข้าเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แทนนางสาวปุณญิศาที่ลาออก และเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จากนั้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ไปอยู่เลขที่ 682 ซอยพระรามที่ 2 ซอย 38 แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร และในวันที่ 5 กันยายน 2559 จำเลยที่ 4 จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 3 โดยมีวัตถุที่ประสงค์เพื่อประกอบกิจการรับจ้างผลิตเหล็ก รีด หล่อและหลอมเหล็ก สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 286 หมู่ที่ 6 ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ มีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ครั้นวันที่ 16 ธันวาคม 2559 นายพีรชัย ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดเครื่องจักรที่เลขที่ 286 หมู่ที่ 6 ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยยืนยันว่าเครื่องจักรในที่นั้นเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ดำเนินการยึดให้เพราะเครื่องจักรไม่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของจำเลยที่ 1 ประกอบกับสถานที่ดังกล่าวมีการติดป้ายชื่อของจำเลยที่ 3
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ตามฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว แม้โจทก์มีนายพีรชัย ผู้แทนโจทก์เป็นพยานเพียงปากเดียว แต่พยานโจทก์ปากดังกล่าวเป็นผู้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดในคดีแพ่ง รวมทั้งติดตามสืบหาทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลังจากศาลมีคำพิพากษา และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดเครื่องจักรเพื่อบังคับชำระหนี้ จนกระทั่งมาฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้รับผิดทางอาญาเป็นคดีนี้ โดยไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสี่ จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยทั้งสี่ ประกอบกับคำเบิกความของพยานโจทก์สอดคล้องกับคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ได้เข้าไปเกี่ยวข้องก่อนและหลังจากศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยที่ 1 ไปอยู่ที่ใหม่ แล้วจำเลยที่ 4 จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 3 ขึ้นมาโดยใช้สำนักงานแห่งใหญ่เดิมของจำเลยที่ 1 เป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 3 มีวัตถุที่ประสงค์เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 คือประกอบกิจการรับจ้างผลิตเหล็ก รีด หล่อและหลอมเหล็ก นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านรับว่า จำเลยที่ 3 เข้ามาอยู่ที่เลขที่ 286 ก็ได้ใช้เครื่องจักรที่ตั้งอยู่ ณ ที่ดังกล่าวด้วย ดังนี้ เมื่อปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายที่พยานโจทก์ถ่ายไว้ในขณะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดเครื่องจักรที่เลขที่ 286 ว่า ป้ายทะเบียนเครื่องจักรมีร่องรอยถูกขูดลบออก โดยจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ครอบครองดูแลสถานที่เก็บรักษาเครื่องจักรตามที่ได้จดทะเบียนไว้ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้เครื่องจักรในการประกอบกิจการ รวมทั้งมีการนำป้ายชื่อของจำเลยที่ 3 มาติดอยู่หน้าเลขที่ 286 การกระทำของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวมานี้ นอกจากจะเป็นทางทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจผิดแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการร่วมกันซ่อนเร้นเครื่องจักรของจำเลยที่ 1 ไว้เพื่อมิให้โจทก์ติดตามยึดเครื่องจักรนั้นมาชำระหนี้ได้ แม้โจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนขายกิจการและเครื่องจักรไปให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จริงหรือไม่ ตั้งแต่เมื่อไร แต่พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ตามทางนำสืบของโจทก์ก็รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยแล้วว่า จำเลยทั้งสี่มีเจตนาเพื่อไม่ให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเป็นความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 350 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ส่วนโทษให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น