โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268, 335, 353, 91 และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงิน 193,155 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก, 335 (11) วรรคแรก, 353 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างและผู้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 19 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอม จึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง (ที่ถูก ตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ตามมาตรา 268 วรรคสอง) ให้จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี กับให้จำเลยคืนเงิน 193,155 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างและยักยอก และให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 193,155 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า คำฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.19 เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏเพื่อให้ศาลวินิจฉัยลงโทษตามที่ศาลจะฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์ มิใช่เป็นการบรรยายฟ้องอันเป็นการขัดแย้งกันอยู่ในตัว ทั้งจำเลยมีเจตนากระทำความผิดอย่างไรเป็นเรื่องในใจของจำเลยซึ่งจำเลยควรเข้าใจข้อหาได้ดีว่าโจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดอย่างใด คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและความผิดดังกล่าวกฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานหนักกว่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.19 แต่การที่จำเลยมีหน้าที่รวบรวมเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าของผู้เสียหายจากสถานีบริการน้ำมันเพื่อจัดส่งให้แก่ผู้เสียหายนั้น ถือว่าผู้เสียหายได้มอบเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าดังกล่าวให้อยู่ในความครอบครองของจำเลยเพราะจำเลยจะต้องถือและรักษาเงินจำนวนนั้นจนกระทั่งนำไปให้ผู้เสียหาย การที่จำเลยเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปในระหว่างที่ยังไม่ได้จัดส่งให้แก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 มิใช่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ด้วยดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในความผิดฐานนี้ว่าสมควรลงโทษปรับจำเลยสถานเดียวหรือไม่ เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยอีก เห็นว่า จำเลยยักยอกเงินของผู้เสียหายไปหลายครั้งเป็นจำนวนสูงถึง 193,155 บาท โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยมีหน้าที่จัดการทรัพย์สินของผู้เสียหายและได้รับความไว้วางใจจากผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้าง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลงโทษปรับจำเลยเพียงสถานเดียว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 จำคุกกระทงละ 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน รวม 19 กระทง จำคุก 57 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมแล้ว เป็นจำคุก 63 เดือน ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงิน 193,155 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5