โจทก์ฟ้องขอบังคับให้ยกเลิกหรือเพิกถอนภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 31001 หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าวให้เหลือขนาดความกว้างไม่เกิน 1.50 เมตร หากจำเลยทั้งสิบเอ็ดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,257,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระเงินค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดจะหยุดการกระทำละเมิดต่อโจทก์และจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนการใช้ทางภาระจำยอม
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 31001 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 799 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 30640 จำเลยที่ 3 เป็นทายาทของนางสมศรี และเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 30641 จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 30642 จำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3572 จำเลยที่ 7 และที่ 8 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 11692 จำเลยที่ 9 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 30824 และ 30825 จำเลยที่ 10 และที่ 11 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 12956 จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 นางสำราญ และนางสาวรัตนา กับพวกเคยยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้น เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 879/2547 คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 31001 จากแนวเขตที่ดินทางด้านทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกกว้าง 4 เมตร ยาวตลอดแนวจากแนวเขตที่ดินทางด้านทิศเหนือไปจดแนวเขตที่ดินทางด้านทิศใต้เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 799, 30639 ถึง 30642, 3572, 11692, 30579, 30824, 30825, 12962 และ 12956 ให้จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่ปิดกั้นทางภาระจำยอมทั้งหมดออก และให้จดทะเบียนที่ดินเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โจทก์ยื่นคำร้องวันที่ 4 มกราคม 2556 ขอให้ย้ายทางภาระจำยอมโดยอ้างว่าหากต้องดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ปิดกั้นทางภาระจำยอมกว้าง 4 เมตร ตามคำพิพากษาศาลฎีกาต้องรื้อถอนเสาหลักของอาคาร 3 ชั้น ซึ่งเป็นโครงสร้างของบ้านโจทก์ จะเป็นผลให้บ้านทั้งหลังพังทลายลงมา ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ให้ยกคำร้อง โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 จึงร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดี โดยในวันที่ 7 ตุลาคม 2557 เจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศกำหนดวันทำการรื้อถอนในวันที่ 29 ตุลาคม 2557 โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 27 ตุลาคม 2557 ขอให้ระงับการรื้อถอน อ้างว่ากำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านโจทก์ หากทำการรื้อถอนจะทำให้โครงสร้างบ้านเป็นอันตรายและเสียหาย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือหารือการบังคับคดีว่าศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่ปิดทางภาระจำยอมออก แต่ปัจจุบันกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกดังกล่าวกลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านโจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการรื้อถอนได้หรือไม่ ศาลชั้นต้นนัดพร้อมคู่ความเพื่อสอบข้อเท็จจริงในวันที่ 28 มกราคม 2558 แล้วมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำทางภาระจำยอมต่อไป โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำทางภาระจำยอมในวันที่ 30 มกราคม 2560 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 และวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ได้บางส่วน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อ 2.1 และ 2.2 ซึ่งเห็นควรวินิจฉัยไปในคราวเดียวกันว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ การรื้อถอนหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นการบังคับคดีเกินกว่าคำพิพากษาและเป็นเหตุให้โครงสร้างบ้านโจทก์เป็นอันตรายหรือไม่ โจทก์ทราบประกาศวันนัดรื้อถอนของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ และมีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้ทางภาระจำยอมมีความกว้างเกินกว่า 4 เมตร ซึ่งเกินกว่าคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดจากกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยกล่าวอ้างว่าในระหว่างการบังคับคดีในคดีก่อน จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ร้องขอและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการรื้อถอนหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กและเสาปูนซึ่งเกินเลยไปจากคำพิพากษา จนเป็นเหตุให้บ้านโจทก์เกิดอันตราย โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบวันเข้าทำการรื้อถอนล่วงหน้า รวมทั้งทำการเปิดทางภาระจำยอมมีความกว้างเกินกว่าคำพิพากษา อันเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเป็นละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ โจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีอันเนื่องมาจากการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295 วรรคสอง ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง ก็ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ความรับผิดเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นย่อมตกแก่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ร้องขอให้ทำการรื้อถอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นคดีนี้ได้ แต่การกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายในกรณีนี้จะต้องเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกบังคับคดี เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 เบญจ วรรคหนึ่ง (เดิม) บัญญัติให้การบังคับคดีในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจะต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่านั้น การที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ร้องขอและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีรื้อถอนกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่ปิดกั้นทางภาระจำยอมทั้งหมดออกตามคำพิพากษาในคดีก่อนจึงเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แม้ในคดีก่อนศาลพิพากษาให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่ปิดทางภาระจำยอมออก มิได้ระบุให้รื้อถอนหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กและเสาปูนด้วย แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนทำการรื้อถอนเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงต่อศาลชั้นต้นว่าขณะเข้าทำการรื้อถอนพบว่ากำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่จะต้องรื้อถอนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านโจทก์ และขอหารือการบังคับคดีว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการรื้อถอนต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอม ให้โจทก์รื้อถอนกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่ปิดทางภาระจำยอมทั้งหมดออก ย่อมมีความหมายว่าโจทก์ในฐานะเจ้าของภารยทรัพย์ไม่สามารถกระทำการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงสามารถรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เชื่อมต่อกับกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่โจทก์ทำการก่อสร้างขึ้นใหม่ในระหว่างการพิจารณาได้ และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำทางภาระจำยอมต่อไป โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยให้เหตุผลว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กที่เชื่อมต่อกับกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกออกไปได้ ไม่เป็นการกลับหรือแก้ไขคำพิพากษา หรือเป็นการบังคับคดีเกินไปกว่าคำพิพากษา คดีถึงที่สุด การรื้อถอนหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กและเสาปูนของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่เป็นการบังคับคดีที่เกินไปกว่าคำพิพากษาอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด และเมื่อโจทก์คดีนี้เป็นคนเดียวกับจำเลยในคดีก่อน และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ในคดีนี้ เป็นคนเดียวกับโจทก์ที่ 3 ถึงที่ 6 โจทก์ที่ 9 โจทก์ที่ 11 และโจทก์ที่ 12 ในคดีก่อน ทั้งหมดจึงเป็นคู่ความเดียวกัน คำพิพากษาศาลฎีกา คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้วดังกล่าว จึงย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ต้องถือว่าการที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ร้องขอและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการรื้อถอนหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กที่เชื่อมต่อกับกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกไม่เป็นการบังคับคดีที่เกินเลยไปกว่าคำพิพากษาอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์ในการรื้อถอนจนเป็นเหตุให้บ้านของโจทก์เป็นอันตรายได้รับความเสียหายนั้น กลับได้ความจากรายงานผลการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ในวันที่ 30 มกราคม 2560 และ 3 กุมภาพันธ์ 2560 จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการรื้อถอน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้สั่งหยุดการรื้อถอนเนื่องจากเห็นว่าอุปกรณ์ที่ใช้ทำการรื้อถอนไม่เหมาะสมกับสภาพของทรัพย์ และยังไม่มีวิศวกรควบคุมการรื้อถอน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวบ้านเกินสมควร แต่การรื้อถอนในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าอุปกรณ์ที่ใช้ทำการรื้อถอนมีความเหมาะสมกับสภาพทรัพย์และมีวิศวกรมาคอยควบคุมการรื้อถอนด้วย จึงอนุญาตให้ทำการรื้อถอน โดยในการรื้อถอนมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินอื่นใด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์ในการรื้อถอนแล้ว และหากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์ในการรื้อถอนจนเป็นเหตุให้บ้านของโจทก์เป็นอันตรายได้รับความเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์คงทำการโต้แย้งคัดค้านในขณะที่ทำการรื้อถอนแล้ว เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านในขณะที่ทำการรื้อถอน เพิ่งจะมากล่าวอ้างในคดีนี้หลังจากการรื้อถอนผ่านไปเป็นเวลากว่าสามปี จึงยังฟังไม่ได้แน่ชัดว่าความเสียหายที่เกิดกับตัวบ้านที่โจทก์นำสืบมาเกิดจากการรื้อถอนของเจ้าพนักงานบังคับคดี ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์ในการรื้อถอน เป็นเหตุให้โครงสร้างบ้านของโจทก์ได้รับความเสียหายจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง และที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 นำเจ้าพนักงานบังคับเข้าทำการรื้อถอนโดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้านั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 เบญจ วรรคสอง (เดิม) กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดการรื้อถอนไว้ ณ บริเวณที่จะทำการรื้อถอนไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก็เพื่อให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะเริ่มทำการรื้อถอนในวันใดเท่านั้น หาใช่ว่าจะต้องทำการปิดประกาศให้ทราบล่วงหน้าทุกครั้งที่จะเข้าทำการรื้อถอนไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าในวันที่ 7 ตุลาคม 2557 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะเริ่มทำการรื้อถอนในวันที่ 29 ตุลาคม 2557 และหรือในวันต่อ ๆ ไปจนกว่าจะทำการแล้วเสร็จ แล้วโจทก์ไปยื่นคำร้องลงวันที่ 27 ตุลาคม 2557 ต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งระงับการรื้อถอนโดยฉุกเฉิน แต่ศาลยกคำร้อง ถือได้ว่าโจทก์ทราบกำหนดวันนัดเริ่มรื้อถอนของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยชอบแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมสามารถทำการรื้อถอนในวันดังกล่าวและวันต่อมาได้โดยไม่จำต้องปิดประกาศแจ้งกำหนดนัดรื้อถอนให้โจทก์ทราบใหม่ทุกครั้ง ส่วนที่โจทก์อ้างว่ามีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้ทางภาระจำยอมมีความกว้างเกินกว่า 4 เมตร ซึ่งเกินกว่าคำพิพากษาศาลฎีกานั้น โจทก์เพียงกล่าวอ้างไว้ลอย ๆ โดยมิได้นำสืบพยานหลักฐานใดให้เห็นจริงตามที่กล่าวอ้าง ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากทางภาระจำยอมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ร้องขอและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากทางภาระจำยอมจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย มิได้กระทำโดยจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นละเมิด จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ข้อ 2.1 และ 2.2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ