คดีสองสำนวนนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ อ.1505/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1507/2558 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 1505/2558 ว่า จำเลยที่ 5 เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 สำนวนคดีหมายเลขแดงที่ อ.1507/2558 ว่า จำเลยที่ 6 และที่ 7 ตามลำดับ ส่วนคดีสองสำนวนนี้ให้เรียกจำเลยในสำนวนที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในสำนวนที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8 ตามลำดับ แต่คดีหมายเลขแดงที่ 1505/2558 และคดีหมายเลขแดงที่ 1507/2558 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องทั้งสี่สำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 149, 151 และ 157 นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอื่น
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 ประกอบมาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 8 ปี การกระทำของจำเลยที่ 8 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7
โจทก์ จำเลยที่ 4 และที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 4 คนละ 5 ปี จำคุกจำเลยที่ 8 มีกำหนด 7 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 8 ฎีกา จำเลยที่ 4 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ราคาที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่กรุงเทพมหานครจัดซื้อไม่ได้มีราคาแพงกว่าราคาท้องตลาด ที่ดินที่จัดซื้อไม่ใช่ที่ดินที่ไม่มีทางเข้าออก วิธีการจัดซื้อและการยืมเงินสะสมกรุงเทพมหานครมาชำระค่าที่ดินปฏิบัติถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร แล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 8 มีความผิดตามประมลลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 ประกอบมาตรา 83 ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157 โดยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งเรื่องการจัดซื้อที่ดินพิพาทว่าไม่ชอบตามฟ้อง และไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ปัญหาเรื่องการจัดซื้อที่ดินพิพาทของกรุงเทพมหานคร และคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 8 ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 และที่ 8 หรือไม่ เห็นว่า ในขณะที่พันตำรวจโทกิตติธร ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 8 กับพวกฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2542 ซึ่งในขณะนั้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 การร้องทุกข์กล่าวโทษดังกล่าวจึงไม่อยู่ในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 43 ประกอบมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และไม่มีมาตราใดของบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้พนักงานสอบสวนซึ่งรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไว้ก่อนนั้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนดังกล่าวมีนายมณฑล ยื่นคำกล่าวหาเป็นหนังสือกล่าวหาจำเลยที่ 1 กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับแล้ว ดังนี้ การที่พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้พนักงานอัยการ และพนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนคืนพนักงานสอบสวนเพื่อให้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นการปฏิบัติตามระเบียบการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 60 เมื่อพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับสำนวนการสอบสวนกับการไต่สวนข้อเท็จจริงตามที่นายมณฑลได้ยื่นคำกล่าวหาไว้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 ซึ่งในขณะที่นายมณฑลยื่นคำกล่าวหานั้นจำเลยที่ 4 ยังดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 19, 43, 84 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ส่วนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนที่ทำการสอบสวนจำเลยที่ 8 ในคดีนี้แล้วต่อมาได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่มีผลทำให้การสอบสวนและการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 8 ฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 8 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 8 ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 8 กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ และจำเลยที่ 1 กับที่ 8 กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 8 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางซื่อ ได้รับมอบหมายหน้าที่จากกรุงเทพมหานคร ให้จัดหาที่ดินเพื่อใช้เป็นที่จอดรถของกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้เสนอให้จัดซื้อที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 91 บัญญัติให้เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อพิจารณาประกอบกับการที่จำเลยที่ 4 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดซื้อ เช่า ที่ดินและอาคารเพื่อประโยชน์ของราชการกรุงเทพมหานคร (กซช.) และคณะกรรมการตรวจสอบที่ดินหรืออาคารซึ่งกรุงเทพมหานครจัดซื้อหรือเช่าเพื่อประโยชน์ของราชการกรุงเทพมหานคร (ตซช.) มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดซื้อที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 8 มาโดยตลอด จนกระทั่งคณะกรรมการ กซช. มีมติเห็นชอบให้จัดซื้อที่ดินพิพาทตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ตซช. จำเลยที่ 4 ในฐานะเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครย่อมต้องมีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดินพิพาทดังกล่าวให้รอบคอบก่อนนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป นอกจากนี้ จำเลยที่ 4 ยังเป็นคณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานครที่ได้เข้าร่วมประชุมแล้วมีมติให้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินพิพาทโดยวิธีการพิเศษ และต่อมาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้อนุมัติแต่งตั้งจำเลยที่ 8 เป็นคณะกรรมการจัดซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นสถานที่จอดรถสำหรับเขตชั้นใน โดยวิธีพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้มีการเรียกนายสุพจน์ผู้เสนอขายที่ดินพิพาทมาต่อรองราคาลงอีกด้วย จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 8 เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อที่ดินพิพาทรายนี้ และข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้านเป็นประการอื่นว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2540 นายสุพจน์ได้รับเช็คค่าที่ดินพิพาทจากกรุงเทพมหานคร แล้วนายสุพจน์ซื้อแคชเชียร์เช็คจำนวนเงิน 10,000,000 บาท สั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 8 และในวันที่ 17 กันยายน 2540 นายสุพจน์ซื้อแคชเชียร์เช็ค 2 ฉบับ จำนวนเงินรวม 8,250,000 บาท สั่งจ่ายให้แก่นายชูศักดิ์ ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2540 นายชูศักดิ์นำแคชเชียร์เช็คทั้งสองฉบับดังกล่าวไปเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในนามของตนเองที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขานนทบุรี จากนั้นถอนเงินจำนวน 8,000,000 บาท แล้วซื้อแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 8 วันที่ 25 กันยายน 2540 จำเลยที่ 8 นำแคชเชียร์เช็คที่ได้รับจากนายชูศักดิ์ไปเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในนามของตนเองที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขานนทบุรี แล้วถอนเงิน 3,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2540 จำเลยที่ 8 นำแคชเชียร์เช็คที่รับจากนายสุพจน์จำนวน 10,000,000 บาท ฝากเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าว และในวันเดียวกันจำเลยที่ 8 ถอนเงิน 2 ครั้ง ครั้งละ 5,000,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 10,000,000 บาท ครั้นวันที่ 30 กันยายน 2540 จำเลยที่ 8 ถอนเงินจำนวน 3,000,000 บาท แล้วซื้อแคชเชียร์เช็ค 4 ฉบับ จำนวนเงิน 1,000,000 บาท 2 ฉบับ และจำนวนเงิน 500,000 บาท อีก 2 ฉบับ โดยสั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 4 ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2540 จำเลยที่ 8 เปลี่ยนผู้รับเงินตามแคชเชียร์เช็คทั้งสี่ฉบับดังกล่าวจากจำเลยที่ 4 เป็นนายวศิน และในวันเดียวกันนายวศินนำแคชเชียร์เช็คทั้งสี่ฉบับไปฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของตนเองที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบางกระบือ และในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 มีเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยที่ 4 ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขานนทบุรี จำนวน 1,000,000 บาท และในวันเดียวกันนั้นมีเงินฝากเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) สาขาสาทร จำนวน 5,000,000 บาท และที่ธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) สาขาชิดลม จำนวน 5,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 8 ฎีกาเรื่องการได้รับเงินจำนวน 18,000,000 บาท จากนายสุพจน์และนายชูศักดิ์ว่า นายชูศักดิ์นำเงินจำนวน 18,000,000 บาท ดังกล่าวมามอบให้จำเลยที่ 8 เพื่อเป็นค่ามัดจำที่ดิน แต่ภายหลังมาทราบว่าที่ดินที่จะซื้อไม่มีทางเข้าออก นายชูศักดิ์ไม่ประสงค์จะซื้อจึงขอเงินมัดจำคืน ซึ่งจำเลยที่ 8 ได้ทยอยคืนให้นายชูศักดิ์ไปจนครบถ้วนแล้วนั้น เห็นว่า ในชั้นสืบพยานจำเลยที่ 8 ไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบยืนยันให้รับฟังได้ตามที่กล่าวอ้าง ประกอบกับเงินมัดจำที่รับไว้มีจำนวนสูงถึง 18,000,000 บาท หากมีการทยอยคืนจริงย่อมต้องมีพยานหลักฐานมาสนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่ 8 ลำพังเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 8 จึงเป็นการกล่าวอ้างอย่างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 8 ร่วมกับพวกเรียกรับเงินจากนายสุพจน์เป็นการตอบแทนที่จำเลยที่ 8 กับพวกช่วยกันดำเนินการในหน้าที่ของตนจนเป็นผลให้กรุงเทพมหานครจัดซื้อที่ดินพิพาทจากนายสุพจน์ จำเลยที่ 8 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และที่จำเลยที่ 8 ฎีกาว่า จำเลยที่ 8 ไม่มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริงและช่วยเหลือให้ผู้ขายไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะจำเลยที่ 8 เชื่อโดยสุจริตว่าเมื่อมีการยกสิ่งปลูกสร้างให้กรุงเทพมหานครแล้วจึงไม่ต้องแจ้งนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 8 ทราบมาโดยตลอดว่าที่ดินพิพาทมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ด้วย แม้ผู้ขายจะยกสิ่งปลูกสร้างให้กรุงเทพมหานคร แต่จำเลยที่ 8 ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากกรุงเทพมหานครให้ไปดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินย่อมต้องมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินไปตามความเป็นจริงว่าที่ดินที่รับโอนมีสิ่งปลูกสร้าง การที่จำเลยที่ 8 แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าไม่มีสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 8 มีเจตนาปกปิดข้อความจริงเพื่อช่วยเหลือให้ผู้ขายไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในส่วนของสิ่งปลูกสร้าง การกระทำของจำเลยที่ 8 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อีกบทหนึ่ง
ในส่วนของจำเลยที่ 4 ที่ฎีกาเรื่องเงินจำนวน 3,000,000 บาท ตามแคชเชียร์เช็ค 4 ฉบับ ที่จำเลยที่ 8 สั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 4 แล้วเปลี่ยนเป็นสั่งจ่ายให้แก่นายวศิน เห็นว่า แม้ในขณะเกิดเหตุนางอุไรวรรณ พยานโจทก์ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายการคลัง สำนักงานเขตบางซื่อเป็นลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 8 โดยตรง แต่นางอุไรวรรณก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 4 ถามค้านว่า ไม่รู้จักหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานกับจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 4 ในฐานะเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่อาจให้คุณให้โทษ ส่วนนายวศินพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเป็นนักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ร่วมรุ่นกับจำเลยที่ 4 และนายชูศิลป์ แม้นายวศินกับนายชูศิลป์จะเป็นพยานคู่รู้เห็นเหตุการณ์ในคราวเดียวกัน แต่ก็ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติบังคับให้โจทก์ต้องนำพยานคู่มาเบิกความในคราวเดียวกันอันเป็นข้อห้ามไม่ให้รับฟังเป็นข้อพิจารณาของศาลแต่ประการใด ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ได้อ้างและนำนายชูศิลป์มาเบิกความเป็นพยาน ศาลย่อมนำคำเบิกความของนายวศินในฐานะพยานโจทก์และนายชูศิลป์ในฐานะพยานจำเลยที่ 4 ไปพิเคราะห์เทียบเคียงให้เห็นเท็จและจริงได้ จำเลยที่ 4 จึงไม่ได้เสียเปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาสถานภาพของนายวศินในฐานะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางซื่อ ที่ได้เข้าร่วมประชุมสภากรุงเทพมหานคร และร่วมอภิปรายแล้วลงมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครยืมเงินสะสมจำนวน 270,000,000 บาท ให้สำนักงานเขตบางซื่อเป็นค่าจัดซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายวศินรู้จักหรือมีความสัมพันธ์กับนายสุพจน์ผู้เสนอขายที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 8 เป็นพิเศษอื่นใด กรณีจึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่านางอุไรวรรณกับนายวศินพยานโจทก์ทั้งสองจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยที่ 4 ให้ต้องรับโทษโดยปราศจากมูลความจริง นอกจากนี้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวยังสอดคล้องเชื่อมโยงกับเอกสารตามที่ปรากฏในหมาย จ.79 คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองจึงไม่เป็นพิรุธและไม่ได้คาดเดาเหตุการณ์เอาเองตามที่จำเลยที่ 4 กล่าวอ้างมาในฎีกา พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าเงินจำนวน 3,000,000 บาท เป็นเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยที่ 4 ได้รับมาจากจำเลยที่ 8 ผ่านนายวศินและนายชูศิลป์ โดยจำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 8 เรียกรับเงินจากนายสุพจน์เป็นการตอบแทนที่จำเลยที่ 4 กับพวกช่วยกันดำเนินการในหน้าที่ของตนจนเป็นผลให้กรุงเทพมหานครจัดซื้อที่ดินพิพาทจากนายสุพจน์ จำเลยที่ 4 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 8 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ฎีกาว่า เงินจำนวน 10,000,000 บาท ที่ฝากเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 จำนวน 2 บัญชี บัญชีละ 5,000,000 บาท เป็นเงินของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นเงินที่ได้รับมาจากจำเลยที่ 8 ซึ่งได้รับมาจากนายสุพจน์อีกทอดหนึ่งนั้น เห็นว่า แม้สำเนาแบบแสดงรายการสินทรัพย์และหนี้สินของปี 2539 ที่จำเลยที่ 1 ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2539 หลังจากจำเลยที่ 1 เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2539 จะเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 จัดทำขึ้นเอง แต่ก็ปรากฏหลักฐานว่ามีผู้รับแบบแสดงรายการสินทรัพย์และหนี้สินฉบับดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2539 เวลา 15 นาฬิกา พร้อมกับลายมือชื่อของผู้รับจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการสินทรัพย์และหนี้สินของปี 2539 จริง และเมื่อจำเลยที่ 1 แสดงรายการสินทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 13,000,000 บาท ไว้ในแบบแสดงรายการสินทรัพย์และหนี้สินดังกล่าวด้วย โจทก์จึงต้องมีหน้าที่นำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าเงินจำนวน 10,000,000 บาท ที่ฝากเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ทั้งสองบัญชีเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับมาจากจำเลยที่ 8 ซึ่งได้รับมาจากนายสุพจน์อีกทอดหนึ่ง โดยจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 8 เรียกรับจากนายสุพจน์เป็นการตอบแทนที่จำเลยที่ 1 กับพวกช่วยกันดำเนินการในหน้าที่ของตนจนเป็นผลให้กรุงเทพมหานครจัดซื้อที่ดินพิพาทจากนายสุพจน์ แต่โจทก์คงมีเพียงนายสุรินทร์มาเบิกความเป็นพยานเพียงปากเดียวว่า เงินจำนวน 10,000,000 บาท ที่นำเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 น่าจะเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อที่ดินพิพาทของนายสุพจน์ ซึ่งเป็นความเชื่อหรือความรู้สึกของพยานปากนี้ โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมานำสืบเชื่อมโยงให้เห็นว่าเงินจำนวน 10,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีของตนเป็นเงินที่มาจากนายสุพจน์ กรณีจึงอาจเป็นไปตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ก็ได้ว่าเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ทั้งสองบัญชี รวมจำนวน 10,000,000 บาท เป็นเงินของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่แต่เดิม ตามที่ได้ระบุไว้ในแบบแสดงรายการสินทรัพย์และหนี้สินของปี 2539 พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาคงฟังได้เพียงว่าเส้นทางการเงินที่นายสุพจน์จ่ายให้จำเลยที่ 8 รวม 18,000,000 บาท จำเลยที่ 8 ได้ทยอยถอนเงินสดออกมาทั้งหมด ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2540 เท่านั้น หลังจากนั้นไม่ปรากฏเส้นทางเดินของเงินดังกล่าว กรณีจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 8 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 8 ข้อสุดท้ายว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 8 มานั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว และเมื่อศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 8 มีกำหนด 7 ปี กรณีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 8 ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ฎีกาของจำเลยที่ 8 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์