คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพิมพ์พ.ศ. 2484 มาตรา 45, 60
จำเลยรับในข้อเท็จจริงแต่ต่อสู้ในข้อกฎหมายว่าการเป็นเจ้าของผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ (รายคาบ) ของจำเลยยังมีอยู่ ทั้งนี้ก็เพราะว่า เหตุที่จำเลยมิได้ออกหนังสือพิมพ์ต่อเนื่องกันเป็นเวลาสี่คราวตามที่โจทก์ฟ้องนั้นเนื่องจากจำเลยถูกคุมขังอยู่ที่จังหวัดพระนคร เป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยจะออกหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่จังหวัด พิษณุโลกได้เมื่อถูกปล่อยตัวจำเลยก็ได้ออกหนังสือพิมพ์ทันทีในโอกาสแรกที่จะออกได้ จำเลยไม่มีเจตนาที่จะไม่ออกหนังสือพิมพ์ดังกล่าว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 45บัญญัติว่าหนังสือพิมพ์รายวันถ้ามิได้ออกโฆษณาต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาสามสิบวัน หรือหนังสือพิมพ์รายคาบถ้ามิได้ออกโฆษณาต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาสี่คราว หรือเกินกว่าสองปี การเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ และเจ้าของหนังสือพิมพ์นั้นเป็นอันสิ้นสุดลง ฉะนั้น ใบอนุญาตให้เป็นเจ้าของผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของจำเลยซึ่งจัดเป็นหนังสือพิมพ์รายคาบ จึงสิ้นสุดลงตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วโดยเจ้าพนักงานการพิมพ์มิต้องบอกเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวแต่ประการใดอีก ฉะนั้น เมื่อจำเลยพ้นจากการคุมขังออกมา จำเลยบังอาจออกหนังสือพิมพ์ของจำเลย จำเลยจึงต้องมีความผิด
ที่จำเลยฎีกาเป็นใจความว่า จำเลยถูกจับไปคุมขังเป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งทำให้จำเลยไม่ได้ออกหนังสือพิมพ์ ต้องถือว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะหยุดออกหนังสือพิมพ์ในระหว่างต้องคุมขังอยู่ ใบอนุญาต การเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ของจำเลยจึงไม่สิ้นสุดลง การที่จำเลยออกหนังสือพิมพ์ของจำเลยต่อไปเมื่อพ้นจากการคุมขังแล้วจึงไม่มีความผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุดังกล่าวนั้นจำเลยจะนำมาอ้างเพื่อไม่ต้องรับโทษได้ ต่อเมื่อกฎหมายกำหนดหน้าที่ให้จำเลยออกโฆษณาหนังสือพิมพ์แล้วจำเลยไม่สามารถออกโฆษณาได้เพราะเหตุดังกล่าวนั้น แต่กรณีแห่งคดีนี้เป็นเรื่องพระราชบัญญัติการพิมพ์ฯ มาตรา 45 ซึ่งบัญญัติแต่ว่า ถ้ามิได้ออกโฆษณาหนังสือพิมพ์ตามกำหนดแล้วถือว่าการเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ และเจ้าของหนังสือพิมพ์นั้นเป็นอันสิ้นสุดลงเท่านั้นและมิได้ยกเว้นเหตุสุดวิสัย หรือความจำเป็นใด ๆ ไว้ ดังนั้นใบอนุญาตของจำเลยมิใช่ว่ายังไม่สิ้นสุดดังที่จำเลยเข้าใจ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน