โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 5,614,651.47 ดอลลาร์สหรัฐ และ 8,898.39 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,459,567.76 ดอลลาร์สหรัฐ และ 8,586.11 ปอนด์สเตอร์ลิง นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของต้นเงิน 130,526.13 ดอลลาร์สหรัฐ นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,092,850.33 ดอลลาร์สหรัฐ และ 1,747.89 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,062,122.38 ดอลลาร์สหรัฐ และ 1,685.55 ปอนด์สเตอร์ลิง นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของต้นเงิน 25,638.88 ดอลลาร์สหรัฐ นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 344,510.08 ดอลลาร์สหรัฐ และ 615.71 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 387,185.39 ดอลลาร์สหรัฐ และ 615.71 ปอนด์สเตอร์ลิง นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของต้นเงิน 9,359.98 ดอลลาร์สหรัฐ นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 4 จำนวน 443,205.69 ดอลลาร์สหรัฐ และ 703.07 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 430,185.06 ดอลลาร์สหรัฐ และ 678.40 ปอนด์สเตอร์ลิง นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของต้นเงิน 10,312.99 ดอลลาร์สหรัฐ นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 5 จำนวน 37,906.15 ดอลลาร์สหรัฐ และ 56.62 ปอนด์สเตอร์ลิง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 34,495.63 ดอลลาร์สหรัฐ และ 54.63 ปอนด์สเตอร์ลิง นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวของต้นเงิน 830.55 ดอลลาร์สหรัฐ นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกกรมเจ้าท่าเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วม และยกคำร้องขอเรียกจำเลยร่วมของจำเลย
ระหว่างพิจารณา โจทก์ที่ 5 ควบรวมกิจการกับโจทก์ที่ 3 ตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น และโจทก์ทั้งห้ายื่นคำร้องขออนุญาตให้โจทก์ที่ 3 เข้าใช้สิทธิของโจทก์ที่ 5 ในการดำเนินคดี ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ในต้นเงินรวม 1,650,876.69 ดอลลาร์สหรัฐ ชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 2 ในต้นเงินรวม 337,737.40 ดอลลาร์สหรัฐ ชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 3 ในต้นเงินรวม 124,034.78 ดอลลาร์สหรัฐ ชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 4 ในต้นเงินรวม 131,982.04 ดอลลาร์สหรัฐ และชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 5 ในต้นเงินรวม 10,823.96 ดอลลาร์สหรัฐ โดยให้โจทก์ที่ 3 ได้ไปซึ่งสิทธิในบรรดาเงินทั้งหลายที่มีอยู่แก่โจทก์ที่ 5 เพราะได้ควบบริษัทเข้ากับโจทก์ที่ 3 แล้ว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน (Claims for Salvage) 1,447,480.81 ดอลลาร์สหรัฐ 297,139.77 ดอลลาร์สหรัฐ 109,178.49 ดอลลาร์สหรัฐ 115,837.50 ดอลลาร์สหรัฐ และ 9,514.43 ดอลลาร์สหรัฐของโจทก์ทั้งห้าตามลำดับแต่ละจำนวน นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 สิงหาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน (General Average Contribution) 130,526.13 ดอลลาร์สหรัฐ 25,638.88 ดอลลาร์สหรัฐ 9,359.98 ดอลลาร์สหรัฐ 10,312.99 ดอลลาร์สหรัฐ และ 830.55 ดอลลาร์สหรัฐ ของโจทก์ทั้งห้าตามลำดับแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า กับให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความแก่โจทก์ทั้งห้าเป็นเงิน 100,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยและจำเลยร่วมใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ทั้งห้าชนะคดี (ให้คำนวณค่าขึ้นศาลใช้แทนด้วยอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 31.3875 บาท ขณะยื่นฟ้อง)
โจทก์ทั้งห้า จำเลย และจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ (ที่ถูก โจทก์ทั้งห้า) คืนค่าขึ้นศาลชั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางส่วนที่เกินมาแก่โจทก์ทั้งห้า ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ไม่ได้สั่งคืนนั้นและในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 5 ควบรวมกิจการเป็นส่วนหนึ่งของโจทก์ที่ 3 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศปานามา ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นเจ้าของเรือเดินทะเล โจทก์ทั้งห้ารับประกันภัยสินค้าของผู้ขายสินค้าแผ่นเหล็กม้วนในประเทศญี่ปุ่น 6 ราย ซึ่งตกลงขายสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทยภายใต้เงื่อนไขสัญญาซื้อขายแบบ CIF โจทก์ทั้งห้าตกลงให้ความคุ้มครองความเสียหายและสูญหายของสินค้าที่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งทางทะเลตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่นจนถึงโกดังหรือโรงงานของผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าในประเทศไทยตามกรมธรรม์ประกันภัย สินค้าที่โจทก์ทั้งห้ารับประกันภัยถูกขนส่งจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยด้วยเรือ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 ขณะเรือจอดเทียบท่าเรือหมายเลข 2 ของท่าเรือ จังหวัดชลบุรี เพื่อทำการขนถ่ายสินค้า เรือของจำเลยพุ่งไปโดนเรือ ย. จนเรือ ย. จมลงใต้ทะเลพร้อมกับสินค้าแผ่นเหล็กม้วนที่บรรทุกมา สินค้าได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้งานได้ทั้งหมด ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเรียกร้องให้โจทก์ทั้งห้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดแก่สินค้า โจทก์ทั้งห้าชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย 11 ราย เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 จำเลยยื่นคำขอเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัติการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่น ต่อศาลแขวงโอกายามะ (Okayama District Court) ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 โจทก์ทั้งห้าและจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความจิดัง เคียวอุเต โช ศาลแขวงโอกายามะมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าว วันที่ 3 มีนาคม 2557 โจทก์ทั้งห้าได้รับเงินชดเชยจากกองทุนจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่เงินชดเชยดังกล่าวไม่ครอบคลุมค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ทั้งห้าเรียกร้องในคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าประการแรกว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลย มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายตามฟ้องของโจทก์ทั้งห้าระงับสิ้นไปหรือไม่ ที่โจทก์ทั้งห้าฎีกาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ จิดัง เคียวอุเต โช ทำขึ้นหลังจากที่โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องคดีนี้ แสดงว่าโจทก์ทั้งห้าและจำเลยต่างไม่ประสงค์ให้ยุติข้อพิพาทระหว่างกัน อีกทั้งในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็ไม่มีข้อความใดระบุว่าเป็นการระงับข้อพิพาทคดีนี้ด้วย นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าโจทก์ทั้งห้าและจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือต่อศาลในประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากเหตุเรือโดนกันเดียวกับคดีนี้ และโจทก์ทั้งห้าได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไปแล้ว เพียงแต่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างถึงขอบเขตของการมีผลบังคับของสัญญาประนีประนอมยอมความนี้แตกต่างกัน กรณีจึงต้องวินิจฉัยในเรื่องผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความ เสียก่อนว่า สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวซึ่งทำขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น คู่สัญญาตกลงให้หนี้อันเกิดจากเหตุเรือโดนกันระงับสิ้นไปหรือไม่ เพียงใด ในการพิจารณาถึงเรื่องดังกล่าวจำต้องตีความจากเจตนาของคู่สัญญาซึ่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเป็นสำคัญ คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างเป็นนิติบุคคลต่างสัญชาติกัน โดยโจทก์ทั้งห้าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศปานามา ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวที่ประเทศญี่ปุ่น การวินิจฉัยตีความเจตนาในการทำสัญญาของโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยที่พิพาทกันคดีนี้จะต้องนำบทบัญญัติใดมาใช้บังคับนั้น ย่อมเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ หรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับ ก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น" เห็นได้ว่าในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ คู่สัญญามิได้ระบุข้อความในสัญญาว่าให้ใช้กฎหมายใดบังคับแก่ผลแห่งสัญญา จึงไม่อาจทราบเจตนาโดยชัดแจ้งของคู่สัญญาได้ แต่ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่า หลังเกิดเหตุเรือโดนกันจำเลยยื่นคำร้องขอเริ่มต้นคดีตามพระราชบัญญัติการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือ ที่ศาลแขวงโอกายามะ ประเทศญี่ปุ่น ศาลดังกล่าวมีคำสั่งอนุญาตให้เริ่มคดีโดยแต่งตั้งผู้บริหารจัดการกองทุนซึ่งเป็นผู้พิจารณาข้อเรียกร้องและจัดทำตารางส่วนแบ่งเงินกองทุนการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือเสนอต่อศาล ต่อมาโจทก์ทั้งห้ายื่นข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารจัดการกองทุน ภายหลังที่มีการพิจารณาโดยผู้บริหารจัดการกองทุนแล้ว ปรากฏว่าจำนวนเงินตามข้อเรียกร้องเป็นที่ยอมรับได้โดยเจ้าหนี้แต่ละราย จึงตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ประกอบกับโจทก์ทั้งห้านำสืบรับว่าฝ่ายโจทก์เองได้เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าวโดยความสมัครใจ อีกทั้งมีข้อความระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วยว่า การทำสัญญาให้มีผลทางกฎหมายเช่นเดียวกับการมีคำพิพากษา โดยมีการอ้างถึงพระราชบัญญัติการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่นในเงื่อนไขของสัญญาด้วย ถือได้ว่าคู่สัญญามีเจตนาให้ใช้กฎหมายญี่ปุ่นบังคับแก่ผลแห่งสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ ที่โจทก์ทั้งห้าฎีกาต่อไปว่า การที่โจทก์ทั้งห้าไม่ได้ขอสงวนสิทธิตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่นไว้ ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งห้าในคดีนี้ระงับสิ้นไปแต่อย่างใด และตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้แต่เพียงว่า ให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดเฉพาะข้อเรียกร้องอื่นในคดีที่ยื่นฟ้องในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น จำเลยยังต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้าตามฟ้องคดีนี้ด้วย นั้น ได้ความจากนายโยเฮ ทนายความของจำเลยซึ่งเป็นทนายความของจำเลยในคดีการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือที่ประเทศญี่ปุ่น เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว จำเลยมีเจตนาที่จะยุติข้อพิพาททั้งหมดที่เกิดขึ้นจากเหตุเรือโดนกันระหว่างเรือของจำเลย กับเรือ ย. อันทำให้มีผลเป็นการปลดเปลื้องความรับผิดทั้งปวงของจำเลยตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือที่บัญญัติว่า เมื่อผู้เข้าร่วมในกระบวนพิจารณาคดีการจำกัดความรับผิดมีสิทธิได้รับชำระเงินจากกองทุนตามจำนวนที่ได้รับจัดสรรแก่ตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการวางเงินตามกฎหมายแล้ว ผู้ร้องและลูกหนี้ผู้ได้รับประโยชน์ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดต่อผู้เข้าร่วมสำหรับข้อเรียกร้องที่อยู่นอกกระบวนพิจารณาคดีการจำกัดความรับผิด (When a participant in proceedings for limitation of liability becomes entitled to receive a payment from a Fund in an amount to be distributed thereto pursuant to the provisions of laws and regulations concerning statutory deposits, the Petitioner and Beneficiary Debtor shall be discharged from their liability for the claim for a liquidating distribution to such participant outside of the proceedings for limitation of liability.) และโจทก์ทั้งห้าไม่ได้ขอสงวนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยในฐานะเจ้าของเรือต้องรับผิดนอกเหนือจากคดีการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือดังกล่าวตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือ ที่บัญญัติว่า ผู้เข้าร่วมในกระบวนพิจารณาคดีการจำกัดความรับผิดอาจร้องขอต่อผู้บริหารกองทุนสำหรับการสงวนสิทธิในการรับเงินชดเชยก่อนครบกำหนดระยะเวลาสำหรับการยื่นคำคัดค้านบัญชีรายการเงินชดเชยได้ โดยต้องพิสูจน์ว่าการดำเนินการนอกเหนือจากกระบวนพิจารณาคดีที่ค้างอยู่นั้นมีความเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องที่ตนได้ยื่นไว้ หรือการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือหลักประกันเกิดขึ้นโดยอาศัยข้อเรียกร้องดังกล่าว (A participant in proceedings for limitation of liability may make a request to an administrator for the reservation of a liquidating distribution prior to the expiration of the period of filing an objection to the distribution list, by proving that an Action Outside the Proceedings is pending in relation to his/her filed claim or that the compulsory execution or exercise of a security interest has taken place based on said claim.) ส่วนโจทก์ทั้งห้ามีนายอริโต้ ทนายความของโจทก์ทั้งห้าในคดีการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือที่ประเทศญี่ปุ่นและคดีนี้ เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า ภายหลังที่โจทก์ทั้งห้ายื่นข้อเรียกร้องค่าชดเชยตามกระบวนพิจารณาคดีการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ได้มีการดำเนินการตรวจสอบข้อเรียกร้องค่าชดเชยเป็นเวลา 8 วัน เพื่อประเมินค่าชดเชยที่ควรได้รับในแต่ละราย โดยโจทก์ทั้งห้าเสนอข้อเรียกร้องในค่าเสียหายสำหรับสินค้า แต่จำเลยโต้แย้งคัดค้านหลายครั้งจนกระทั่งในวันตรวจสอบวันที่ 5 ผู้บริหารกองทุนมีความเห็นว่าจำเลยควรต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าเต็มจำนวน จำเลยจึงยกเลิกการคัดค้านเพื่อขอให้โจทก์ทั้งห้าลดจำนวนเงินที่เรียกร้อง ซึ่งต่อมาจำเลยยอมรับจำนวนเงินรวมที่โจทก์ทั้งห้าเสนอหลังจากที่มีการหักจำนวนเงินที่ได้จากการขายซากสินค้าแล้ว โดยในวันดังกล่าวฝ่ายโจทก์แจ้งให้ผู้บริหารกองทุนและทนายความของจำเลยทราบแล้วว่า เนื่องจากโจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลในประเทศไทยไว้แล้ว ในกรณีที่จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน สัญญาดังกล่าวไม่ควรกระทบต่อการดำเนินคดีในประเทศไทย แต่ในวันตรวจสอบวันที่ 6 จำเลยแจ้งว่าไม่ประสงค์ให้ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินคดีในศาลไทย เห็นว่า การที่นายอริโต้ ทนายความของโจทก์ทั้งห้า เรียกร้องให้กำหนดข้อสงวนไว้ในสัญญาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลกระทบต่อคดีที่ดำเนินการที่ประเทศไทย แต่ฝ่ายจำเลยปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว จึงทำให้ไม่มีข้อสงวนเกี่ยวกับการฟ้องคดีนี้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งห้าทราบดีถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวรวมทั้งเข้าใจกระบวนการการขอสงวนสิทธิอันเป็นผลตามกฎหมายของมาตรา 73 และมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่นแล้ว และในที่สุดโจทก์ทั้งห้าได้ตกลงตามข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความ ด้วย ถือได้ว่า โจทก์ทั้งห้ากับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีระหว่างกันซึ่งรวมถึงข้อพิพาทที่มีการดำเนินคดีที่ศาลไทยด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยไม่ได้ระบุข้อสงวนสิทธิในการดำเนินคดีที่ศาลไทยไว้ในสัญญา เท่ากับโจทก์ทั้งห้าตกลงยินยอมที่จะไม่ดำเนินคดีนอกเหนือจากกระบวนพิจารณาคดีการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือที่ศาลในประเทศญี่ปุ่น และเมื่อโจทก์ทั้งห้าได้รับชำระเงินจากกองทุนตามจำนวนที่ได้รับจัดสรรแล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้า ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 73 และมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายตามฟ้องของโจทก์ทั้งห้าระงับสิ้นไปทั้งหมด ที่โจทก์ทั้งห้าฎีกาต่อไปว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นสัญญาที่โจทก์ทั้งห้ากับจำเลยตกลงกันเพื่อยุติกระบวนพิจารณาคดีจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลที่ประเทศญี่ปุ่นตามกฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่น และมีผลเฉพาะภายในประเทศญี่ปุ่นและรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจำกัดความรับผิดเพื่อสิทธิเรียกร้องทางทะเล ค.ศ. 1976 เท่านั้น เมื่อประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีอนุสัญญาดังกล่าว ผลของการหลุดพ้นความรับผิดของจำเลยในฐานะเจ้าของเรือจึงไม่มีผลต่อคดีนี้ นั้น เห็นว่า แม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการจำกัดความรับผิดเพื่อสิทธิเรียกร้องทางทะเล ค.ศ. 1976 และคำพิพากษาของศาลประเทศญี่ปุ่นจะไม่มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย แต่เนื่องจากคดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยแล้วว่า ให้นำพระราชบัญญัติการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือมาใช้บังคับแก่คดีนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง อีกทั้งหนี้หรือสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งมีมูลหนี้ที่เกิดจากเหตุเรือโดนกันเดียวกับคดีนี้เป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว ตามมาตรา 73 และมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติการจำกัดความรับผิดของเจ้าของเรือของประเทศญี่ปุ่น โดยที่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศไทย ศาลไทยย่อมนำหลักกฎหมายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทคดีนี้มาใช้บังคับได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 5 ดังนั้น การมิได้เป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าวจึงไม่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของคู่ความทั้งสองฝ่ายซึ่งมีนิติสัมพันธ์กันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และมีผลผูกพันคู่สัญญาทั้งในประเทศที่ทำสัญญาและประเทศอื่นรวมทั้งประเทศไทยด้วย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นสัญญาที่คู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกันในคดีการจำกัดความรับผิดที่ประเทศญี่ปุ่น โดยโจทก์ทั้งห้าได้รับเงินชดเชยความเสียหายจากจำเลยไปตามจำนวนที่ผู้บริหารกองทุนแบ่งสรรให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งห้าในมูลหนี้อันเกิดจากเหตุเรือโดนกันคดีนี้จึงเป็นอันระงับสิ้นไปทั้งหมด แล้วพิพากษายกฟ้อง นั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ทั้งห้าฎีกาขอให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยต่อโจทก์ทั้งห้าตามฟ้อง นั้น เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความแล้วว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้า โดยมูลความแห่งคดีระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ กรณีจึงไม่มีหนี้ที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดอีก ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งห้าอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ