โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 310, 340 วรรคสาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 5, 7, 11, 12 (1), 13, 17, 18, 62, 72, 81 ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,401,900 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ให้การปฏิเสธฐานปล้นทรัพย์ ส่วนความผิดฐานกระทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 310 วรรคสอง, 340 วรรคสาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 72 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 310 วรรคแรก, 340 วรรคแรก พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 62, 81 จำคุกจำเลยที่ 1 ฐานเป็นคนต่างด้าวหลบหนีออกนอกเขตควบคุม มีกำหนด 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีกำหนด คนละ 6 เดือน และฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีกำหนดคนละ 6 เดือน ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังและฐานปล้นทรัพย์ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 วรรคสาม และลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต และจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 12 ปี ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อหา ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ในข้อหาดังกล่าวคนละกึ่งหนึ่ง ส่วนข้อหาปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานเป็นคนต่างด้าวหลบหนีออกนอกเขตควบคุม มีกำหนด 3 เดือน ฐานปล้นทรัพย์ เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีกำหนด คนละ 3 เดือน ฐานเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีกำหนดคนละ 3 เดือน ฐานปล้นทรัพย์ มีกำหนดคนละ 8 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 25 ปี 3 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 8 ปี 6 เดือน ริบของกลาง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามบัญชีที่ถูกประทุษร้ายไม่ได้คืนรวมเป็นเงิน 1,401,900 บาท ให้แก่นางสุนันต์ ผู้เสียหาย
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ ในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้คนละหนึ่งในสามโดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกในข้อหาอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 33 ปี 10 เดือน ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับความผิดของจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฯ ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังและปล้นทรัพย์ ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาขึ้นมา ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกา จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพียงว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสามหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า พยานโจทก์คือ นายสรรเสริญ นางนภาพร และนางสุนันต์ มิได้ชี้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคนร้ายร่วมปล้นทรัพย์ คงมีแต่นายโชติวัติคนเดียวที่เบิกความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมเป็นคนร้าย จึงไม่น่าเชื่อถือว่านายโชติวัติจะเห็นและจำคนร้ายได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นข้อหาปล้นทรัพย์เพราะพอใจกับโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนด จำเลยที่ 2 ซื้อพระเครื่องมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนรู้จักกัน จำเลยที่ 3 บังเอิญไปพักอยู่กับจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้องข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ แต่ขอให้ลงโทษฐานรับของโจรแก่จำเลยที่ 2 เห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นฎีกาโต้เถียงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาในศาลอุทธรณ์ภาค 1 แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและอันตรายสาหัสด้วยแต่อย่างใด จึงลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก และมาตรา 340 วรรคแรก เท่านั้น แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมเป็นตัวการในการปล้นทรัพย์และการใช้กำลังทำร้ายได้กระทำขณะที่การปล้นทรัพย์ยังไม่ขาดตอน อันเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์หาใช่ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคสอง ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย และปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 นั้น ดังนั้นการวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรก หรือมาตรา 340 วรรคสาม เป็นการปรับข้อเท็จจริงเข้าสู่ข้อกฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันวางแผนปล้นทรัพย์บ้านที่เกิดเหตุกับจำเลยที่ 1 และพวกอีก 3 คน โดยวันเกิดเหตุจำเลยทั้งสามร่วมจับคนรับใช้มัดไว้ และเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 รื้อค้นทรัพย์สินภายในบ้านได้ทรัพย์สินแล้วพากันหลบหนีไป ก่อนที่ผู้เสียหายกับพวกจะกลับมาบ้านและถูกจำเลยที่ 1 กับพวกทำร้ายผู้เสียหาย นายสรรเสริญ นางนภาพร และนายโชติวัติ เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม นั้น กฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะลงโทษการกระทำของคนร้ายที่ปล้นทรัพย์ด้วยกันว่าถ้าการปล้นทรัพย์นั้น เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสผู้กระทำความผิดทุกคนต้องรับโทษหนักขึ้น ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำร้าย หรือรู้ตัวผู้ทำร้ายหรือไม่ และไม่ว่าจะอยู่ร่วมกันในขณะที่มีการทำร้ายหรือไม่ เช่น มีการแบ่งหน้าที่กันทำโดยมีคนร้ายเฝ้าดูต้นทางแต่พวกที่เข้าไปปล้นทรัพย์ทำร้ายเจ้าทรัพย์ก็มีความผิดร่วมกัน แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการกระทำที่ไม่ขาดตอนกันจึงจะเป็นเหตุลักษณะคดี สำหรับคดีนี้ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกรวมทั้งหมด 6 คน วางแผนปล้นทรัพย์บ้านหลังนี้มาแต่ต้น วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าไปจับตัวคนรับใช้ในบ้านผู้เสียหายมัดไว้และได้รื้อค้นเอาทรัพย์สินภายในบ้านแล้วกลับไปก่อน ส่วนจำเลยที่ 1 กับพวกที่เหลือรออยู่เพื่อเอาทรัพย์สินจากผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายกับพวกกลับมาบ้านก็ถูกจำเลยที่ 1 กับพวกที่เหลือทำร้ายเพื่อปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้อยู่ร่วมเพื่อปล้นทรัพย์ด้วย ไม่ปรากฏว่าได้รออยู่นอกบ้านเพื่อดูต้นทางหรือย้อนกลับมาอีก หรือรอฟังผลยังสถานที่นัดหมายกันทั้งไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับบ้านที่เกิดเหตุ ทั้งผู้เสียหายกับพวกก็กลับมาหลังจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับไปแล้ว เป็นเวลานานถึง 2 - 3 ชั่วโมง ไม่ต่อเนื่องกับการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันปล้นทรัพย์มาแต่ต้น การจะคาดหมายว่าหากผู้เสียหายกับพวกกลับมาและขัดขืนย่อมมีการใช้กำลังประทุษร้ายย่อมเป็นการคาดหมายที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสาม นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ในข้อหาปล้นทรัพย์ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1