โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,218,750 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 780,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เช่าซื้อรถยนต์จากธนาคาร ก. และเอาประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวกับจำเลย ระยะเวลาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2557 สิ้นสุดวันที่ 22 สิงหาคม 2558 ตกลงจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับความเสียหายต่อรถยนต์เป็นเงิน 780,000 บาท โดยกรณีรถยนต์สูญหายนั้น จำเลยจะรับผิดหากความสูญหายเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ เว้นแต่ความเสียหายหรือสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าว ต่อมาโจทก์ขายเงินดาวน์และส่งมอบรถยนต์ที่เอาประกันภัยให้แก่นายกลยุทธ ซึ่งเป็นญาติกัน แล้วประมาณเดือนตุลาคม 2557 นายกลยุทธมอบต่อให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. เพื่อใช้ในกิจการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. อ้างว่านำไปให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเช่าเพื่อให้บุคลากรใช้ในโครงการ ซึ่งเป็นความเท็จ โดยนายกลยุทธได้ค่าตอบแทนเป็นค่าเช่าเรื่อยมาถึงเดือนพฤษภาคม 2558 จึงไม่ได้รับค่าตอบแทนอีก และไม่สามารถติดตามรถยนต์คืนมาได้ วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 นายกลยุทธและเจ้าของรถยนต์คันอื่นได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่นายบัญชา ซึ่งอ้างตัวเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. กับนายเฉลิมเกียรติ ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกง และพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมายื่นฟ้องบุคคลทั้งสองในข้อหาความผิดดังกล่าวต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา แต่ระหว่างพิจารณาคดีนายบัญชาหลบหนี ส่วนนายเฉลิมเกียรติให้การรับสารภาพ ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 3509/2558 ว่านายเฉลิมเกียรติมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ให้ลงโทษจำคุก กับให้นายเฉลิมเกียรติคืนรถยนต์คันที่เอาประกันภัยหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 910,805 บาท แก่นายกลยุทธ โจทก์ทวงถามให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 โจทก์จึงยื่นคำเสนอให้ระงับข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาท โดยวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ แต่วันที่ 9 ตุลาคม 2561 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว และวันที่ 20 มีนาคม 2562 อนุญาโตตุลาการปฏิเสธที่จะวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทใหม่ตามคำร้องของโจทก์ โดยเห็นว่าอำนาจของอนุญาโตตุลาการสิ้นสุดไปแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า รถยนต์คันที่เอาประกันภัยสูญหายเกิดจากถูกนายบัญชากับพวกใช้อุบายลักเอาไป อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ความผิดฐานฉ้อโกง ทั้งคดีที่ศาลจังหวัดนครราชสีมาพิพากษาลงโทษนายเฉลิมเกียรติ ก็เป็นการดำเนินคดีเฉพาะแก่นายเฉลิมเกียรติและพิพากษาคดีไปตามคำรับสารภาพของนายเฉลิมเกียรติโดยไม่ได้สืบพยานหลักฐานใด ไม่อาจนำมารับฟังได้ว่ารถยนต์คันที่เอาประกันภัยสูญหายไปเนื่องจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง อันจะเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลยนั้น โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า มูลเหตุคดีสืบเนื่องมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. โดยนายอนุชา หุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ป่าวประกาศว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยมีโครงการวางท่อก๊าซที่จังหวัดนครราชสีมา และต้องการเช่ารถยนต์เพื่อให้บุคลากรใช้ในโครงการจำนวนมาก แต่หลังจากนายกลยุทธ และบรรดาผู้เสียหายร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแล้ว พนักงานสอบสวนได้ตัวนายบัญชาและนายเฉลิมเกียรติมาดำเนินคดี ทางสอบสวนกลับได้ความว่านายบัญชาได้ปลอมบัตรประจำตัวประชาชนโดยนำภาพถ่ายของนายบัญชามาติดในบัตรประจำตัวประชาชนของนายอนุชาเพื่อแสดงว่าตนเองคือนายอนุชาตามข้อมูลที่ระบุในบัตรประจำตัวประชาชนนั้น แล้วดำเนินการป่าวประกาศในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ดังกล่าว โดยนายอนุชาไม่ทราบเรื่อง เมื่อได้รถยนต์จากผู้หลงเชื่อตามที่ป่าวประกาศ ซึ่งรวมรถยนต์คันที่เอาประกันภัยด้วย นายบัญชากับพวกจ่ายค่าตอบแทนการเช่าใช้รถยนต์เพียงบางส่วนแล้วผิดนัด ก่อนที่จะเอารถยนต์ดังกล่าวไปโดยบรรดาผู้เสียหายไม่สามารถติดตามหารถยนต์กลับคืนมาได้ โดยจำเลยไม่ได้นำสืบพยานหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา และเห็นว่า พฤติการณ์ของนายบัญชากับพวกดังที่กล่าวมาแสดงให้เห็นการวางแผนและตระเตรียมการมาเป็นขั้นเป็นตอน ด้วยเจตนาทุจริตที่จะเอารถยนต์ของบรรดาผู้เสียหายมาแต่ต้นแล้ว การป่าวประกาศอ้างถึงโครงการวางท่อก๊าซของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและความต้องการรถยนต์เพื่อใช้ในโครงการซึ่งไม่มีอยู่จริง ล้วนแต่เป็นการสร้างกลอุบายเพื่อให้บรรลุผล คือการเอารถยนต์ของบรรดาผู้เสียหายไปโดยทุจริตตามเจตนาและแผนการที่วางไว้แต่ต้น แม้นายกลยุทธผู้ครอบครองรถยนต์คันที่เอาประกันภัยแทนโจทก์ในขณะนั้นจะมอบรถยนต์ให้นายบัญชากับพวกก็เป็นเพียงเจตนามอบการครอบครองให้ชั่วระยะเวลาที่ตกลงกัน ไม่ได้เจตนามอบกรรมสิทธิ์ให้ด้วย ที่รถยนต์คันที่เอาประกันภัยสูญหายจึงเกิดจากถูกนายบัญชากับพวกแย่งกรรมสิทธิ์ไปโดยไม่ชอบตามแผนการที่วางไว้นั่นเอง การกระทำของนายบัญชากับพวกจึงเป็นการลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคหนึ่ง (เดิม), 83 ส่วนข้อที่ว่า มีการดำเนินคดีแก่นายเฉลิมเกียรติพวกของนายบัญชา และศาลจังหวัดนครราชสีมาพิพากษาว่านายเฉลิมเกียรติมีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน นั้น ก็เป็นการพิจารณาข้อเท็จจริงจากคำฟ้องของโจทก์ในคดีดังกล่าวและคำรับสารภาพของนายเฉลิมเกียรติโดยไม่มีการสืบพยานหลักฐานเพื่อให้เห็นพฤติการณ์ของคดีโดยละเอียด และข้อเท็จจริงที่ศาลในคดีก่อนรับฟังว่านายเฉลิมเกียรติกับพวกใช้อุบายหลอกลวงและได้ไปซึ่งรถยนต์จากบรรดาผู้เสียหายแล้วนำไปแสวงหาประโยชน์โดยทุจริต ที่แม้จะไม่ถึงกับได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังเช่นการลักทรัพย์ ก็อาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้ อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์และฉ้อโกงเป็นเพียงรายละเอียด ทั้งคดีนี้โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาในทางแพ่ง ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาจึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในอันที่จะต้องนำมาผูกพันให้รับฟังว่าการกระทำของนายบัญชากับพวกดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นเป็นความผิดฐานฉ้อโกงด้วย และคำพิพากษาของศาลจังหวัดนครราชสีมาดังกล่าวหาใช่คำพิพากษาที่เกี่ยวด้วยฐานะของบุคคลอันจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคสอง (1) ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาไม่ ส่วนที่จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดว่า ตามสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ระบุว่า การใช้รถยนต์เป็นการใช้ส่วนบุคคลไม่ใช้รับจ้างหรือให้เช่า แต่โจทก์กลับนำออกให้ผู้อื่นเช่าอันเป็นการผิดเงื่อนไขข้อตกลง ทั้งรถยนต์คันที่เอาประกันภัยสูญหายเกิดจากการลักทรัพย์โดยนายบัญชากับพวกซึ่งเป็นผู้เช่า อันเป็นข้อยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุในหมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหายไฟไหม้ ข้อ 5. นั้น ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาแล้วได้ความว่า การที่นายบัญชากับพวกป่าวประกาศเรื่องการเช่ารถยนต์เป็นเพียงกลอุบายเพื่อให้บรรดาผู้เสียหายมอบการครอบครองรถยนต์ไว้ให้ก่อนที่จะร่วมกันลักเอารถยนต์ไปตามแผนการที่วางไว้ โดยไม่ได้มีเจตนาเช่ารถยนต์จริงแต่อย่างใด ทั้งความเสียหายที่โจทก์ได้รับก็ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการใช้รถยนต์คันที่เอาประกันภัยผิดเงื่อนไข กรณีจึงไม่ได้เป็นดังที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อรถยนต์คันที่เอาประกันภัยสูญหายเกิดจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามจำนวนเงินที่ระบุในสัญญา เป็นเงิน 780,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดได้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่ระบุในสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หมวดเงื่อนไขทั่วไป ข้อ 5. แต่ที่โจทก์ขอดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นไปนั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือทวงถามและกำหนดเวลาให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนอันจะถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อใด จึงให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 อันเป็นวันที่โจทก์ยื่นคำเสนอให้ระงับข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ เป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนปัญหาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ นั้น จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้เป็นประเด็นไว้ แต่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อน และเห็นว่า แม้นายบัญชากับพวกจะได้รับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไปเมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2557 แต่ก็ไม่อาจถือได้ว่ามีการแย่งกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ไปตั้งแต่วันนั้นแล้ว เพราะยังมีการชำระค่าตอบแทนที่อ้างว่าเป็นค่าเช่าเรื่อยมาถึงเดือนพฤษภาคม 2558 ต่อมาเมื่อไม่ได้รับค่าตอบแทนและไม่สามารถติดตามรถยนต์คืนมาได้ ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 นายกลยุทธ และเจ้าของรถยนต์คันอื่นจึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ย่อมถือได้ว่าวันที่ร้องทุกข์เป็นวันที่โจทก์ถูกนายบัญชากับพวกลักรถยนต์ไปอันเป็นวันวินาศภัย โจทก์ยื่นคำเสนอให้ระงับข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (4) แม้อนุญาโตตุลาการจะพิจารณาแล้วชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาท แต่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยังไม่เป็นที่สุด เพราะคำชี้ขาดได้ถูกเพิกถอนไปโดยคำพิพากษาของศาลแพ่งในเวลาต่อมา ซึ่งกระบวนการระงับข้อพิพาทควรจะย้อนกลับเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย การที่วันที่ 20 มีนาคม 2562 อนุญาโตตุลาการปฏิเสธที่จะวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทใหม่ตามคำร้องของโจทก์ โดยเห็นว่าอำนาจของอนุญาโตตุลาการสิ้นสุดไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการยกคำเสนอข้อพิพาทเพราะเหตุที่คดีไม่อยู่ในอำนาจของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/18 กล่าวคือ โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำสั่ง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 เป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ข้อต่อสู้ประการนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 780,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ