คดีนี้ โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2492 กล่าวว่าได้มีพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและที่วัดร้างภายในกำแพงเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้กระทรวงการคลังตามเนื้อที่ทั้งหมดท้ายพระราชบัญญัติ และพระราชบัญญัติฉบับนั้นบังคับใช้แต่วันที่ 24 เมษายน 2492 เมื่อวันเดือนปีใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้บุกรุกเข้าอยู่ในที่ที่กระทรวงการคลังรับโอนมาบางส่วน เจ้าหน้าที่ได้ประกาศและแจ้งให้จำเลยมาทำสัญญาเช่าที่ดินกระทรวงการคลังหลายหน จำเลยก็เพิกเฉยเสียจึงขอให้บังคับขับไล่จำเลยและบริวารออกไปเสีย กระทรวงการคลังมอบให้ข้าหลวงประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาฟ้องร้องดำเนินคดีนี้แล้วตามสำเนาหนังสือกระทรวงการคลังท้ายฟ้อง
จำเลยต่อสู้ตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ฟ้องเพราะไม่มีใบมอบอำนาจของกระทรวงการคลังให้โจทก์ฟ้อง และต่อสู้อย่างอื่นอีก
หลังจากศาลชั้นต้นชี้สองสถาน และก่อนพิจารณาโจทก์ส่งใบมอบอำนาจของกระทรวงการคลังลงวันที่ 27 มิถุนายน 2492 ยืนยันมอบอำนาจให้ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือนายทวี อุชชิน ปลัดจังหวัดผู้ทำการแทนมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนกระทรวงการคลังได้ ตั้งแต่วันแรกที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาล
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องและจำเลยไม่มีสิทธิที่จะยกอำนาจการครอบครองขึ้นต่อสู้ทำลายกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หนังสือกระทรวงการคลังท้ายฟ้องนั้น หาเป็นใบมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ไม่ ส่วนใบมอบอำนาจลงวันที่ 27 มิถุนายน 2492 นั้น จะให้มีผลย้อนหลังไปถึงตั้งแต่วันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ หาได้ไม่ เพราะกิจการที่โจทก์กระทำไปแต่แรกปราศจากอำนาจเสียแล้ว จะมอบอำนาจย้อนให้การกระทำของโจทก์เป็นการถูกต้องขึ้นหาได้ไม่ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีในทางแพ่งนั้น ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็คงให้ถือหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง หนังสือมอบอำนาจของกระทรวงการคลังลงวันที่ 27 มิถุนายน 2492 นั้น เท่ากับเป็นการยืนยันถึงการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ให้แน่นอนชัดเจนขึ้นอีกชั้นหนึ่งแม้จะยื่นภายหลังวันชี้สองสถาน ก็ถือได้ว่าเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันในการฟ้องคดีนี้ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติวิธีพิจารณาความแพ่งห้ามไว้แต่ประการใด ยิ่งเมื่อพิจารณาดูมาตรา 47 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบด้วยแล้วย่อมเห็นได้ว่าศาลชอบที่จะพึงรับฟังใบมอบอำนาจนี้ได้ เพราะฉะนั้นโจทก์ผู้รับมอบย่อมมีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีได้
จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยพยานหลักฐานแล้วพิพากษาต่อไป