โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖
ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าทนายแดง จำเลยว่าจ้างโจทก์ว่าความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๗๒๗/๒๕๔๒ ของศาลชั้นต้น และคดีอื่นอีก ๓ คดี ต่อมาจำเลยถอนโจทก์จากการเป็นทนายความทุกคดี สำหรับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๗๒๗/๒๕๔๒ นั้น ในวันนัดพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยไปศาลกับทนายความที่แต่งตั้งใหม่ นาย ป. ทนายความฝ่ายตรงข้ามในคดีดังกล่าวสอบถามจำเลย และให้จำเลยติดต่อโจทก์ให้มาศาล จำเลยพูดกับนาย ป. ว่า "ไม่ว่าจ้างทนายแดงแล้ว ทนายแดงชอบฮั้วคดี ไม่สนใจติดตามคดี"
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพูดของจำเลยที่พูดกับนาย ป. ซึ่งสอบถามจำเลยและให้จำเลยติดต่อโจทก์มาศาลว่า "ไม่ว่าจ้างทนายแดงแล้ว ทนายแดงชอบฮั้วคดี ไม่สนใจติดตามคดี" เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความเป็นพยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ได้รับมอบหมายจากจำเลยให้ดำเนินคดีกับนาย น. ในข้อหาฉ้อโกง จำเลยชำระค่าจ้างว่าความแล้ว ๑๕,๐๐๐ บาท แต่โจทก์ยังไม่ได้ฟ้องคดี โจทก์รับเงินค่าจ้างว่าความไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๑ จนกระทั่งวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทวงเงินค่าจ้างว่าความคืน โจทก์ก็ยังไม่ได้ฟ้องนาย น. ซึ่งหากจำเลยให้โจทก์ชะลอการฟ้องนาย น. ไว้ดังโจทก์อ้าง จำเลยคงไม่ทวงถามค่าจ้างว่าความคืนจากโจทก์ นอกจากนี้ในคดีที่นาย ณ. สามีของจำเลยแต่งตั้งโจทก์เป็นทนายความฟ้องนาย ส. โจทก์บรรยายฟ้องว่านาย ณ. มอบอำนาจให้จำเลยดำเนินคดีแทน แต่นาย ณ. และจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี ทั้งสองกรณีที่กล่าวมาข้างต้นทำให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์ไม่สนใจในการดำเนินคดี บกพร่องต่อหน้าที่ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และผู้ที่จำเลยประสงค์จะฟ้องได้รับประโยชน์ไม่ต้องถูกดำเนินคดี แม้เรื่องดังกล่าวยังไม่มีการวินิจฉัยเป็นที่สุดก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่กล่าวมาย่อมทำให้จำเลยเข้าใจเช่นนั้นได้ การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๑) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.