โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 3,840,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 (ที่ถูก ร้อยละ 5 ต่อปี) นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 สิงหาคม 2564) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 2,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมโจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากัน ในปี 2559 โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยและแบ่งสินสมรสโจทก์กับจำเลยตกลงกันได้ มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยโจทก์กับจำเลยตกลงหย่าขาดจากกันและแบ่งทรัพย์สินระหว่างกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 และศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก (แม่สอด) มีคำพิพากษาให้คดีเป็นอันเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พด. 39/2560 ในข้อ 5 ของสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า โจทก์ตกลงมอบการครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท. 5 (ที่ดินพิพาท) เลขสำรวจที่ 101/53 เนื้อที่ 20 ไร่ โดยเป็นชื่อของนางลัดดา (จำเลย) อยู่ ให้แก่จำเลย และในข้อ 6 ระบุว่า จำเลยตกลงมอบหรือแบ่งเงินค่าเช่าที่เกิดจากการเช่าที่ดิน ภ.บ.ท. 5 ...ตามข้อ 5 (ที่ดินพิพาท) แก่โจทก์ เป็นจำนวนอัตรา 40 ส่วน ใน 100 ส่วน ของค่าเช่าที่เกิดขึ้นจากการให้เช่ากับบริษัท ป. หรือบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมตลอดไปแก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะถึงแก่ความตาย โดยจำเลยจะโอนเงินเข้าบัญชีโจทก์หลังได้รับค่าเช่าภายในเวลาอันควร หลังจากนั้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2563 จำเลยได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่นายวรวัฒน์ ในราคา 8,500,000 บาท โจทก์จึงได้นำเหตุแห่งการขายที่ดินของจำเลยมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีก่อน ไม่มีข้อใดเลยที่ห้ามมิให้จำเลยขายที่ดินพิพาทแก่บุคคลภายนอก การที่จำเลยเจ้าของทรัพยสิทธิขายให้บุคคลภายนอกจึงเป็นการขายไปตามสิทธิที่ตนมีตามกฎหมายโดยชอบ โจทก์ไม่อาจอ้างว่าจำเลยจงใจทำให้การชำระหนี้ของจำเลยที่มีต่อโจทก์เป็นการพ้นวิสัยและไม่สุจริต การที่สัญญากำหนดให้จำเลยแบ่งเงินค่าเช่าให้โจทก์ตามอัตราส่วนของค่าเช่าที่เกิดจากการให้เช่าที่ดินพิพาทตลอดไปจนกว่าโจทก์จะถึงแก่ความตายนั้น เป็นเพียงกำหนดเงื่อนเวลาสิ้นสุดในการได้ส่วนแบ่งค่าเช่าเท่านั้น สิทธิของโจทก์ยังคงมีอยู่ต่อเมื่อจำเลยยังคงมีสิทธิครอบครองในที่ดินและมีการเช่าในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยขายที่ดินพิพาทไป สิทธิของโจทก์ก็ระงับสิ้นตามไปเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีฟ้องหย่าและแบ่งสินสมรสเรื่องก่อน กำหนดให้ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย และจำเลยตกลงแบ่งเงินค่าเช่าที่เกิดจากการให้เช่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในอัตรา 40 ส่วน ใน 100 ส่วน ของค่าเช่าที่เกิดขึ้นจากการให้เช่าจากบริษัท ป. หรือบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมตลอดไปจนกว่าโจทก์จะถึงแก่ความตาย ก่อให้เกิดหนี้ผูกพันระหว่างกันที่จำเลยจะต้องทำการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขที่กำหนด จริงอยู่แม้จะไม่มีข้อกำหนดใดห้ามมิให้จำเลยขายที่ดินพิพาทในอันที่โจทก์จะนำมาใช้อ้างว่าจำเลยกระทำผิดข้อสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และจำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้อย่างอิสระก็ตาม แต่เมื่อในเวลาที่จำเลยขายที่ดินพิพาทนั้นโจทก์ยังไม่ถึงแก่ความตายอันเป็นเงื่อนไขซึ่งเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งของเงินค่าเช่าจนกว่าจะถึงแก่ความตาย จึงเป็นการทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้ เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น ดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 218 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยประการหลังว่า โจทก์ควรได้รับค่าเสียหายเพียงใด เห็นว่า การจะมีชีวิตดำรงอยู่นานเพียงใดเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ทั้งหากไม่มีการขายที่ดินพิพาทการจะมีผู้เช่าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปหรือไม่ เช่านานเพียงใด ก็ไม่แน่นอนอีกเช่นกัน โจทก์เองก็รับมาในฎีกาว่าหากไม่มีการเช่าในที่ดินพิพาท โจทก์จะไม่มีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งแต่อย่างใด ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นคำนึงถึงอายุของโจทก์และโอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีการเช่าที่ดินพิพาทแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท นั้น นับว่าเหมาะสมชอบด้วยรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลต่างให้เป็นพับกันไป