คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ 24,618,890.50 บาท โดยชำระให้แก่โจทก์เป็นงวด ๆ ทุก 3 เดือน เป็นเงินงวดละไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ชำระงวดแรกภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 และงวดต่อไปทุกวันที่ 30 ของงวด 3 เดือน ถัดไปติดต่อกันไปและจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับจากเดือนมิถุนายน 2559 เป็นต้นไป หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดชำระหนี้ส่วนที่เหลือทั้งหมดและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,618,890.50 บาท แต่ถ้าชำระหนี้เหลือยอดเงินต่ำกว่าต้นเงินดังกล่าวให้คิดดอกเบี้ยของยอดเงินต้นดังกล่าวจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ผิดนัด โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องค่าจ้างงานงวดที่ 3 ที่จำเลยที่ 1 จะได้รับตามสัญญาจ้าง เลขที่ T 078/2560 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 และสัญญาจ้างทั่วไป เลขที่ 3/2560 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 ไปยังผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ตามลำดับ และแจ้งอายัดเงินหลักประกันตามสัญญาไปยังผู้คัดค้านที่ 1 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ปฏิเสธการส่งเงินดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี
วันที่ 25 กันยายน 2560 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้จังหวัดตากปฏิบัติตามคำสั่งอายัด หากไม่ปฏิบัติตามขอให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อโจทก์ดำเนินการบังคับเอากับทางราชการต่อไป
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 โจทก์ยื่นคำร้อง 2 ฉบับ ขอให้บังคับผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ให้ชำระหนี้ดังกล่าวหรือค่าสินไหมทดแทนการไม่ชำระหนี้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว สำหรับคำร้องลงวันที่ 25 กันยายน 2560 มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ปฏิบัติตามคำสั่งอายัด ส่วนคำร้องลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ให้ยกคำร้อง
โจทก์และผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งอายัดเงินหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาและให้ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งมอบเงินดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสำหรับคำร้องของโจทก์ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2560 ใหม่ และมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ยกอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 และยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับจ้าง ทำสัญญาจ้าง เลขที่ T 078/2560 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 กับจังหวัดตาก โดยมีนายธนยศ นายอำเภอแม่สอด ได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นผู้ลงนามในสัญญาในฐานะผู้ว่าจ้าง และจำเลยที่ 1 นำแคชเชียร์เช็ค จำนวนเงิน 300,000 บาท มอบให้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ทำงานแล้วเสร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง 2 งวดงาน คงเหลืองานงวดที่ 3 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินหลักประกันตามสัญญาดังกล่าว จำนวน 300,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ 7 มีนาคม 2560 แจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องในเงินหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาไปถึงผู้คัดค้านที่ 1 ห้ามมิให้ชำระเงินประกันแก่จำเลยที่ 1 แต่ให้ส่งเงินดังกล่าวไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี ภายใน 10 วัน นับแต่วันถึงกำหนดจ่ายเงิน ผู้คัดค้านที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 10 มีนาคม 2560 แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง แต่สำหรับการเบิกจ่ายเงินสำนักงานจังหวัดตากเป็นหน่วยเบิกจ่าย ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 ได้ส่งเอกสารเพื่อประกอบการขอเบิกเงินค่าจ้างงวดที่ 2 ไปยังจังหวัดตากและแจ้งให้จังหวัดตากอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 และให้ส่งเงินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี หากจังหวัดตากขัดข้องประการใดให้แจ้งผู้คัดค้านที่ 1 ทราบภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ยังมิได้รับแจ้งจากจังหวัดตากแต่ประการใด ส่วนเงินหลักประกันจำนวน 300,000 บาท เนื่องจากผู้รับจ้างยังมิได้ดำเนินการโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญา ซึ่งผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของงาน ภายในกำหนด 2 ปี หลังจากการตรวจรับงานจ้างเสร็จแล้วทุกงวด การคืนเงินหลักประกันจึงจะคืนภายใน 2 ปี นับถัดจากวันรับมอบงานงวดสุดท้าย หากสิ้นสุดการรับประกันผู้คัดค้านที่ 1 จะดำเนินการตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งต่อไป ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 20 มีนาคม 2560 แจ้งเตือนให้ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งเงินตามอายัด ผู้คัดค้านที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 30 มีนาคม 2560 และ 11 กันยายน 2560 แจ้งว่า ผู้คัดค้านที่ 1 บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทิ้งงาน ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิยึดเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญา และเงินดังกล่าวตามสัญญาจ้างยังกำหนดให้เป็นประกันการชำรุดบกพร่องหรือเสียหายของงานที่ได้ทำไปแล้วเป็นเวลา 2 ปี นับถัดจากวันส่งมอบงวดงาน
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดเงินประกันการจ้างงานและเงินค่าจ้างงวดที่ 3 (ถ้ามี) ต่อผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่จะเรียกให้บุคคลภายนอกชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้างเลขที่ T 078/2560 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 บุคคลภายนอกที่จะต้องชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 คือ จังหวัดตาก ผู้ว่าจ้าง ซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้าง ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ใช่บุคคลภายนอกที่จะต้องชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 เนื่องจากไม่ใช่คู่สัญญา อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องให้จังหวัดตากบุคคลภายนอกชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้าง แต่การอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 โดยเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีกลับส่งหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดไปยังผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำร้องขอของโจทก์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 และ 7 มีนาคม 2560 โดยไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดไปยังจังหวัดตากเลย แม้หลังจากนั้นผู้คัดค้านที่ 1 แจ้งการอายัดไปยังจังหวัดตากแล้ว ก็ไม่ใช่เป็นการส่งหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดตามกฎหมายจึงไม่มีผลบังคับ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แทนจังหวัดตากซึ่งเป็นนิติบุคคล ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ใช่ผู้แทนจังหวัดตากดังที่โจทก์ฎีกา และในเรื่องนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดตามหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 311 วรรคสอง (เดิม) โดยถ้ากฎหมายบัญญัติให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อบุคคลใดก็ต้องกระทำต่อบุคคลนั้นโดยตรง ตามที่กล่าวไว้แล้ว โจทก์จะมาฎีกาในทำนองว่า การส่งหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดไปยังผู้คัดค้านที่ 1 ถือว่าเป็นการส่งหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดไปยังจังหวัดตากแล้วไม่ได้ แม้ฎีกาโจทก์ในตอนแรกระบุว่า นายอำเภอแม่สอด ก็เข้าใจได้ว่า คือ อำเภอแม่สอด ผู้คัดค้านที่ 1 นั้นเอง เนื่องจากไม่สามารถแปลได้ว่า คือ นายธนยศ นายอำเภอแม่สอดในขณะนั้น เนื่องจากนายธนยศทำสัญญาว่าจ้างในฐานะนายอำเภอแม่สอด ได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว เมื่อเป็นเช่นนี้การอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 โดยเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 311 วรรคหนึ่ง (เดิม) ถือว่าสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่จะเรียกให้จังหวัดตาก บุคคลภายนอก ชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้างยังไม่มีการอายัด ดังนั้นการที่ในวันที่ 25 กันยายน 2560 และ 13 พฤศจิกายน 2560 (ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มีผลใช้บังคับแล้วนับแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 โดยให้มีผลทันทีแต่ไม่มีผลกระทบ ถึงกระบวนพิจารณาที่ทำไปแล้ว) โจทก์มายื่นคำร้องผ่านทางผู้คัดค้านที่ 1 ขอให้จังหวัดตากปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้มาเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยไม่ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 321 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาข้ามขั้นตอนที่จะต้องมีการอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ก่อน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดตากมีการดำเนินการผ่านทางผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งหมด จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำสั่ง ในทำนองว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัย อาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) และ 252 จึงต้องยกคำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนนี้และศาลฎีกาก็มีอำนาจสั่งยกคำร้องของโจทก์ในส่วนนี้ได้เลย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องให้ศาลชั้นต้นไปดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จากเหตุดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีอำนาจอายัดเงินประกันการจ้างงานและเงินค่าจ้างงวดที่ 3 (ถ้ามี) ของจังหวัดตากบุคคลภายนอกที่จะต้องชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาว่าจ้างโดยผ่านทางผู้คัดค้านที่ 1 ดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลบางส่วน ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 25 กันยายน 2560 และ 13 พฤศจิกายน 2560 ในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัดตากผ่านทางผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งหมด และมีคำสั่งใหม่ ให้ยกคำร้องของโจทก์ในส่วนนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ