คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 200,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 27,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 27,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 เมษายน 2542) เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จ และให้ชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์แต่ไม่เกิน 12 เดือน คดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม 2554 โจทก์โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ซึ่งเป็นผู้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 141813 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 99/203 ซึ่งจำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางจุลินธ์ ในวันเดียวกันเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์พิพาทดังกล่าว
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์พิพาทด้วยเหตุโจทก์โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาและขอให้งดการบังคับคดี
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดีกับจำเลยที่ 2 ภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะมีคำสั่งเพิกถอนหรืองดการบังคับคดีตามคำร้องได้ ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 141813 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 99/203 ซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทของจำเลยที่ 2 ที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางจุลินธ์ ให้โจทก์โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ซึ่งเป็นผู้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เห็นว่า การร้องขอให้บังคับคดีซึ่งต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่มีการขอให้บังคับคดี ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวได้โดยคู่ความไม่จำเป็นต้องร้องขอ แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 23 คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 คดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2552 โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสองซึ่งรวมถึงหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 141813 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งการดำเนินการของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี แต่ศาลชั้นต้นกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ภายหลังรับคำร้องนานเกือบ 3 เดือน แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว แต่กรณีต้องมีการบังคับคดีต่อไปและนับได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ แต่ระยะเวลาบังคับคดีได้สิ้นสุดลงในระหว่างการไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีไม่อาจมีคำสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงมีเหตุสุดวิสัย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปแล้วเพราะมิฉะนั้นคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์จะไร้ผลเพราะไม่อาจดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้ การที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 141813 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางจุลินธ์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดีตามที่ศาลชั้นต้นให้ขยาย กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการยึด ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ