โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 268, 334, 335 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินที่ลักไปจำนวน 33,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีใหม่
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณานายสำรวย ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยที่ 2 กับพวกเป็นผู้ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 1 ปี ฐานร่วมกันลักทรัพย์ จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 3 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินที่ลักไป จำนวน 33,000 บาท แก่ผู้เสียหายนั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายแล้วเป็นเงิน 10,000 บาท จึงให้จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินที่ลักไปจำนวน 23,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกปลอมและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมเพื่อขอเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตของโจทก์ร่วมกับบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และนำเช็คที่บริษัทออกให้เป็นค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตของโจทก์ร่วมเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางปะกง แล้วใช้บัตรกดเงินอัตโนมัติและเลขรหัสของโจทก์ร่วมเบิกเงินจากบัญชีผ่านตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติ เป็นการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนและความเสียหายของผู้อื่น โดยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน และได้นำเงินที่ลักเอาไปคืนให้แก่โจทก์ร่วมไปแล้ว หรือมีเหตุอื่นตามที่อ้างในฎีกา แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะให้ศาลใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป โดยลงโทษฐานร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอมกระทงหนึ่งและฐานร่วมกันลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่งนั้นไม่ถูกต้อง เพราะตามพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ในการร่วมกับพวกทำปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ร่วมแล้วนำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปให้นายอำนาจ ลงลายมือชื่อเป็นพยานและนำหนังสือมอบอำนาจปลอมไปแสดงแก่พนักงานบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด เพื่อขอเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตของโจทก์ร่วม เมื่อบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ออกเช็คจำนวนเงิน 33,067 บาท เพื่อเป็นค่าเวนคืนกรมธรรม์ให้แก่จำเลยที่ 2 กับพวก จำเลยที่ 2 กับพวกนำเช็คไปเข้าบัญชีของโจทก์ร่วม แล้วลักเอาเงินของโจทก์ร่วมในบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางปะกง โดยการฝากเงินอัตโนมัติและใช้บัตรกดเงินอัตโนมัติและเลขรหัสของโจทก์ร่วมเบิกเงินผ่านตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติไปจำนวน 33,000 บาท เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อจะให้ได้เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นหลัก ซึ่งแม้การกระทำจะเป็นขั้นตอนต่างกัน และโจทก์บรรยายฟ้องเป็นข้อๆ แยกต่างหากจากกัน แต่ก็เกิดจากเจตนาอันเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง นอกจากนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เสียใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพความผิด และเมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้คู่ความฟัง จำเลยที่ 2 ได้นำเงินตามจำนวนที่ร่วมกันลักไป มาวางศาลเพื่อให้โจทก์ร่วมรับไปจนครบถ้วนแล้ว จึงไม่กำหนดให้จำเลยที่ 2 คืนเงินที่ร่วมกันลักไปให้แก่โจทก์ร่วมอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกันคืนเงินที่ลักไปให้แก่โจทก์ร่วม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1