โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 393,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 393,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 มิถุนายน 2553) ต้องไม่เกิน 46,668.75 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นชาวต่างชาติ โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากประเภทสะสมทรัพย์กับจำเลย สาขาสวนพลู ต่อมานายภูริภัตน์ น้องภริยาโจทก์นำหนังสือเดินทางของโจทก์และสมุดคู่ฝากไปถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ โดยปลอมลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินและใบมอบฉันทะ พนักงานของจำเลยดำเนินการเบิกถอนเงิน 393,000 บาท จากบัญชีของโจทก์ ให้แก่นายภูริภัตน์ไป ครั้นโจทก์ติดต่อจำเลยเพื่อขอทำสมุดคู่ฝากเล่มใหม่อ้างว่า สมุดคู่ฝากเล่มเดิมสูญหาย โจทก์จึงทราบว่า เงินในบัญชีของโจทก์เหลืออยู่เพียง 336.20 บาท โจทก์ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่นายภูริภัตน์ เจ้าพนักงานตำรวจได้ให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโจทก์ตรงช่อง "เจ้าของบัญชี" และ "เจ้าของบัญชีผู้มอบฉันทะ" ในใบถอนเงินของกลาง เปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ในคำขอเปิดบัญชีเงินฝาก ขอใช้บริการบัตรอิเล็กทรอนิกส์และตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่เขียนต่อหน้าพนักงานสอบสวนแล้วปรากฏว่ามีคุณสมบัติของการเขียน รูปลักษณะของลายมือชื่อแตกต่างกัน ผู้เชี่ยวชาญจึงลงความเห็นว่า ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันตามรายงานการตรวจพิสูจน์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด จำเลยมีนางสาวณัชญ์ ผู้รับเอกสารจากนายภูริภัตน์และนางสุดารัตน์ พนักงานอำนวยการอาวุโส ทำหน้าที่บริการลูกค้ามาเบิกความในทำนองเดียวกันว่า นายภูริภัตน์ได้นำหนังสือเดินทางโจทก์ บัตรประจำตัวประชาชนของนายภูริภัตน์ สมุดคู่ฝาก ใบมอบฉันทะให้เบิกถอนเงินซึ่งได้มีการกรอกข้อความมาครบถ้วนมายื่น นางสาวณัชญ์ได้ตรวจสอบเอกสารแล้วได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับ ผู้บันทึกรายการเป็นคนแรกในการรับลูกค้า แล้วนางสาวณัชญ์ได้นำเอกสารดังกล่าวให้นางสุดารัตน์ตรวจสอบอีกครั้ง นางสุดารัตน์ได้ตรวจสอบลายมือชื่อที่ลงไว้ด้านหลังในสมุดคู่ฝากว่า เหมือนกับลายมือชื่อในใบถอนเงินหรือไม่ เมื่อพบว่าลายมือชื่อเหมือนกัน นางสุดารัตน์จะต้องลงลายมือชื่อในช่องผู้รับมอบอำนาจ แต่นางสุดารัตน์ได้เบิกความตอบคำถามค้านว่า พยานไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้รับมอบอำนาจในใบถอนเงิน จึงน่าสงสัยว่า นางสุดารัตน์ได้ตรวจสอบลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินแล้วจริงหรือไม่ และเกี่ยวกับเรื่องการมอบฉันทะให้ไปถอนเงินนี้ นางสาวนัทธมน ผู้จัดการจำเลย สาขาสวนพลู ได้เบิกความตอบคำถามค้านว่า ในกรณีชาวต่างชาติมอบฉันทะให้ถอนเงินในบัญชีจนหมด พนักงานจำเลยจะโทรศัพท์สอบถามเจ้าของบัญชีก่อน ในกรณีของโจทก์ที่เบิกถอนเงินจากบัญชีเกือบหมด พนักงานจำเลยจะต้องสอบถามเจ้าของบัญชีเช่นเดียวกัน นางสุดารัตน์เบิกความว่า พยานได้โทรศัพท์ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ให้ไว้ในคำขอเปิดบัญชีของโจทก์แล้วแต่ติดต่อไม่ได้ ส่วนนางสาวณัชญ์ได้เบิกความตอบคำถามค้านว่า พยานได้สอบถามหมายเลขโทรศัพท์ของโจทก์จากนายภูริภัตน์ และโทรศัพท์ติดต่อกับโจทก์ตามหมายเลขที่ได้รับแต่ติดต่อไม่ได้ แต่โจทก์ได้เบิกความตอบคำถามติงว่า พนักงานจำเลยไม่ได้โทรศัพท์สอบถามโจทก์ และโจทก์ไม่ได้ให้หมายเลขโทรศัพท์ไว้กับจำเลย แต่ผู้ที่แนะนำโจทก์ไปเปิดบัญชีได้ให้หมายเลขโทรศัพท์ของผู้นั้นไว้ โจทก์สอบถามผู้ที่แนะนำโจทก์ไปเปิดบัญชีแล้วได้รับแจ้งว่า พนักงานจำเลยไม่ได้โทรศัพท์ไปบอก เห็นว่า พยานจำเลยคงมีแต่พนักงานจำเลยมาเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ เท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนซึ่งมีน้ำหนักน้อยรับฟังไม่ได้ และข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความตอบคำถามค้านของนางสุดารัตน์ว่า พยานเคยได้รับการอบรมเกี่ยวกับการตรวจสอบลายมือชื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พนักงานจำเลยผู้รับฝากเงินมิได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าของจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสาม จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์ ปัญหามีว่าโจทก์มีส่วนผิดด้วยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อ ไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาสมุดคู่ฝากและหนังสือเดินทางของโจทก์ ทั้งยังให้กุญแจสำรองแก่นายภูริภัตน์ โจทก์จึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์เก็บสมุดคู่ฝากและหนังสือเดินทางกับบัตรเอทีเอ็มไว้ในกระเป๋าเดินทางซึ่งเก็บอยู่ในห้องพัก เอกสารดังกล่าวถูกลักไปจากห้องพักโดยการงัดกระเป๋าเดินทาง โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านว่า เหตุที่โจทก์มิได้นำหนังสือเดินทางติดตัวตลอดเนื่องจากโจทก์เป็นคนหลงลืม จึงถือสำเนาเอกสารติดตัวแทน เห็นว่า โจทก์ได้ใช้ความระมัดระวังโดยการเก็บเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ส่วนกุญแจห้องพักสำรองนั้น โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านว่า กุญแจห้องพักมี 3 ชุด อยู่ที่โจทก์ 1 ชุด ภริยาโจทก์ 1 ชุด และภริยาโจทก์ได้ทำกุญแจสำรองให้พี่ชายอีก 1 ชุด นายภูริภัตน์ไปยืมกุญแจจากพี่ชายไปไขเข้าห้องพักของโจทก์และลักเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าว หาใช่โจทก์มอบกุญแจสำรองให้นายภูริภัตน์ ดังที่จำเลยฎีกา กรณียังถือไม่ได้ว่า เป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เช่นกัน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินที่ถูกถอนไปแก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 8,000 บาท แทนโจทก์