โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 295, 371
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางจันทิมา และนายศุภฤกษ์ มารดาและบิดาของนางสาวนพมาศ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่น ส่วนข้อหาอื่นโจทก์ร่วมทั้งสองไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต และโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 3,736,415 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 มกราคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
นายสันธิชัย ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
นายธนพล ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 116,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 371 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 12 ปี ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 1,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 32 ปี 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปี 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยก ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง เป็นเงิน 2,680,415 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 เป็นเงิน 28,000 บาท และ 65,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสามจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 5 มกราคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสองและผู้ร้องทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 18 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 30 ปี 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่สำหรับดอกเบี้ยในต้นเงินค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยทั้งสองชำระอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2563 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 หลังจากนั้นให้ชำระอัตราร้อยละ 5 ต่อปี เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสองและผู้ร้องทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนคดีแพ่งชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 1,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ (4) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ส่วนความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งสองกับผู้เสียหายทั้งสองมีส่วนร่วมในการก่อเหตุทะเลาะวิวาท และจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาจำเลยทั้งสองดังกล่าว ดังนี้ ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร และความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาจึงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2563 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา ถึง 22 นาฬิกา นายสันธิชัย ผู้เสียหายที่ 1 กับนางสาวจุฑาทิพย์ นายธนพล ผู้เสียหายที่ 2 นายธนพงษ์ มารดากับยายของผู้เสียหายที่ 2 และนางสาวนพมาศ ผู้ตาย นางสาวรัตวรรณ กับนางสาวอัญญารักษ์ ต่างไปเที่ยวงานปีใหม่ที่สะพานสารสิน แล้วมาพบกันบริเวณสถานที่จัดคอนเสิร์ต ต่อมาเวลาประมาณ 24 นาฬิกา ของวันที่ 5 มกราคม 2563 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 กำลังเดินไปปัสสาวะบริเวณตอม่อของสะพานสารสินหน้าเวทีคอนเสิร์ต จำเลยที่ 1 ถีบหลังผู้เสียหายที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 ชกต่อยผู้เสียหายที่ 1 หลังจากนั้นผู้เสียหายที่ 1 วิ่งกลับไปยังสถานที่จัดคอนเสิร์ตเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ผู้เสียหายที่ 2 ฟัง ผู้เสียหายทั้งสอง ผู้ตาย นางสาวรัตวรรณ นายธนพงษ์ นางสาวนุสรา และนายบัณฑิต จึงเดินออกจากสถานที่จัดคอนเสิร์ต ระหว่างทางผู้เสียหายที่ 1 พบจำเลยทั้งสองกับพวกจึงชี้บอกผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายทั้งสองเดินไปหาจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ใช้ขวดเบียร์ตีศีรษะผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 1 ครั้ง จนขวดเบียร์แตกกระเด็นใส่ใบหน้าผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายแก่กาย แล้วจำเลยทั้งสองต่างชักอาวุธมีดที่นำติดตัวมาถือไว้ จำเลยที่ 1 พูดท้าทายให้ผู้เสียหายที่ 2 ตามไปข้างนอก ผู้เสียหายที่ 2 จึงไปหยิบอาวุธมีดจากร้านอาหารแล้วเดินตามจำเลยทั้งสองไป โดยมีผู้ตาย นางสาวรัตวรรณ นายธนพงษ์ นางสาวนุสรา และนายบัณฑิตเดินตามหลังผู้เสียหายที่ 2 ไปด้วย จำเลยทั้งสองเดินถอยหลังเข้าไปในเต็นท์จนจำเลยที่ 1 เดินถอยหลังชนกับรถขายของล้มลง หลังจากนั้นผู้เสียหายที่ 2 ถูกอาวุธมีดฟันและแทงที่บริเวณหน้าอกและช่องท้อง เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ส่วนผู้ตายถูกอาวุธมีดแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้าย ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยทั้งสองหลบหนีไป
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกมีว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า เมื่อจำเลยทั้งสองชักอาวุธมีดออกมา ผู้เสียหายที่ 2 จึงรีบวิ่งไปหยิบอาวุธมีดที่ร้านอาหารในละแวกนั้นมาถือไว้ป้องกันตัว แล้วตามจำเลยทั้งสองไป เมื่อจำเลยที่ 1 ล้มลงและลุกขึ้นมา จำเลยที่ 1 พุ่งเข้าหาผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ไม่รู้ว่าถูกอาวุธมีดแทง ผู้เสียหายที่ 2 มองเห็นจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ข้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ถืออาวุธมีดตามจำเลยที่ 1 มา หลังจากนั้นผู้เสียหายที่ 2 ไม่รู้ว่าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นอีก เมื่อผู้เสียหายที่ 2 รู้ว่าถูกแทง จึงร้องถามว่าแทงผู้เสียหายที่ 2 ทำไม และวิ่งออกไปนอกเต็นท์ แตกต่างจากคำให้การชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ชูอาวุธมีดพกตวัดขึ้นและชี้มาที่ผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 ไม่แน่ใจว่าจังหวะนั้นถูกปลายอาวุธมีดของจำเลยที่ 1 แทงเข้าช่องท้องหรือไม่เพราะยืนหันหน้าเข้าหากัน ผู้เสียหายที่ 2 หันไปเห็นมีดอีโต้วางอยู่บนเขียงในร้านขายอาหารตามสั่ง ผู้เสียหายที่ 2 จึงเดินไปหยิบเอามาไว้ที่ตัวเพื่อป้องกันพวกของจำเลยที่ 1 ผู้เสียหายที่ 2 ใช้มีดอีโต้ขู่กลุ่มจำเลยที่ 1 และไล่ให้ออกไป จำเลยที่ 1 กับพวก 3 คน เดินออกไปที่บริเวณหน้าเต็นท์ ผู้เสียหายที่ 2 เดินตามไปโดยมีนางสาวรัตวรรณเดินตามไปด้วย จำเลยที่ 1 กับพวกวิ่งเข้าไปในเต็นท์ ผู้เสียหายที่ 2 ตามเข้าไปในเต็นท์เห็นจำเลยที่ 1 วิ่งชนรถกระบะแล้วล้มลง ผู้เสียหายที่ 1 ใช้เท้าเตะจำเลยที่ 1 เพื่อนของจำเลยที่ 1 รูปร่างสูงไว้ผมยาวใส่หมวกเข้ามาช่วยจำเลยที่ 1 โดยเตะผู้เสียหายที่ 2 มีดอีโต้ที่ผู้เสียหายที่ 2 ถืออยู่จึงหลุดมือไป จำเลยที่ 1 กับเพื่อนซึ่งมีอาวุธมีดอยู่ในมือใช้อาวุธมีดแทงที่ท้องของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เปิดเสื้อดูเห็นมีแผลถูกแทงและเลือดไหล จึงวิ่งออกมานอกเต็นท์ก็ตาม แต่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง มีนางสาวรัตวรรณเบิกความว่า ขณะที่พยานอยู่ห่างจากจำเลยทั้งสองประมาณ 4 ถึง 5 เมตร จำเลยที่ 1 วิ่งในลักษณะถอยไปด้านหลังจนกระทั่งจำเลยที่ 1 วิ่งถอยหลังไปชนรถขายของ จำเลยที่ 1 ล้มลง ขณะนั้นผู้เสียหายที่ 2 เดินนำหน้าพยานไปยังจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ลุกขึ้นมาพร้อมกับพุ่งเข้ามายังพยานและผู้เสียหายที่ 2 และนายธนพงษ์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 วิ่งถอยหลังไปชนรถกระบะแล้วล้มลง ขณะนั้นพยานอยู่ห่างจากจำเลยทั้งสองประมาณ 4 เมตร จำเลยที่ 2 ยืนอยู่ด้านหลังจำเลยที่ 1 เพียงเอื้อมมือถึงกัน พยานเห็นจำเลยที่ 1 ถืออาวุธมีดง้างไว้ข้างลำตัวคมมีดชี้ไปด้านหน้าวิ่งสวนกลับมา จำเลยที่ 1 วิ่งมาทางนางสาวรัตวรรณ เมื่อได้ความจากร้อยตำรวจเอกอัครพล พนักงานสอบสวนว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟฟ้ามองเห็นได้ชัด เชื่อว่านางสาวรัตวรรณและนายธนพงษ์เห็นจำเลยที่ 1 วิ่งถืออาวุธมีดไปทางนางสาวรัตวรรณและผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 1 พุ่งเข้าหาผู้เสียหายที่ 2 ทั้งตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่า ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าท้องเพียงบาดแผลเดียว ส่วนบาดแผลที่เหลือเป็นบาดแผลฉีกขาด ซึ่งผู้เสียหายที่ 2 ให้การชั้นสอบสวนว่า ใบหน้าบริเวณคิ้วข้างขวาถูกเศษขวดแก้วบาด ใบหูขวาถูกเศษขวดแก้วบาด และต้นคอขวาถูกเศษขวดแก้วบาด ดังนี้ หากจำเลยที่ 1 กับเพื่อนซึ่งมีอาวุธมีดอยู่ในมือใช้อาวุธมีดแทงที่ท้องของผู้เสียหายที่ 2 ดังที่ผู้เสียหายที่ 2 ให้การไว้ในชั้นสอบสวน อันแสดงให้เห็นได้ว่าผู้เสียหายที่ 2 ต้องถูกอาวุธมีดแทงที่หน้าท้อง 2 ครั้ง แล้ว บาดแผลถูกแทงบริเวณที่หน้าท้องของผู้เสียหายที่ 2 ต้องมี 2 บาดแผล เช่นนี้ บาดแผลถูกแทงของผู้เสียหายที่ 2 ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ จึงขัดแย้งกับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 2 เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนางสาวรัตวรรณและนายธนพงษ์ประกอบกับบาดแผลถูกแทงที่หน้าท้องของผู้เสียหายที่ 2 แล้ว เชื่อว่า คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 เป็นจริงยิ่งกว่าคำให้การชั้นสอบสวน คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ แม้ผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 ก็ตาม แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ถืออาวุธมีดยืนเผชิญหน้ากับผู้เสียหายที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 พุ่งเข้าหาผู้เสียหายที่ 2 หลังจากนั้นผู้เสียหายที่ 2 รู้ว่าตนเองถูกแทง ดังนี้ ผู้ที่ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 จะเป็นบุคคลอื่นไปไม่ได้นอกจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบจึงมีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ถืออาวุธมีดพุ่งเข้าหาผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้อาวุธมีดแทงถูกบริเวณหน้าท้องของผู้เสียหายที่ 2 ลึกประมาณ 4 เซนติเมตร บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 เลือกแทงบริเวณหน้าท้อง ซึ่งเป็นที่ตั้งของอวัยวะสำคัญที่อยู่ภายในร่างกาย จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้เสียหายที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า หลังจากที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 แล้ว จำเลยทั้งสองต่างคนต่างชักอาวุธมีดออกมา แล้วจำเลยที่ 2 ก็ตามจำเลยที่ 1 เข้าไปในเต็นท์ ทั้งขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็อยู่บริเวณที่เกิดเหตุใกล้จำเลยที่ 1 หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็หลบหนีไปพร้อมจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ส่งเสียงร้องท้าทายให้ผู้เสียหายที่ 2 เข้าร่วมต่อสู้และไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 ด้วยก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 เท่ากับเป็นการสมทบกำลังให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดและเป็นพฤติการณ์อันต้องถือว่าเป็นการร่วมกันกระทำความผิดโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลที่อาจเกิดขึ้นร่วมกัน จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมด้วยในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีนางสาวรัตวรรณเบิกความว่า จำเลยที่ 1 พุ่งเข้ามายังพยานและผู้เสียหายที่ 2 ขณะนั้นผู้ตายยืนอยู่ด้านขวาของพยาน พยานพยายามปัดผู้ตายให้หลบ แต่ไม่ทัน จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายบริเวณหน้าอกด้านซ้าย แล้วจำเลยที่ 1 ชักอาวุธมีดออกวิ่งฝ่าผู้คนออกไป นางสาวนุสราเบิกความว่า จำเลยที่ 1 วิ่งมาชนผู้ตาย พยานไม่ทันสังเกตว่าจำเลยที่ 1 ถืออะไร เมื่อจำเลยที่ 1 ชนผู้ตายแล้ว ผู้ตายล้มลงไปนอนกับพื้น เมื่อผู้ตายลุกขึ้นยืน พยานเห็นมีโลหิตไหลออกมาใต้ราวนมของผู้ตาย แล้วผู้ตายล้มลงไปอีก และนายธนพงษ์เบิกความว่า จำเลยที่ 1 วิ่งมาทางนางสาวรัตวรรณ ซึ่งอยู่ติดกับผู้ตาย จำเลยที่ 1 ชนผู้ตาย ผู้ตายล้มลง ซึ่งพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองดังกล่าวเบิกความสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญโดยไม่มีข้อพิรุธแต่อย่างใด เมื่อวินิจฉัยข้างต้นว่าบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟฟ้ามองเห็นได้ชัดแล้ว เชื่อว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองนั้นเห็นการกระทำของจำเลยที่ 1 แม้นางสาวนุสราและนายธนพงษ์ไม่ได้เบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายดังเช่นคำเบิกความนางสาวรัตวรรณก็ตาม แต่นางสาวนุสราและนายธนพงษ์ก็เห็นจำเลยที่ 1 วิ่งชนผู้ตายจนล้มลงและนางสาวนุสราเห็นผู้ตายมีโลหิตไหลออกมาใต้ราวนมของผู้ตายตรงตามที่นางสาวรัตวรรณเห็นจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายที่บริเวณหน้าอกซ้ายและรายงานการชันสูตรพลิกศพ ที่ระบุว่าผู้ตายมีบาดแผลฉีกขาดที่หน้าอกข้างซ้าย คำเบิกความของนางสาวรัตวรรณ นางสาวนุสรา และนายธนพงษ์ จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตาย แม้อาวุธมีดที่นายธนพงษ์นำมาส่งมอบให้พนักงานสอบสวนยังมีข้อสงสัยว่าเป็นอาวุธมีดที่จำเลยที่ 1 ใช้กระทำความผิดหรือไม่ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปยังบริเวณที่เกิดเหตุ เช่นนี้ อาวุธมีดดังกล่าวจะเป็นอาวุธมีดที่จำเลยที่ 1 ใช้กระทำความผิดหรือไม่ ก็ไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายบริเวณหน้าอกข้างซ้ายซึ่งเป็นที่ตั้งของอวัยวะสำคัญภายในร่างกาย จำเลยที่ 1 ย่อมเล็งเห็นได้ว่าผู้ตายอาจถึงแก่ความตายได้ ฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบจึงมีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ร่วมทั้งสองและผู้ร้องทั้งสองตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ร้องทั้งสองเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องทั้งสองมีส่วนร่วมกระทำความผิด และร่วมกันใช้อาวุธมีดฟันและแทงพยายามฆ่าผู้ร้องที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายจนถึงแก่ความตายแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสองและผู้ร้องทั้งสอง จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสองและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ทั้งค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนดให้โจทก์ร่วมทั้งสองและผู้ร้องทั้งสองนั้นเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับฎีกาโจทก์ร่วมทั้งสองที่ว่า มีเหตุที่จะกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 20 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 18 ปี อันเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคสอง ที่โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 20 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร ไม่ชอบดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ศาลฎีกาต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในส่วนนี้ และเมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มาตรา 7 วรรคสอง กำหนดว่า อัตราดอกเบี้ยอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุกสามปี แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังมิได้กำหนดกรณีดังกล่าวไว้ในคำพิพากษา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2563 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสองและผู้ร้องทั้งสอง แต่อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 หากกระทรวงการคลังออกพระราชกฤษฎีกาปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่วินิจฉัยความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร ยกฎีกาโจทก์ร่วมทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ