ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 73/2560 หมายเลขแดงที่ 633/2560 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
ผู้คัดค้านยื่นคำค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 73/2560 หมายเลขแดงที่ 633/2560 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองรถยนต์ส่วนบุคคลยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน กร 4912 นครราชสีมา โดยเช่าซื้อกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องเอาประกันภัยรถคันดังกล่าวไว้กับผู้คัดค้าน ทุนประกันภัย 400,000 บาท เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามสหาย ทรานสปอร์ต ขอเช่ารถคันดังกล่าวจากผู้ร้องเพื่อใช้ในโครงการวางท่อก๊าซของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา ค่าเช่าเดือนละ 30,000 บาท จนถึงเดือนเมษายน 2558 ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามสหาย ทรานสปอร์ต ไม่ชำระค่าเช่ารถและไม่สามารถติดตามรถได้ วันที่ 13 พฤษภาคม 2558 ผู้ร้องร่วมกับผู้เสียหายรายอื่นเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ในช่วงเดือนสิงหาคม 2558 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายบัญชา กับพวกในข้อหาฉ้อโกงประชาชน โดยนายบัญชาปลอมบัตรประจำตัวประชาชนของนายอนุชา อ้างว่าเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างดังกล่าว แล้วหลอกลวงผู้เสียหายหลายรายรวมทั้งผู้ร้องว่ามีโครงการเช่ารถดังกล่าว ผู้เสียหายหลายรายรวมทั้งผู้ร้องหลงเชื่อส่งมอบรถเข้าร่วมแล้วถูกเอารถไป ต่อมานายบัญชากับพวกถูกฟ้องต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ระหว่างพิจารณานายบัญชาหลบหนี ศาลมีคำพิพากษาจำคุกพวกของนายบัญชาซึ่งให้การรับสารภาพ ให้จำคุก 2 ปี และให้คืนหรือใช้ราคารถแก่ผู้เสียหายทุกรายเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 3509/2558 ผู้ร้องเรียกร้องให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ผู้คัดค้านปฏิเสธ ผู้ร้องจึงเสนอเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการเป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 73/2560 ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้าน ต่อมาอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความ เนื่องจากการกระทำของนายบัญชาเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้อุบาย วันที่ผู้ร้องส่งมอบรถให้นายบัญชาจึงเป็นวันที่การกระทำความผิดสำเร็จ และถือเป็นวันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องส่งมอบรถวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยแล้ว ชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งต้องเพิกถอนคำชี้ขาดนั้นหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นว่าวันวินาศภัยคือวันใด ซึ่งผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไว้แล้วว่า นายบัญชาไม่มีเจตนาเช่ารถแต่แรกแต่วางแผนครอบครองรถโดยใช้กลอุบายอันเป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ต้องถือวันที่ได้ครอบครองมาเป็นวันเกิดวินาศภัย ผู้ร้องส่งมอบรถวันที่ 20 ตุลาคม 2557 แต่เสนอข้อพิพาทวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 จึงพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ข้อเสนอข้อพิพาทจึงขาดอายุความ ส่วนศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่า สิทธิในการครอบครองรถถูกตัดไปเมื่อนายบัญชาไม่จ่ายค่าเช่าในเดือนเมษายน 2558 ในประเด็นนี้เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นายบัญชากับพวกร่วมกันลักรถยนต์หมายเลขทะเบียน กร 4912 นครราชสีมา ซึ่งผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองโดยใช้กลอุบายว่า ต้องการเช่ารถยนต์คันดังกล่าวเพื่อใช้ในโครงการวางท่อก๊าซของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา ผู้ร้องหลงเชื่อนำรถยนต์คันดังกล่าวไปมอบให้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 และได้ค่าเช่าตอบแทนเดือนละ 30,000 บาท ในวันที่ 20 ตุลาคม 2557 ที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายบัญชากับพวก แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่นายบัญชากับพวกวางไว้เพื่อประสงค์จะลักทรัพย์รถยนต์คันดังกล่าว แต่ในขณะนั้นนายบัญชากับพวกยังมิได้ลงมือแย่งการครอบครองหรือเอารถยนต์ไปจากผู้ร้อง จึงไม่อาจถือได้ว่า วันดังกล่าวเป็นวันที่ลักทรัพย์สำเร็จ ต่อมาเมื่อนายบัญชากับพวกไม่ชำระค่าเช่าแล้วพากันหลบหนีไปพร้อมรถยนต์คันดังกล่าว จึงถือได้ว่านายบัญชากับพวกเอารถยนต์คันดังกล่าวไปจากการครอบครองของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องไม่อาจตามหาตัวนายบัญชากับพวกได้ จึงให้ตัวแทนไปทำการร้องทุกข์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2558 ถือได้ว่าวันที่ร้องทุกข์เป็นวันที่ผู้ร้องถูกนายบัญชากับพวกลักรถยนต์ไปอันเป็นวันวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 จึงยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีของผู้ร้องยังไม่ขาดอายุความ ดังนั้น ที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าคดีของผู้ร้องขาดอายุความการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (2) (ข) ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ