โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 7,128,633.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,836,485.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2559 แก่โจทก์ที่ 1 หากคืนไม่ได้ให้จำเลยชำระเงินแทน 4,071,222.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว จนกว่าจำเลยจะคืนหรือชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เสร็จสิ้นและให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ส. ฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2559 แก่โจทก์ที่ 2 หากคืนไม่ได้ให้จำเลยชำระเงินแทน 1,064,777.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว จนกว่าจำเลยจะคืนหรือชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 เสร็จสิ้น
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองและขอให้บังคับโจทก์ที่ 1 ชำระเงิน 7,790,254.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,605.839.35 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 1 ชำระเสร็จแก่จำเลย และขอให้บังคับโจทก์ที่ 2 ชำระเงิน 3,603,479.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,518,175.32 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 2 ชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 3,776,298.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 กรกฎาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,066,051.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 กรกฎาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าชำระแก่โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2559 แก่โจทก์ที่ 1 หากคืนไม่ได้ให้จำเลยชำระเงิน 4,071,222.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว จนกว่าจำเลยจะคืนหรือชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เสร็จสิ้นและให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ส. ฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2559 แก่โจทก์ที่ 2 หากคืนไม่ได้ให้จำเลยชำระเงิน 1,064,777.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว จนกว่าจำเลยจะคืนหรือชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 เสร็จสิ้นคำขออื่นของโจทก์ทั้งสองนอกจากนี้ให้ยก กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องแย้งให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ที่ 1 ชดใช้เงินให้แก่จำเลย 7,790,254.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,605,839.35 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 1 จะชำระให้แก่จำเลยเสร็จสิ้น กับให้โจทก์ที่ 2 ชดใช้เงินให้แก่จำเลย 3,603,479.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,518,175.32 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 2 จะชำระให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นตามฟ้องแย้งค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 และวันที่ 13 มีนาคม 2560 โจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์ประตู หน้าต่างอะลูมิเนียม กระจก สัญญาซื้อขายไม้เนื้อแข็ง กรุไม้อัดยางกรุกระจกเงา และสัญญาจ้างเหมาติดตั้งประตู หน้าต่าง อะลูมิเนียม กระจก สัญญาจ้างเหมาติดตั้งไม้เนื้อแข็ง กรุไม้อัด กรุกระจกเงา กับจำเลย รวมสี่สัญญา โดยมีมูลค่าตามสัญญาซื้อขายและสัญญาจ้างงานเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 17,968,519.60 บาท สัญญาทั้งสี่ดังกล่าวมีกำหนดให้โจทก์ทั้งสองส่งมอบงานแก่จำเลยภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ภายหลังจากโจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญากับจำเลยแล้ว โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2559 เป็นเงิน 4,071,222.77 บาท และหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ส. ฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2559 เป็นเงิน 1,064,777.22 บาท ส่งมอบไว้ให้แก่จำเลยตามลำดับ ต่อมาเมื่อโจทก์ทั้งสองทำงานไปได้สักระยะหนึ่ง โจทก์ทั้งสองได้ส่งมอบงานในงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 ให้แก่จำเลยเรียบร้อยแล้ว และจำเลยได้ชำระเงินในงานงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 แก่โจทก์ทั้งสองเรียบร้อยแล้วเช่นกัน ต่อมาโจทก์ที่ 2 ได้มีหนังสือลงวันที่ 4 เมษายน 2560 ถึงจำเลยเพื่อขอขยายระยะเวลาในการส่งมอบงานงวดที่เหลือออกไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2560 โดยจำเลยได้ยินยอมอนุญาตให้ขยายระยะเวลาในการส่งมอบงานได้ตามที่โจทก์ทั้งสองมีหนังสือขอมา และต่อมาในวันที่ 2 มิถุนายน 2560 จำเลยได้มีหนังสือเร่งรัดการทำงานไปยังโจทก์ทั้งสอง โดยขอให้โจทก์ทั้งสองพยายามอย่างสุดความสามารถและเร่งรัดงานให้แล้วเสร็จในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้มีหนังสือลงวันที่ 5 มิถุนายน 2560 เรื่องขอขยายระยะเวลาในการส่งมอบงานโดยขอเลื่อนกำหนดส่งมอบงานให้แล้วเสร็จไปเป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2560 จำเลยได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ขอสงวนสิทธิในการหักค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายจากเงินประกันผลงานของโจทก์ทั้งสองโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้ โจทก์ทั้งสองได้ส่งมอบงานงวดที่ 4 ถึงงวดที่ 6 ให้แก่จำเลย และได้วางใบแจ้งหนี้/วางบิล ในงวดงานที่ 4 ถึงงวดที่ 6 แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยชำระค่างวดงานในงวดที่ 4 ถึงงวดที่ 6 แต่จำเลยมิได้ชำระแก่โจทก์ทั้งสอง และต่อมาในวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 จำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและห้ามพนักงานโจทก์ทั้งสองเข้าทำงานในพื้นที่ รวมถึงได้สงวนสิทธิคิดค่าปรับและเรียกคืนมัดจำที่โจทก์ทั้งสองได้รับไปจากจำเลย 1,920,406.90 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า การบอกเลิกสัญญาของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สัญญาซื้อขายและสัญญาจ้างเหมา ที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยทำกันไว้มีกำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้หรือระยะเวลาในการส่งมอบงานให้แล้วเสร็จในวันที่ 31 มีนาคม 2560 แต่ได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสองและพยานจำเลยว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองทำงานได้ระยะหนึ่ง โจทก์ทั้งสองมีหนังสือขอเลื่อนการส่งมอบงานออกไปเป็นสิ้นเดือนพฤษภาคม 2560 และจำเลยได้มีหนังสืออนุญาตตามที่โจทก์ทั้งสองขอแต่ได้ให้โจทก์ทั้งสองใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถและเร่งรัดงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 มิฉะนั้นจำเลยมีความจำเป็นต้องชะลอการจ่ายเงินในงวดงานถัดไป และสงวนสิทธิในการเรียกค่าเสียหายและค่าปรับตามสัญญาในชั้นต้น แสดงว่าจำเลยถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสำคัญอย่างไรก็ดี หลังจากนั้นได้ความจากพยานโจทก์ปากนายศราวุฒิ ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ 2 ไม่สามารถติดตั้งกระจกอะลูมิเนียมได้เนื่องจากงานโครงสร้างไม่เรียบร้อย จึงขอขยายระยะเวลาออกไปถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2560 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายคณิสรตัวแทนโจทก์ทั้งสองและผู้จัดการโครงการของจำเลยซึ่งที่ประชุมได้ขยายระยะเวลาในการทำงานออกไปถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 แต่โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับการยืนยันเป็นหนังสือ โจทก์ทั้งสองจึงมีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องของการล่าช้าไปยังจำเลยว่า เกิดจากการล่าช้าของจำเลยที่ไม่สามารถส่งพื้นที่ทำงานให้โจทก์ทั้งสอง และพยานจำเลยปากนางสาวเป็นธรรม เบิกความเจือสมพยานโจทก์ทั้งสองว่า นายชัยยุทธ ที่ลงลายมือชื่อในข้อความเขียนด้วยหมึกปากกาสีน้ำเงิน เป็นที่ปรึกษาของประธานกรรมการจำเลย โดยเขียนทำนองว่าขอขยายเวลาการส่งมอบงานของโจทก์ทั้งสองไปถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 แม้นายชัยยุทธจะไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยตามที่จำเลยอ้าง แต่ในขณะนั้นย่อมทำให้โจทก์ทั้งสองเข้าใจได้ว่าจำเลยขยายระยะเวลาให้โจทก์ทั้งสองส่งมอบงาน เมื่อพิจารณาประกอบกับหลังจากพ้นวันที่ 15 มิถุนายน 2560 โจทก์ทั้งสองยังคงทำงานอยู่ที่ไซด์งานของจำเลยต่อไปจนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 โดยที่จำเลยมิได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์ทั้งสองทันทีเมื่อพ้นวันที่ 15 มิถุนายน 2560 นอกจากนี้ยังได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสองและพยานจำเลยว่าโจทก์ทั้งสองได้ส่งมอบงานในงวดที่ 6 ในวันที่ 23 มิถุนายน 2560 และเจ้าหน้าที่จำเลยลงลายมือชื่อรับมอบงานในวันที่ 27 มิถุนายน 2560 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยไม่ยอมรับมอบงานหรือสงวนสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับในเวลารับมอบงานทำให้จำเลยเสียสิทธิในการเรียกเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยมิได้ถือเอากำหนดส่งมอบงานของโจทก์ทั้งสองในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 เป็นสำคัญ และถือว่าสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นสัญญาไม่มีกำหนดระยะเวลาส่งมอบงานกันไว้อย่างแน่นอนการที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญากับโจทก์ทั้งสองนั้น จำเลยจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้น ถ้าโจทก์ทั้งสองไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่จำเลยกำหนด จำเลยจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 การที่จำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 บอกเลิกสัญญากับโจทก์ทั้งสองทันที โดยมิได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ทั้งสองปฏิบัติตามสัญญา การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลให้สัญญาเลิกกัน อย่างไรก็ดีพฤติการณ์ที่จำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์ทั้งสอง และในวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้าง โดยไม่ปรากฏว่าภายหลังวันที่ 15 มิถุนายน 2560 โจทก์ทั้งสองกับจำเลยแต่ละฝ่ายได้มีการเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามสัญญาต่อกัน จึงถือว่าคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยาย โดยไม่ถือว่าโจทก์ทั้งสองผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสอง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการที่สองมีว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเพียงใด เห็นว่า เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเลิกกัน โจทก์ทั้งสองและจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นงานอันได้กระทำให้ การชดใช้คืนให้ใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม สำหรับงานงวดที่ 4 ถึงงวดที่ 6 นั้น โจทก์ทั้งสองได้นำใบแจ้งหนี้/วางบิลในงานงวดที่ 4 ถึงงวดที่ 6 มาแสดงต่อศาลและเมื่อได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าว ก็ได้ความว่าได้มีพนักงานจำเลยลงลายมือชื่อตรวจรับงานไว้แล้ว โดยมิได้มีหนังสือปฏิเสธไม่รับงานหรือให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขงานทั้งสามงวดดังกล่าวอย่างใด ซึ่งในส่วนนี้พยานจำเลยก็ได้เบิกความเจือสมกับเอกสารดังกล่าวด้วย โดยพยานจำเลยได้เบิกความว่า ในส่วนงานงวดที่ 4 ถึงงวดที่ 6 นั้น พนักงานจำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องตรวจรับงานเรียบร้อยแล้วโดยจำเลยไม่เคยมีหนังสือโต้แย้งหรือเรียกร้องให้โจทก์ทั้งสองแก้ไขงานในงวดที่ 4 ถึงงวดที่ 6 แต่อย่างใด ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้ส่งมอบงานในงวดที่ 4 ถึงงวดที่ 6 แก่จำเลยตรวจรับเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินค่างานงวดที่ 4 ถึงงวดที่ 6 และเงินประกันค่าสินค้า 5 เปอร์เซ็นต์ที่จำเลยได้หักไว้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยจำเลยต้องชำระค่างานงวดที่ 4 ถึงงวดที่ 6 เป็นเงินจำนวน 3,553,990.05 บาท และต้องชำระเงินประกันค่าสินค้า 5 เปอร์เซ็นต์เป็นเงินจำนวน 222,308.80 บาท แก่โจทก์ที่ 1 รวมเป็นเงิน 3,776,298.85 บาท และจำเลยต้องชำระเงินค่างานงวดที่ 4 ถึงงวดที่ 6 เป็นเงินจำนวน 1,015,649.26 บาท และต้องชำระเงินประกันค่าสินค้า 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงินจำนวน 50,402.25 บาท แก่โจทก์ที่ 2 รวมเป็นเงิน 1,066,051.51 บาท
อนึ่ง ส่วนอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดให้ร้อยละ 5 ต่อปี ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มาตรา 7 และ 224 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน สำหรับหนังสือค้ำประกันนั้น เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเลิกกันแล้วจำเลยก็มีหน้าที่ต้องคืนหนังสือค้ำประกันที่โจทก์ทั้งสองมอบให้จำเลยแก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนที่โจทก์ทั้งสองขอให้คืนหนังสือค้ำประกัน หากคืนไม่ได้ให้จำเลยชำระเงิน 4,071,222.77 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยชำระเงิน 1,064,777.22 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว จนกว่าจำเลยจะคืนหรือชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้นนั้น เห็นว่า เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยเลิกกันโดยปริยาย โดยโจทก์ทั้งสองมิต้องรับผิดต่อจำเลย ดังนั้น จำเลยไม่อาจนำหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับไปเรียกให้ธนาคารรับผิดตามหนังสือค้ำประกันได้ จำเลยจึงมีหน้าที่เพียงคืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น โจทก์ทั้งสองไม่อาจบังคับให้จำเลยชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับแก่โจทก์ทั้งสองได้ จึงให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งสองที่ว่า หากจำเลยไม่คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแทน
พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,776,298.85 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 กรกฎาคม 2560) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,066,051.51 บาทแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 กับให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันเของธนาคาร ก. ฉบับลงวันที่ 9 ธันวาคม 2559 แก่โจทก์ที่ 1 และคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ส. ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2559 แก่โจทก์ที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ