โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์หมายเลขทะเบียน ตค 4442 สุโขทัย ให้จำเลยส่งมอบรถแทรกเตอร์คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 3,000,000 บาท ให้จำเลยใช้ค่าขาดประโยชน์ 7,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 7,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับขอให้ศาลกล่าวในคำพิพากษาว่าสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายในอนาคตและขอให้กำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษให้แก่โจทก์นอกจากความเสียหายที่แท้จริงด้วย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถแทรกเตอร์หมายเลขทะเบียน ตค 4442 สุโขทัย จำเลยประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการสินเชื่อ โจทก์ไปขอกู้เงินจำเลย 300,000 บาท พนักงานจำเลยให้โจทก์ส่งมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถและโอนกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์ให้แก่จำเลยและให้โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีเงื่อนไขผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 24 งวด งวดละ 19,795 บาท หลังทำสัญญาโจทก์ผ่อนชำระเพียง 10 งวดเศษ แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนครบระยะเวลาตามสัญญา จำเลยจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้โจทก์ส่งมอบรถแทรกเตอร์คืน ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2556 จำเลยติดตามยึดรถแทรกเตอร์คืนจากโจทก์ได้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยมีผลใช้บังคับหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถแทรกเตอร์กับจำเลย ทั้งมีการผ่อนชำระเงินค่าเช่าซื้อมาถึง 10 งวดเศษแล้วก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามแผ่นป้ายโฆษณาของจำเลย แผ่นแรกระบุข้อความว่า บริษัทศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด (มหาชน) ให้เงินกู้ค่ะ มีบ้านมีรถเงินสดทันใจ ไม่โอนเล่ม ไม่จดจำนอง และแผ่นที่ 2 ภาพที่ 1 ด้านบนระบุข้อความว่า ให้เงินกู้ จัด 2 แสน รถยนต์ไม่ต้องโอน ส่วนภาพที่ 2 ด้านล่างระบุข้อความว่า ให้เงินกู้ค่ะ ทะเบียนรถทุกชนิด รถไถ โฉนดบ้าน ที่ดิน คอนโด แม้แผ่นป้ายโฆษณาทั้งสองแผ่นดังกล่าวจะระบุรายละเอียดให้ติดต่อกับสาขาของจำเลยคนละสาขา และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อคนละหมายเลขก็ตาม แต่แผ่นป้ายโฆษณาทั้งสองแผ่นล้วนแล้วแต่เป็นการโฆษณากิจการของจำเลยที่ระบุให้เงินกู้โดยไม่มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่า เฉพาะสาขาใด อย่างไร ประกอบกับจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าเงื่อนไขตามแผ่นป้ายโฆษณาแต่ละแผ่นเป็นเงื่อนไขของแต่ละสาขาแยกต่างหากจากกัน ไม่ใช่เงื่อนไขเดียวกันทุกสาขา ทั้งที่จำเลยมีภาระการพิสูจน์ถึงการให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยที่เป็นฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามที่โจทก์นำสืบซึ่งได้ความว่า ก่อนที่โจทก์และจำเลยจะทำสัญญาเช่าซื้อ โจทก์เข้าติดต่อทำธุรกรรมทางการเงินกับจำเลยเนื่องจากการโฆษณาตามแผ่นป้ายทั้งแผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2 ดังกล่าว แผ่นป้ายโฆษณาดังกล่าวจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์ผู้บริโภคกับจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 เมื่อรถที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยเป็นรถแทรกเตอร์ ลักษณะขุดตักซึ่งปรากฏภาพรถประเภทเดียวกันในแผ่นป้ายโฆษณาแผ่นแรกที่ระบุว่าไม่โอนเล่ม ซึ่งต่างจากภาพรถที่ปรากฏในแผ่นป้ายโฆษณาแผ่นที่ 2 ภาพที่ 1 ที่เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั่วไป การที่โจทก์ไปติดต่อขอกู้เงินกับจำเลยแล้วจำเลยให้โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อและมีการโอนกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์ให้แก่จำเลยนั้นจึงไม่เป็นไปตามการโฆษณาของจำเลย การโฆษณาดังกล่าวของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการตามมาตรา 22 (2) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 อันเป็นการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคมีลักษณะเป็นการลวงผู้บริโภคซึ่งมีโทษทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 และเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งยังเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิไม่สุจริตโดยไม่ได้คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 12 ด้วย การทำสัญญาเช่าซื้อ ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเกิดจากการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และเมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ เพราะโมฆะกรรมถือว่าเสียเปล่ามาแต่เริ่มแรกเสมือนหนึ่งว่าไม่เคยมีการทำสัญญากัน และหากจะต้องมีการคืนทรัพย์สิน จำต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตามมาตรา 172 วรรคสอง อันมีผลให้จำเลยจะต้องส่งมอบรถแทรกเตอร์กลับคืนให้แก่โจทก์และโจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่รับมาจากจำเลยไปแล้วทั้งหมดแก่จำเลย ซึ่งข้อนี้โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้รับเงินจากจำเลย 291,000 บาท โดยจำเลยไม่อาจหักล้างให้ฟังเป็นอย่างอื่น โจทก์จึงต้องรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าว แต่เมื่อได้ความจากนายมงคล ผู้รับมอบอำนาจจำเลยเบิกความว่า โจทก์ชำระเงินคืนให้แก่จำเลยไปแล้ว 213,950 บาท ตามการ์ดลูกหนี้ประกอบกับการชำระหนี้ของโจทก์ ไม่ได้ความว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ หรือเป็นการชำระหนี้โดยฝ่าฝืนข้อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีจึงต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนที่โจทก์ต้องรับผิด และในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมซึ่งเป็นเงินจำนวนหนึ่งนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ต้องคืนพร้อมดอกเบี้ย และคดีนี้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งหรือมีคำขอให้โจทก์ต้องรับผิดคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องคืนแก่จำเลยได้ นอกจากนี้เมื่อนิติกรรมเป็นโมฆะอันถือเสมือนว่าไม่มีนิติกรรม ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนรายการจดทะเบียนอันเกิดจากนิติกรรมอันเป็นโมฆะนั้นเสียได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนรถแทรกเตอร์ (รย.13) ลักษณะ รถขุดตัก หมายเลขทะเบียน ตค 4442 สุโขทัย หมายเลขตัวถัง YN19065 หมายเลขเครื่องยนต์ 6D31-045505 และให้จำเลยส่งมอบรถแทรกเตอร์คันดังกล่าวคืนแก่โจทก์ กับให้โจทก์คืนเงิน 77,050 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6