โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 490,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัด
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 490,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 ธันวาคม 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติและปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ทำข้อมูลด้านการเงินใช้บัญชีชื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นบัญชีบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ จำเลยที่ 2 เริ่มทำงานเป็นพนักงานโจทก์เมื่อเดือนกันยายน 2557 ในตำแหน่งพนักงานเดินเอกสาร ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2558 จำเลยที่ 2 ย้ายมาทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ธนาคาร สังกัดฝ่ายบัญชีและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ในการทำงานจำเลยที่ 2 จะมีรหัสเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์ซึ่งเป็นความลับเฉพาะตัว ไม่สามารถบอกรหัสให้บุคคลอื่นทราบ ทั้งห้ามนำรหัสไปให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโจทก์ การตั้งรายการอัตโนมัติจะต้องมีการบันทึกข้อมูล โดยผู้ทำรายการและมีผู้อนุมัติรายการ แต่ละคนจะมีรหัสประจำตัวซึ่งต้องเก็บไว้เป็นความลับ ผู้อนุมัติรายการไม่สามารถบันทึกข้อมูลเพื่อทำรายการได้ ต้องเป็นคนละคนกับผู้ทำรายการ วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 มีการตั้งระบบอัตโนมัติล่วงหน้าให้ทำรายการโดยการหักกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อโอนเข้าบัญชีตั้งพักชื่อบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย หน้าจอคอมพิวเตอร์ระบุว่ามีบุคคลเข้าไปดำเนินการแต่ไม่ได้ระบุรหัสของผู้เข้าไปดำเนินการ วันที่ 3 พฤษภาคม 2560 มีการทำบัญชีอัตโนมัติล่วงหน้า ล้างรายการเงินฝากในบัญชีตั้งพักดังกล่าว เพื่อโอนเงินมาเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 จำนวน 240,000 บาท จำเลยที่ 1 จำนวน 309,500 บาท และคุณบุญนุช ซึ่งเป็นพนักงานโจทก์อีกคนหนึ่ง จำนวน 200,000 บาท แล้วบุคคลทั้งสามได้มีการถอนเงินดังกล่าวออกจากบัญชีของแต่ละคน วันที่ 3 กรกฎาคม 2560 มีการตั้งระบบอัตโนมัติล่วงหน้าให้ทำรายการโดยการหักกำไรจากบัญชีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อโอนเข้าบัญชีตั้งพักชื่อบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 4 กรกฎาคม 2560 มีการตั้งบัญชีพักไว้เช่นกันโดยล้างรายการเงินฝากในบัญชีตั้งพักดังกล่าวเพื่อโอนเงินมาเข้าบัญชีจำเลยที่ 1 จำนวน 290,000 บาท และจำนวน 272,500 บาท เข้าบัญชีจำเลยที่ 2 จำนวน 250,000 บาท รวมเป็นเงิน 601,450 บาท และจำนวน 211,050 บาท จากการตรวจสอบว่าใครเป็นผู้ทำรายการและอนุมัติรายการพบว่ามีการแก้ไขข้อมูลและมีการโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และบุคคลทั้งสองได้มีการถอนเงินดังกล่าวออกจากบัญชีของแต่ละคนแล้ว วันที่ 9 สิงหาคม 2560 จำเลยทั้งสองมีหนังสือชี้แจงไปยังโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีพยานบุคคลมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดหรือจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด คงได้ความเพียงว่าตามวันเวลาที่เกิดเหตุดังกล่าวข้างต้นมีการกระทำของบุคคลตั้งระบบอัตโนมัติล่วงหน้าให้ทำรายการโดยการหักกำไรจากบัญชีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อโอนเข้าบัญชีตั้งพักชื่อบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย หน้าจอคอมพิวเตอร์ระบุว่ามีการเข้าไปดำเนินการแต่ไม่ได้ระบุรหัสของผู้เข้าไปดำเนินการ มีการทำบัญชีอัตโนมัติล่วงหน้าล้างรายการเงินฝากในบัญชีตั้งพักชื่อบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อโอนเงินมาเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 คุณบุญนุช ซึ่งเป็นพนักงานโจทก์อีกคนหนึ่งและจำเลยที่ 1 แล้วบุคคลทั้งสามได้มีการถอนเงินออกจากบัญชีของแต่ละคน โดยเงินที่เข้าบัญชีจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ถอนให้จำเลยที่ 1 ไป จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เอาเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ และกระทำละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย แต่ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดโดยจำเลยที่ 2 เปิดเผยรหัสเข้าถึงข้อมูลให้จำเลยที่ 1 รู้เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าวข้างต้นได้ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีขัดกับพยานหลักฐานในสำนวนที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบดีว่าเงินที่โอนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 เป็นเงินที่มาจากบัญชีตั้งพักชื่อบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยของโจทก์ ไม่ใช่เงินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ต้องรายงานให้โจทก์ทราบ และจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับโอนเงินดังกล่าวไว้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้แจ้งโจทก์กลับถอนเงินไปให้จำเลยที่ 1 และพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาแสดงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำรายการหรือนำรหัสประจำตัวของตนเองให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการทำรายการ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้บันทึกข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เงินไปจากโจทก์ อันเป็นการร่วมกันกระทำทุจริตและผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังข้อเท็จจริงว่าข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดโดยจำเลยที่ 2 เปิดเผยรหัสเข้าถึงข้อมูลให้จำเลยที่ 1 รู้เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องได้ จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกันกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง เพราะผู้ทำรายการหักกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้มีเพียงจำเลยที่ 2 เหตุที่โจทก์ตรวจพบการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้อง เนื่องจากก่อนหน้านั้น โจทก์พบการบันทึกรายการค่าตรวจสอบบัญชี จำนวน 700,000 บาท เศษ ที่มีการระบุรหัสประจำตัวพนักงานของจำเลยทั้งสองว่าเป็นผู้ร่วมกันทำรายการอันเป็นเท็จ แต่มีการแก้ไขข้อมูลเพื่อมิให้ถูกตรวจสอบได้นั้น เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานใดย่อมจะต้องพิจารณาว่าพยานหลักฐานนั้นเกี่ยวกับประเด็นในคดีหรือไม่ หากพยานหลักฐานใดไม่เกี่ยวกับประเด็นหรือนอกประเด็น แม้คู่ความจะนำสืบกล่าวอ้างพยานหลักฐานนั้นต่อศาล ศาลย่อมมีอำนาจที่จะไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้น คดีนี้โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทุจริตต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ตั้งระบบอัตโนมัติในเครื่องคอมพิวเตอร์และบันทึกข้อมูลในระบบว่ามีการหักเงินบางส่วนของบัญชีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แล้วนำไปตั้งพักไว้ในบัญชีตั้งพักของธนาคารโจทก์ หลังจากนั้นได้ล้างรายการเงินฝากของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจ แล้วโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้เบิกถอนเงินจากบัญชีของตนไป การที่โจทก์นำสืบถึงการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับค่าตรวจสอบบัญชี จำนวน 700,000 บาท เศษ โดยมีการระบุถึงรหัสประจำตัวพนักงานของจำเลยที่ 2 เป็นผู้บันทึกข้อมูล และจำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติรายการ ต่อศาลแรงงานกลาง จึงเป็นการนำสืบถึงรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง ซึ่งแม้ไม่ได้กล่าวบรรยายไว้ในคำฟ้องก็สามารถนำสืบได้ เนื่องจากการตรวจสอบเรื่องค่าตรวจสอบบัญชี จำนวน 700,000 บาท เศษ เป็นเรื่องความเป็นมาที่โจทก์ตรวจพบการทุจริตของจำเลยทั้งสองก่อนหน้าที่จะมีการกระทำผิดตามคำฟ้อง และอาจใช้สนับสนุนพยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับการทุจริตของจำเลยที่ 2 ตามคำฟ้องได้ ไม่ใช่การนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นข้อที่โจทก์ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษวินิจฉัยว่า เรื่องดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบและไม่รับวินิจฉัยให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า อุทธรณ์ของโจทก์ว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายหรืออุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เห็นว่า โจทก์อุทธรณ์โดยสรุปว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพยานหลักฐานขัดกับสำนวน เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ตรวจพบการทำทุจริตของพนักงานเนื่องจากสำนักงานตรวจสอบบัญชีภายนอกแจ้งว่ามีรายการค่าตรวจสอบบัญชี จำนวน 700,000 บาท เศษ แต่สำนักงานตรวจสอบบัญชีไม่ได้รับเงินดังกล่าว โจทก์ตรวจพบว่ามีการทำบันทึกค่าตรวจสอบบัญชีเป็นเท็จขึ้น โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้บันทึกข้อมูล และจำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติ แต่มีการลบข้อมูลการทำรายการดังกล่าวออกไปเพื่อให้โจทก์ไม่สามารถตรวจสอบการทำรายการดังกล่าว สำหรับเหตุตามคำฟ้องคดีนี้ โจทก์ตรวจพบว่า มีการตั้งระบบอัตโนมัติในเครื่องคอมพิวเตอร์และบันทึกข้อมูลในระบบว่ามีการหักเงินบางส่วนของบัญชีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แล้วนำไปตั้งพักไว้ในบัญชีตั้งพักของธนาคารโจทก์สองครั้ง และโจทก์พบว่ามีการล้างรายการเงินฝากในบัญชีตั้งพักของโจทก์แล้วโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยทั้งสองกับพวก หลังจากนั้น จำเลยที่ 2 เบิกถอนเงินจากบัญชีของตนเองไป โดยจำเลยที่ 2 ทราบดีว่าเงินที่โอนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เงินของจำเลยที่ 1 ดังที่ให้การต่อสู้คดี แต่เป็นเงินที่มาจากบัญชีตั้งพักชื่อบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรายงานให้โจทก์ทราบ และจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับโอนเงินดังกล่าวไว้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้แจ้งโจทก์กลับถอนเงินไปให้จำเลยที่ 1 และพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาแสดงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำรายการด้วยตนเองหรือนำรหัสประจำตัวของตนเองให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการทำรายการดังกล่าวด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด อันเป็นการร่วมกันกระทำทุจริตและผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์นั้น ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษวินิจฉัยว่า คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 หรือไม่ แม้ในอุทธรณ์ของโจทก์บางตอนจะอ้างคำเบิกความพยานบุคคลและพยานเอกสารต่าง ๆ มาด้วย แต่เป็นการอ้างเพื่อแสดงให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ครบประเด็นอย่างไร และข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังไม่เป็นไปตามพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบไว้ในสำนวนอย่างไร อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษวินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาและมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษวินิจฉัย โดยปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อโจทก์หรือไม่ และคำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น ดังนั้น คำพิพากษาศาลแรงงานในส่วนของการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีจะต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อให้ทราบว่าศาลแรงงานได้นำข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดเป็นหลักในการวินิจฉัยคดีและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและการแปลความบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ คดีนี้ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า การตั้งรายการอัตโนมัติจะต้องมีการบันทึกข้อมูล โดยผู้ทำรายการคนหนึ่ง และมีผู้อนุมัติรายการอีกคนหนึ่ง แต่ละคนจะมีรหัสประจำตัวที่ต้องเก็บไว้เป็นความลับ ผู้อนุมัติรายการไม่สามารถบันทึกข้อมูลเพื่อทำรายการได้ ต้องเป็นคนละคนกับผู้ทำรายการ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ตรวจพบว่ามีการตั้งระบบอัตโนมัติล่วงหน้าให้ทำรายการโดยการหักกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อโอนเข้าบัญชีตั้งพักชื่อบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย หน้าจอคอมพิวเตอร์ระบุว่ามีบุคคลเข้าไปดำเนินการแต่ไม่ได้ระบุรหัสของผู้เข้าไปดำเนินการ และมีการล้างรายการเงินฝากในบัญชีตั้งพักดังกล่าว เพื่อโอนเงินมาเข้าบัญชีของจำเลยทั้งสองกับพวก โดยในส่วนของจำเลยที่ 2 ได้รับโอนเงินของโจทก์เข้าบัญชีถึง 2 ครั้ง จำนวน 240,000 บาท และจำนวน 250,000 บาท แต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยลอย ๆ เพียงว่า โจทก์ไม่มีพยานบุคคลมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิดคงได้ความเพียงว่า ตามวันเวลาที่เกิดเหตุดังกล่าวมีการกระทำของบุคคลตั้งระบบอัตโนมัติล่วงหน้าให้ทำรายการโดยการหักกำไรจากบัญชีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อโอนเข้าบัญชีตั้งพักชื่อบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย หน้าจอคอมพิวเตอร์ระบุว่ามีการเข้าไปดำเนินการ แต่ไม่ได้ระบุรหัสของผู้เข้าไปดำเนินการเท่านั้น แต่ศาลแรงงานกลางมิได้วินิจฉัยถึงพยานเอกสารอื่นว่า ไม่อาจรับฟังเชื่อมโยงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทุจริตเงินตามคำฟ้องเพราะเหตุใด รวมถึงเอกสารหมาย จ.21 ซึ่งเป็นหลักฐานที่โจทก์นำสืบพฤติการณ์แห่งคดีว่าจำเลยทั้งสองเคยร่วมกันทำรายการอันเป็นเท็จมาก่อนเกิดเหตุ แม้ในครั้งเกิดเหตุ จะไม่พบรหัสของผู้เข้ามาดำเนินการ แต่จำเลยที่ 2 ก็ได้รับโอนเงินของโจทก์เข้าบัญชีตนเอง นอกจากนั้น เงินที่โอนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 รวมสองครั้งมิใช่เงินจำนวนเล็กน้อย จำเลยที่ 2 ย่อมต้องให้ความสำคัญและย่อมทราบว่าเงินดังกล่าวมีที่มาอย่างไร ซึ่งโจทก์ฟ้องและนำสืบแล้วว่า เมื่อมีการล้างรายการเงินฝากในบัญชีตั้งพักชื่อบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อโอนเงินมาเข้าบัญชีจำเลยที่ 2 จำนวนสองครั้งข้างต้น จำเลยที่ 2 ย่อมทราบว่าเงินดังกล่าวเป็นของโจทก์เพราะมีรหัสการโอนเงินระบุกำกับไว้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นเงินที่โอนมาจากบัญชีของโจทก์ แต่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยเพียงว่าเงินที่เข้าบัญชีจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ถอนให้จำเลยที่ 1 ไป จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เอาเงินของโจทก์ไปโดยทุจริตเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ แต่ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทราบถึงที่มาของการโอนเงินดังกล่าวอย่างไร เพื่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เช่นนี้ แม้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจะยังไม่ถึงกับเป็นการวินิจฉัยขัดกับพยานหลักฐานในสำนวนดังที่โจทก์อุทธรณ์ แต่ก็เป็นคำพิพากษาที่มิได้แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในประเด็นว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 1 หรือรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนนี้เสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง จึงให้คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดสำหรับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โดยให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงใหม่ในประเด็นว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 1 หรือรู้เห็นยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี และให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยของค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 12 ธันวาคม 2561) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง