โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 23,343,047.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 21,500,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท โดยส่วนที่โจทก์ได้รับการยกเว้นนั้น ให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงิน 21,500,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ของต้นเงิน 5,500,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันฟ้องวันที่ 9 ธันวาคม 2559) ของต้นเงิน 6,000,000 บาท ต้องไม่เกิน 641,095.89 บาท ของต้นเงิน 5,500,000 บาท ต้องไม่เกิน 439,623.29 บาท และของต้นเงิน 10,000,000 บาท ต้องไม่เกิน 762,328.77 บาท ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ต่อศาลในนามของโจทก์ กำหนดค่าทนายให้ 100,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งเป็นผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนต่าง ๆ โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ กับธนาคารจำเลยสาขาแพลทินัม ประตูน้ำ และในวันเดียวกันโจทก์เปิดบัญชีซื้อขายหน่วยลงทุนกองทุนเปิด ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ผ่านจำเลยซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนดังกล่าว มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหน่วยลงทุน นางสาวพจมานย์ เป็นพนักงานของจำเลยระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2556 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2559 โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป นางสาวพจมานย์มีหน้าที่ดูแลลูกค้าของจำเลยกลุ่มลูกค้าบุคคล (Relationship Manager) ที่สาขาแพลทินัม ประตูน้ำ จำเลยมอบหมายให้นางสาวพจมานย์ดูแลโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ด้วยการไปอำนวยความสะดวกให้แก่โจทก์ในการนำเอกสารมาทำธุรกรรมกับจำเลยที่สาขา นอกจากนี้นางสาวพจมานย์ยังมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับโจทก์เนื่องจากเป็นภริยานายสมเดช พนักงานของบริษัท พ. ซึ่งมีโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และวันที่ 4 ธันวาคม 2558 นางสาวพจมานย์นำใบนำฝาก/โอน ซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อในช่องเจ้าของบัญชีและผู้ขอทำรายการ มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ ที่ธนาคารจำเลยสาขาซิตี้ คอมเพล็กซ์ ซึ่งมีผู้จัดการสาขาคนเดียวกับสาขาแพลทินัม ประตูน้ำ โดยวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 โอนเงิน 6,000,000 บาท ไปเข้าบัญชีของนางสาวสุพัตรา วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 โอนเงิน 5,500,000 บาท ไปเข้าบัญชีของนายสุวรรณ และวันที่ 4 ธันวาคม 2558 โอนเงิน 10,000,000 บาท ไปเข้าบัญชีของนางสาวสุพัตรา ต่อมานางสาวพจมานย์ถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงและปลอมเอกสาร อันเนื่องมาจากนางสาวพจมานย์นำใบนำฝาก/โอนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วนำไปทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 รวม 25,000,000 บาท ซึ่งเป็นเงินคนละรายการกับที่โอนในคดีนี้ ไปเข้าบัญชีของบุคคลอื่นผิดไปจากความประสงค์ของโจทก์ที่ให้นำไปซื้อหน่วยลงทุน แต่จำเลยติดตามเงินจำนวนดังกล่าวจากบัญชีของผู้รับโอนนำกลับคืนเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ได้ นางสาวพจมานย์ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนางสาวพจมานย์คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า นางสาวพจมานย์เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำธุรกรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ไม่ใช่ปัญหาที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า นางสาวพจมานย์นำใบนำฝาก/โอน ซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อในช่องเจ้าของบัญชีและผู้ขอทำรายการ มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เข้าบัญชีของบุคคลอื่นผิดไปจากความประสงค์ของโจทก์ที่ต้องการให้หักเงินจากบัญชีเงินฝากนำไปซื้อหน่วยลงทุน คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่า นางสาวพจมานย์เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำธุรกรรมดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ การจัดให้มีพนักงานดูแลลูกค้ารายใหญ่ด้วยการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมกับจำเลยถึงที่ทำการของลูกค้าโดยลูกค้าไม่ต้องมาดำเนินการที่สาขาของจำเลยด้วยตนเอง ถือเป็นบริการอย่างหนึ่งของจำเลยเพื่อประโยชน์ในกิจการของจำเลยเอง ซึ่งจำเลยสมควรคัดเลือกพนักงานที่ไว้ใจได้มาทำหน้าที่นี้และคอยสอดส่องไม่ให้ทำผิดหน้าที่ เมื่อนางสาวพจมานย์พนักงานผู้มีหน้าที่ดูแลลูกค้าของจำเลยกลุ่มลูกค้าบุคคลได้รับมอบหมายจากจำเลยให้เป็นผู้ดูแลโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ การที่นางสาวพจมานย์อำนวยความสะดวกให้โจทก์ด้วยการนำใบนำฝาก/โอน และใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อถึงที่ทำการของโจทก์ แล้วรับเอกสารดังกล่าวมาดำเนินการต่อที่สาขาของจำเลย ถือเป็นกิจการของจำเลยที่มอบหมายให้นางสาวพจมานย์ไปกระทำ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มอบหมายให้นางสาวพจมานย์เป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยดังที่จำเลยฎีกา การที่นางสาวพจมานย์รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกับโจทก์มาก่อนมีผลเพียงทำให้โจทก์ให้ความไว้วางใจนางสาวพจมานย์ในฐานะพนักงานของจำเลยที่มาอำนวยความสะดวกให้โจทก์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น หาทำให้นางสาวพจมานย์กลับกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ไปทำธุรกรรมกับจำเลยไม่ นางสาวพจมานย์เพียงทำหน้าที่นำเอกสารที่ใช้ในการถอนเงินและซื้อหน่วยลงทุนไปให้โจทก์ลงลายมือชื่อแล้วรับเอกสารจากโจทก์ไปมอบให้พนักงานของจำเลยที่มีอำนาจหน้าที่ในการทำธุรกรรมนั้น ๆ เป็นผู้ดำเนินการต่อ หาใช่ว่านางสาวพจมานย์เป็นผู้รับทำธุรกรรมให้โจทก์ด้วยตนเองไม่ ดังนั้น แม้ขณะทำธุรกรรมดังกล่าวนางสาวพจมานย์ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้แนะนำการลงทุนดังที่จำเลยฎีกา การกระทำของนางสาวพจมานย์ก็ยังอยู่ในขอบอำนาจและในกิจการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลย เมื่อนางสาวพจมานย์นำใบนำฝาก/โอน มาทำรายการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์เข้าบัญชีของบุคคลอื่นโดยมิได้นำไปซื้อหน่วยลงทุนอันผิดไปจากความประสงค์ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่นางสาวพจมานย์ลูกจ้างของจำเลยกระทำไปในทางการที่จ้าง โดยต้องคืนเงินที่นางสาวพจมานย์ทำรายการโอนจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ไปยังบัญชีของบุคคลอื่นรวม 21,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันโอนเงินแต่ละรายการจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หรืออย่างน้อยโจทก์ก็ต้องมีส่วนร่วมรับผิดในความเสียหายจากการกระทำของโจทก์ด้วย นั้น เห็นว่า โจทก์สามารถตรวจสอบได้โดยง่ายว่านางสาวพจมานย์ได้ซื้อหน่วยลงทุนถูกต้องตามความประสงค์ของโจทก์ในแต่ละครั้งหรือไม่ โดยการเรียกสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนรวมทั้งเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบทุกครั้งภายหลังจากที่ได้มอบหมายให้ไปทำธุรกรรม ทั้งการโอนเงินตามฟ้องแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกัน หากโจทก์ได้ตรวจสอบดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำก็ย่อมจะทราบได้ตั้งแต่แรกว่ามีการทำธุรกรรมผิดไปจากความประสงค์ของตน ซึ่งอาจจะอายัดเงินในบัญชีของผู้รับโอนกลับคืนมาได้ทันหรืออย่างน้อยก็ทำให้สามารถป้องกันมิให้เกิดความเสียหายซ้ำอีก แต่โจทก์กลับมอบสมุดคู่ฝากบัญชีและสมุดบัญชีกองทุนให้นางสาวพจมานย์เป็นผู้เก็บรักษา ทั้งยังปล่อยปละไม่ตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมจนเวลาล่วงเลยมานานหลายเดือนจึงทราบเหตุละเมิด ถือได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ประกอบด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระแก่โจทก์มากน้อยเพียงใด จึงต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งละเมิดแล้ว เห็นว่า ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเกิดขึ้นเพราะฝ่ายจำเลยเป็นผู้ก่อมากกว่า ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์สองในสามส่วน เป็นเงินรวม 14,333,333.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,000,000 บาท นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ของต้นเงิน 3,666,666.67 บาท นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และของต้นเงิน 6,666,666.67 บาท นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2558 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดรวม 21,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อศาลฎีกาแก้ไขจำนวนเงินที่ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ จึงเห็นสมควรแก้ไขค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์เสียใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีด้วย
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวบัญญัติให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่อาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 จึงต้องบังคับตามมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 14,333,333.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,000,000 บาท นับแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ของต้นเงิน 3,666,666.67 บาท นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และของต้นเงิน 6,666,666.67 บาท นับแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ใช้อัตราที่ปรับเปลี่ยนบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้น ให้จำเลยชำระต่อศาลในนามโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ชำระตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ