โจทก์ฟ้องว่า ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 309, 310, 317, 391
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 309 วรรคสอง, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิด แม้จำเลยที่ 2 มีอายุ 18 ปีเศษ แต่รู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว จึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 อีกบทหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพโดยมีอาวุธ ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดชีวิต และลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำคุก 1 เดือน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 28 ปี 15 วัน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 28 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86, 309 วรรคสอง, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม, 83 ขณะกระทำความผิดแม้จำเลยที่ 3 มีอายุเพียง 18 ปีเศษ แต่รู้ผิดชอบชั่วดีแล้วจึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพโดยมีอาวุธ ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และฐานร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 39 ปี 4 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 26 ปี 2 เดือน 20 วัน
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คัดค้านว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง และคดีสำหรับจำเลยที่ 4 คงถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาคัดค้านว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดฐานร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ฐานร่วมกันทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพโดยมีอาวุธ ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการเดียวตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 3 คงได้ความตรงกันว่า ขณะพวกของจำเลยที่ 3 อันได้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวก ฉุดดึงผู้เสียหายทั้งสองขึ้นไปบนกระบะด้านท้ายของรถยนต์กระบะที่นายภิญโญเป็นผู้ขับนั้น จำเลยที่ 3 นั่งอยู่ในรถด้านหน้าแถวเดียวกับคนขับ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมในการฉุดดึงผู้เสียหายทั้งสองให้มาขึ้นรถแต่อย่างใด จากนั้นเมื่อนายภิญโญขับรถมาจอดบริเวณที่เกิดเหตุ มีจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับพวกพาผู้เสียหายทั้งสองลงจากรถและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายทั้งสอง ก็มิได้ความว่าจำเลยที่ 3 ลงจากรถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพาผู้เสียหายทั้งสองลงจากรถ ตลอดจนมีส่วนร่วมในขณะที่ผู้เสียหายทั้งสองถูกข่มขืนกระทำชำเราแต่อย่างใดอีกเช่นกัน จนกระทั่งผู้เสียหายที่ 2 ร้องขอความช่วยเหลือขณะถูกนายพรศักดิ์ข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยที่ 3 จึงลงจากรถไปขอร้องนายพรศักดิ์ให้หยุดกระทำและนำตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปนั่งในรถด้านหน้ากับจำเลยที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 3 ได้ขอให้นายภิญโญขับรถพาผู้เสียหายที่ 2 ไปส่งที่บ้านเพื่อนของจำเลยที่ 3 และให้นอนค้างที่นั่น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 กระทำการลวนลามหรือกระทำอนาจารอย่างใดต่อผู้เสียหายที่ 2 ทั้งนี้โดยจำเลยที่ 3 มีผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบโจทก์เจือสมกันว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้เข้ามาช่วยพูดให้นายพรศักดิ์หยุดข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เอาเสื้อผ้ามาให้ผู้เสียหายที่ 2 ใส่ และพาไปนั่งรอในรถ ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ก็เบิกความตอบโจทก์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 3 เป็นคนร้ายคนหนึ่งที่อยู่ในคืนเกิดเหตุเท่านั้น ซึ่งก็เจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 3 ที่ยอมรับว่าอยู่ร่วมในเหตุการณ์แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำใด ๆ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ได้ยินนายพรศักดิ์พูดคุยกับจำเลยที่ 4 ว่า จะพาผู้หญิงชื่อโบว์ไปกระทำชำเราก็ดี หรือฎีกาว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้บอกทางไปที่ฝ่ายบ้านของจำเลยที่ 3 ซึ่งน่าจะมีความหมายว่าเป็นบริเวณแถวบ้านของจำเลยที่ 3 ก็ดี อันเป็นการแสดงถึงว่าจำเลยที่ 3 รู้เห็นการกระทำความผิดและมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยนั้น เห็นว่า การที่ผู้ใดรับรู้ว่าผู้อื่นจะกระทำความผิดหรือกระทำความผิดแล้ว จะถือว่าผู้นั้นมีส่วนร่วมกระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยนั้นคงไม่ได้ ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้บอกทางไปบริเวณที่เกิดเหตุนั้น ก็เป็นเพียงการบอกทางอย่างกว้าง ๆ และบริเวณที่เกิดเหตุก็เป็นกระท่อมร้าง มิใช่ที่พักอาศัยของจำเลยที่ 3 ทั้งข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จำเลยที่ 3 นำสืบปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริงเช่นนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมั่นคงพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือเกี่ยวข้องในการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดด้วยแล้ว ลำพังข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 นั่งรถไปกับพวกของจำเลยที่ 3 ที่กระทำความผิดนั้น ไม่เพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน