คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 9 ที่ 205/2562 ลงวันที่ 25 กันยายน 2562 ที่ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ ต่อมาทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอหมายบังคับคดี และขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยมีสิทธิได้รับคืนจากผู้ร้อง จำนวน 582,610.10 บาท ผู้ร้องส่งเงินตามหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับแล้วเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ในเงินดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างการพิจารณา ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า การบังคับคดียังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (5) จึงให้งดการบังคับคดีไว้จนกว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามคำร้อง หากผู้คัดค้านสละสิทธิในการบังคับคดีหรือไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดให้ผู้ร้องบังคับคดีต่อไป
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายกคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์ โดยให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางนับแต่ที่ศาลแรงงานกลางได้อ่านคำสั่งดังกล่าว และให้คู่ความแถลงยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่เมื่อถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด
ผู้ร้องฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติโดยไม่มีคู่ความโต้แย้งกัน และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยาน เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละศูนย์ ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 80/1 จำเลยมีสิทธิได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 582,610.10 บาท วันที่ 14 มกราคม 2563 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องในเงินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวแก่ผู้ร้อง วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ผู้ร้องนำส่งเงินตามหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นเช็ค ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินตามเช็คดังกล่าวไว้ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 วันที่ 4 มิถุนายน 2563 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นคดีนี้ จำเลยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยศาลล้มละลายกลางรับคำร้องไว้เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 จำเลยเป็นหนี้ภาษีอากรและเงินเพิ่มค้างชำระต่อผู้ร้องเป็นเงิน 185,415,666.28 บาท โดยผู้ร้องได้นำส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากรไปยังภูมิลำเนาจำเลย โดยมีนางสาวนิภาภรณ์ พนักงานของจำเลย ตำแหน่งผู้จัดการแผนกบัญชีและภาษีอากร รับไว้โดยชอบ แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมีทรัพย์สินเพียงสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากธนาคารและกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องได้โดยสิ้นเชิง ถือว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ การแก้ไขวันที่ในใบแต่งทนายความของผู้ร้องโดยลบเลข 2 ออกให้เหลือเพียงเลข 4 เท่านั้น ให้ตรงกับวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นการแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริงในวันยื่นคำร้อง เป็นการแต่งตั้งทนายความให้ดำเนินคดีโดยชอบแล้ว ไม่ทำให้การแต่งตั้งทนายความเสียไป ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของจำเลยไว้แล้ว โดยไม่ปรากฏว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จึงต้องด้วยกรณีที่ศาลแรงงานกลางซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาคดีแพ่งต้องงดการบังคับคดีไว้ตามมาตรา 90/12 (5) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้จนกว่าศาลล้มละลายกลางยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่ที่ศาลแรงงานกลางกลับมีคำสั่งต่อไปโดยอนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามคำร้อง ทั้งที่การขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องถือว่าเป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่งที่จะต้องถูกงดการบังคับคดีไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (5) จึงเป็นกระบวนการพิจารณาที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นตามอุทธรณ์ของโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่อนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า เมื่อไม่ปรากฏว่าบทบัญญัติอื่นของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นอกจากมาตรา 110 วรรคสอง ที่ให้คำนิยามความหมายของคำว่า "การบังคับคดีสำเร็จบริบูรณ์" ไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องถือตามบทบัญญัติดังกล่าวที่ถือว่าการบังคับคดีสำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันเป็นเหตุยกเว้นให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไปได้เมื่อการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/12 (5) การที่จำเลยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการภายหลังพ้นกำหนดระยะเวลาเฉลี่ยทรัพย์ที่ผู้ร้องยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ การบังคับคดีจึงสำเร็จบริบูรณ์แล้ว ที่ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์ชอบแล้ว เห็นว่า เมื่อกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้บัญญัตินิยามความหมายคำว่า "การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์" ไว้เป็นการเฉพาะ การตีความความหมายของคำดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/12 (5) ที่บัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้ศาลไม่จำต้องงดการบังคับคดีไว้ในกรณีที่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนั้น คงต้องพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีกิจการที่ได้กระทำไปแล้วหากมีกรณีที่ลูกหนี้ล้มละลาย เนื่องจากผลของการล้มละลายหรือการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระเทือนต่อกิจการที่ได้กระทำไปจนเสร็จสิ้นก่อนแล้วเช่นเดียวกัน การที่มาตรา 110 วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีของผลของการล้มละลายเกี่ยวกับกิจการที่ได้กระทำไปแล้วได้ให้ความหมายของคำว่า การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 326 วรรคห้า กำหนดหลักเกณฑ์การขอเฉลี่ยทรัพย์ในกรณีอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเสียก่อนสิ้นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันชำระเงิน ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติในศาลแรงงานกลางได้ความว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินตามเช็คที่ผู้ร้องนำส่งตามหนังสือแจ้งอายัดที่พิพาทนี้ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 กำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าว คือวันที่ 5 มิถุนายน 2563 จำเลยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันชำระเงิน ถือว่าการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องงดการบังคับคดีไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (5) การที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าการบังคับคดียังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นตามกฎหมายดังกล่าว แล้วมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้จนกว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ย่อมไม่ถูกต้อง เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งถือได้ว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 326 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นพ้องด้วยกับที่ศาลแรงงานกลางงดการบังคับคดีไว้จนกว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดี หรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และเห็นว่าคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์เป็นกระบวนพิจารณาที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
แม้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นตามที่โจทก์ได้อุทธรณ์ไว้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวได้ เพื่อความรวดเร็วสมดังเจตนารมณ์ของการพิจารณาพิพากษาคดีแรงงาน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาใหม่
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานเอกสารของผู้ร้องมีข้อเท็จจริงคลุมเครือไม่ชัดเจน โดยใบแต่งตั้งทนายความของผู้ร้องมีการแก้ไขด้วยน้ำยาลบคำผิดและไม่ได้มีการลงชื่อรับรองการแก้ไข จึงต้องถือวันที่ลงในใบแต่งตั้งเดิมคือวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ผู้ร้องจึงไม่ได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ภายใน 15 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 326 ผู้ร้องไม่มีสิทธิในการเข้าเฉลี่ยทรัพย์ตามคำร้อง จำนวนหนี้ที่ผู้ร้องอ้างมีจำนวนเกินหนี้ที่เป็นจริง ผู้ร้องไม่มีหลักฐานมูลหนี้ที่แท้จริงกับจำเลยมายืนยันว่าจำเลยผูกพันเป็นหนี้ตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายผู้ร้องในการชำระหนี้ภาษีจริงหรือไม่ ผู้ร้องไม่มีหลักฐานว่า นางสาวนิภาภรณ์ เป็นผู้รับหนังสือเตือนให้จำเลยชำระหนี้ภาษีอากรค้างจริง นางสาวนิภาภรณ์ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยในวันที่ผู้ร้องอ้างว่าได้นำส่งหนังสือเตือนดังกล่าว จำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นซึ่งเป็นสิทธิในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนกันยายน 2560 ถึงเดือนเมษายน 2562 รวมเป็นเงิน 74,680,632.09 บาท ให้ผู้ร้องเอาชำระหนี้ได้เพียงพอต่อจำนวนหนี้ที่มีต่อผู้ร้อง และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้รับเงินดังกล่าวไป 1 ครั้ง เมื่อผู้ร้องไม่คัดค้านถือว่าการบังคับคดีได้สิ้นสุดแล้วนั้น ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่รับฟังมาว่า จำเลยเป็นหนี้ภาษีอากรและเงินเพิ่มค้างชำระต่อผู้ร้องเป็นเงิน 185,415,666.28 บาท โดยผู้ร้องได้นำส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากรไปยังภูมิลำเนาจำเลย โดยมีนางสาวนิภาภรณ์ พนักงานของจำเลย ตำแหน่งผู้จัดการแผนกบัญชีและภาษีอากร รับไว้โดยชอบ จำเลยไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้แก่ผู้ร้องได้โดยสิ้นเชิง ถือว่าผู้ร้องไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ และการแก้ไขใบแต่งตั้งทนายความของผู้ร้องให้ตรงกับวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลแรงงานกลาง เป็นการแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริงในวันยื่นคำร้องของเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้อง โดยให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับฟังข้อเท็จจริงถึงวันยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องใหม่ให้เป็นวันที่ 24 มิถุนายน 2563 ซึ่งจะเป็นวันพ้นระยะเวลาที่ผู้ร้องอาจเข้าขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ และจำเลยไม่มีหนี้อยู่กับผู้ร้องโดยผู้ร้องสามารถเอาชำระจากทรัพย์สินอื่นๆ ของจำเลยได้ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่อาจวินิจฉัยให้ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า หากผู้คัดค้านสละสิทธิในการบังคับคดีหรือไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนด ให้ผู้ร้องบังคับคดีต่อไปนั้น เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 327 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งคำบอกกล่าวถอนการบังคับคดีให้ผู้ยื่นคำร้องขอซึ่งได้รับอนุญาตจากศาลตามมาตรา 324 หรือเจ้าหนี้ผู้ขอเฉลี่ยซึ่งได้รับอนุญาตตามมาตรา 326 ทราบโดยไม่ชักช้า..." ดังนั้น หากมีการถอนการบังคับคดีจึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในส่วนนี้มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องด้วย
พิพากษากลับ อนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามคำร้อง หากโจทก์ถอนการบังคับคดีให้ดำเนินการตามขั้นตอนในบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 327 ต่อไป และให้เพิกถอนคำสั่งงดการบังคับคดีของศาลแรงงานกลาง