โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์จำนวน 7 เม็ดหนัก 0.63 กรัม ไว้ในครอบครองและจำหน่ายแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ดังกล่าวจำนวน 2 เม็ด หนัก 0.18 กรัม ให้กับผู้อื่น ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13, 89 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 กับให้คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องจำคุก 10 ปีจำเลยให้การรับสารภาพเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุกมีกำหนด 5 ปี คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ชนิดแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13, 89 เพียงกระทงเดียวจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า 'โจทก์ฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยมีแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ซึ่งเป็นเกลือของแอมเฟตามีน อันเป็ฯวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ไว้เพื่อขาย จำนวน 5 เม็ด และได้ขายไปแล้วจำนวน 2 เม็ด เป็นเงิน 24 บาท เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมกับยึดได้แอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ที่ขายและมีไว้เพื่อขายจำนวน 7 เม็ดในวันเวลาเดียวกันและต่อเนื่องกัน กับธนบัตรฉบับละ20 บาท รวม 2 ฉบับ ที่ใช้ในการซื้อไว้เป็นของกลาง ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าการที่จำเลยขายและมีไว้เพื่อขายซึ่งแอมเฟตามีนของกลาง มีความผิดกรรมเดียวหรือสองกรรมต่างกันพิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 13 ได้บัญญัติไว้ว่า 'ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตขายนำเข้า หรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2ผู้ใดฝ่าฝืนมาตราดังกล่าวนี้จะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 89 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ให้คำจำกัดความคำว่า'ขาย' ไว้ว่า หมายความรวมถึง จำหน่ายจ่ายแจก แลกเปลี่ยนส่งมอบหรือมีไว้เพื่อขาย ดังนั้นตามนัยแห่งพระราชบัญญัตินี้การขายหรือมีไว้เพื่อขายจึงถือได้ว่า เป็นความผิดอย่างเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวจึงเป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวคือการขายนั่นเอง'
พิพากษายืน.