โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 3, 61 ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 ริบของกลาง และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งห้ามีกำหนด 10 ปี
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานจำเลย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพเฉพาะข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ อันเป็นการฝ่าฝืนขัดขืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ให้ปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 500 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยทั้งห้านอกจากนี้ให้ยก คืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 7 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งศาลชั้นต้นนำมาปรับบทลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนนั้นต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 ว่า กฎหมายดังกล่าวเฉพาะในส่วนที่กำหนดให้เป็นความผิดและโทษทางอาญาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 วรรคหนึ่ง และมาตรา 28 วรรคหนึ่ง จึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา แต่ถือเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ชอบที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 โดยสรุปว่า ขณะที่ประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นช่วงที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กระทำการยึดอำนาจการปกครองสำเร็จเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขใช้อำนาจทั้งในส่วนของอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติในขณะเดียวกันเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุขจนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในช่วงเวลาที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทำหน้าที่บริหารประเทศนั้น มีความต้องการให้ประชาชนอยู่ในความสงบไม่ก่อความวุ่นวายและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงจำเป็นต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนบางประการ เมื่อพิจารณาประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา กรณีผู้ซึ่งถูกกล่าวหาฝ่าฝืนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือหรือลายเท้าตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวนมีโทษทางอาญานั้น เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายอันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบสุขของบ้านเมือง ซึ่งเป็นกรณีจำเป็นในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงการรัฐประหาร แต่ในยามที่บ้านเมืองเป็นปกติสุขการใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลย่อมแตกต่างไปจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รัฐธรรมนูญได้รับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทั้งมีมาตรการทางกฎหมายอื่นที่สามารถนำมาบังคับใช้ได้โดยไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกายของบุคคล ดังปรากฏรายละเอียดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบสุขของบ้านเมืองต่อไป จึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกินกว่าความจำเป็น ความในส่วนที่กำหนดให้เป็นความผิดและโทษทางอาญาตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นบทบัญญัติที่เพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกายเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ได้สัดส่วน หรือไม่มีความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนจะต้องสูญเสียไป รวมทั้งกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหลักนิติธรรมจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 วรรคหนึ่ง และมาตรา 28 วรรคหนึ่ง จึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว ฉะนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเดิมเป็นความผิดตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 ว่า ประกาศดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 26 วรรคหนึ่ง และมาตรา 28 วรรคหนึ่ง จึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 5 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายในภายหลังมิได้กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดอีกต่อไป จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ฐานฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7