โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 และเพิ่มโทษตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุก 7 ปี 4 เดือน และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 10 ปี 12 เดือน และปรับ 600,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 15 เดือน และปรับ 450,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดียาเสพติดวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังยุติได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยกับนายนิพนธ์ ได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนของกลาง จุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลางบริเวณใต้คันเกียร์รถกระบะ พนักงานสอบสวนส่งเมทแอมเฟตามีนของกลางไปตรวจพิสูจน์ ผลการตรวจพิสูจน์พบว่ามีน้ำหนักสุทธิรวม 27.073 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 7.679 นายนิพนธ์ให้การรับสารภาพ ศาลได้พิพากษาลงโทษไปแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย 1897/2563 ของศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์เมื่อรับฟังประกอบกันทั้งหมดแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยมีส่วนรู้เห็นเป็นใจและร่วมเป็นตัวการในการกระทำความผิดตามฟ้องกับนายนิพนธ์ด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำโดยจำเลยทำหน้าที่ขับรถในการขนลำเลียงเมทแอมเฟตามีนของกลางให้กับนายนิพนธ์ แม้โจทก์จะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับจำเลยมาก่อนดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาก็ตาม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนนายนิพนธ์ในการกระทำความผิดตามฟ้อง แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้เองและปรับบทความผิดให้ถูกต้องได้โดยลงโทษจำเลยไม่เกินกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ออกใช้บังคับโดยในมาตรา 4 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ และให้ใช้ประมวกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวแทน ซึ่งตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 1 ได้นิยามคำว่า "จำหน่าย" ให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย และการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนได้บัญญัติบทความผิดและบทกำหนดโทษไว้ในมาตรา 90, 145 แสดงว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้ยกเลิกความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ได้นำไปรวมไว้เป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยมาตรา 145 วรรคหนึ่ง ถึงวรรคสามกำหนดโทษหนักเบาตามพฤติการณ์ในการกระทำความผิดหรือบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญ ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 145 วรรคใด นั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณสารบริสุทธิ์เพียง 7.679 กรัม ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีได้ความว่าจำเลยเป็นเพียงผู้ร่วมในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางเท่านั้น จึงต้องปรับบทกำหนดโทษจำเลยตามกฎหมายใหม่ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนบาท และเมื่อกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายใหม่ที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด จึงต้องใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งเป็นคุณมากกว่าบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 เมื่อตามกฎหมายเดิมมาตรา 97 ที่บัญญัติให้ศาลเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งแก่ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเดิมอีกในระหว่างที่ยังต้องรับโทษอยู่หรือภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ส่วนกฎหมายใหม่ก็ไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษเช่นเดิมอีก ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจเพิ่มโทษทั้งตามกฎหมายเดิมที่ถูกยกเลิกไปแล้วและตามกฎหมายใหม่ได้ แต่เมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 บัญญัติว่า บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญาให้ใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น แม้กฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นกฎหมายอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติเรื่องเพิ่มโทษเพราะกระทำผิดอีกไว้ ก็มิได้หมายความว่าศาลไม่อาจเพิ่มโทษตามบทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยกระทำความผิดอีกโดยไม่เข็ดหลาบและโจทก์ได้ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายเดิมมาตรา 97 ไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 159 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 แล้วด้วย ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้ ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 7 ปี 4 เดือน และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 9 ปี 9 เดือน 10 วัน และปรับ 533,333.33 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 4 เดือน และปรับ 400,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกินหนึ่งปี แต่ไม่เกินสองปี