ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยให้ผู้ร้องชำระเงิน 13,785,678.05 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราแอลไอบีโออาร์บวกร้อยละ 4 และร้อยละ 2 ของต้นเงิน 9,030,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน กับค่าดำเนินคดี ค่าใช้จ่ายชั้นอนุญาโตตุลาการ และค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ 11,058.78 ดอลลาร์สหรัฐแก่ผู้คัดค้านข้างต้น
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลแพ่งพิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.2536 วันที่ 20 มิถุนายน 2544 บริษัทกิจการร่วมค้าเวียด-ไทย ซิงค์ อินดัสตรีย์ จำกัด ทำสัญญากู้ยืมเงิน (Facility Agreement) กับผู้คัดค้าน มีบริษัทไอ.อาร์.ดี.ซี. เอ็กซ์พลอเรชั่นมายนิ่ง จำกัด และผู้ร้องโดยนายเลอลงลายมือชื่อในสัญญาพิพาท (Funding Agreement) แต่มิได้ประทับตราสำคัญของผู้ร้อง สัญญาพิพาทมีข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านโดยอนุญาโตตุลาการคนเดียวซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร บริษัทกิจการร่วมค้าฯ ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินแล้ว ต่อมาผิดนัดไม่ชำระหนี้ ผู้คัดค้านมีหนังสือเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระหนี้ดังกล่าว วันที่ 14 สิงหาคม 2555 ผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการในประเทศไทยเพื่อเรียกร้องให้ผู้ร้องรับผิดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาพิพาท วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดถึงที่สุดให้ผู้ร้องชำระเงิน 13,785,678.05 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราแอลไอบีโออาร์บวกร้อยละ 4 และร้อยละ 2 ของต้นเงิน 9,030,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้คัดค้าน กับค่าดำเนินคดี ค่าใช้จ่ายชั้นอนุญาโตตุลาการและค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ 11,058.78 ดอลลาร์สหรัฐ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้ร้องเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้นหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ปี 2538 ผู้ร้องกับบริษัท ท. ร่วมกันจัดตั้งบริษัทกิจการร่วมค้าเวียด-ไทย ซิงค์ อินดัสตรีย์ จำกัด ปี 2544 บริษัทกิจการร่วมค้าเวียด-ไทย ซิงค์ อินดัสตรีย์ จำกัด ทำสัญญากู้ยืมเงิน (Facility Agreement) จากผู้คัดค้าน โดยผู้ร้องทำสัญญาพิพาท (Funding Agreement) ไว้กับผู้คัดค้านรับรองว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้โครงการของผู้กู้แล้วเสร็จ ตามเอกสาร ข้อ 15 ระบุว่า สัญญานี้อยู่ภายใต้บังคับและการตีความตามกฎหมายไทย ซึ่งกฎหมายไทยไม่มีบทบัญญัติว่าจะต้องนำสัญญาดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อหน่วยงานของรัฐก่อนการมีผลใช้บังคับ แม้ผู้ร้องไม่ได้นำสัญญาไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ก็ไม่ทำให้ผู้ร้องบกพร่องความสามารถในการเข้าทำสัญญาตามกฎหมายไทย สัญญาพิพาทจึงสมบูรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า นายเลอมีอำนาจทำการแทนผู้ร้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเลอ ลงนามในสัญญาพิพาท (Funding Agreement) โดยมิได้ประทับตราสำคัญของผู้ร้อง ซึ่งนายเหวียน พยานผู้ร้องเบิกความว่า นายเลอเป็นกรรมการผู้จัดการของผู้ร้องในขณะที่มีการทำสัญญาพิพาท ในพิธีลงนามสัญญากู้ยืมเงิน (Facility Agreement) และสัญญาพิพาท (Funding Agreement) นายเลออยู่ด้วยในฐานะผู้แทนของผู้ร้อง นอกจากนั้นปรากฏชื่อนายเลอเป็นผู้ให้หลักประกันในนามผู้ร้อง ตามสัญญาหลักประกันทุนตามกฎหมาย (Pledge of legal Capital) และแบบการแต่งตั้งตัวแทนของผู้ร้อง ทั้งบริษัทกิจการร่วมค้าเวียด-ไทย ซิงค์ อินดัสตรีย์ จำกัด ได้รับเงินกู้จากผู้คัดค้าน อันเป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องแล้ว ดังนั้นอนุญาโตตุลาการจึงวินิจฉัยว่า นายเลอมีอำนาจทำการแทนผู้ร้องในสัญญาพิพาทตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เห็นว่า อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน ไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในกรณีดังกล่าว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องประการสุดท้ายว่า การที่ผู้คัดค้านขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่บริษัทกิจการร่วมค้าเวียด-ไทย ซิงค์ อินดัสตรีย์ จำกัด ทำให้ผู้ร้องหลุดพ้นความรับผิดหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 สัญญาค้ำประกัน คือ สัญญาที่ผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น แต่สัญญาพิพาท (Funding Agreement) ข้อ 2 ระบุว่าผู้ร้องให้คำรับรองว่าจะสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทกิจการร่วมค้าเวียด-ไทย ซิงค์ อินดิสตรีย์ จำกัด ผู้กู้ เพื่อให้สามารถทำโครงการจนแล้วเสร็จ และข้อ 3 ระบุว่าผู้ร้องจะชำระเงินแก่ผู้คัดค้านในฐานะผู้ให้กู้สำหรับการขาดทุน ต้นทุน ค่าใช้จ่าย และค่าเสียหายต่าง ๆ เนื่องจากผู้ร้องไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 2 ดังนั้น ข้อตกลงหลักของสัญญาพิพาทคือผู้ร้องมีหน้าที่สนับสนุนทางการเงินแก่ผู้กู้ จะมีความรับผิดต้องชำระเงินแก่ผู้ให้กู้ต่อเมื่อผู้ร้องไม่ปฏิบัติหน้าที่ข้างต้น ไม่ใช่ข้อตกลงที่ผู้ร้องยอมผูกพันตนชำระหนี้แก่ผู้ให้กู้หากผู้กู้ไม่ชำระ สัญญาพิพาท (Funding Agreement) จึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นสัญญาทางแพ่งประเภทหนึ่งที่ไม่มีชื่อระบุในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ผู้คัดค้านขยายระยะเวลาการชำระหนี้แก่ลูกหนี้ ผู้ร้องก็ไม่หลุดพ้นจากความรับผิด
ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคดีนี้ชอบด้วยกฎหมาย การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่มีเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ