โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 23,270 บาท เงินพิเศษค้างชำระในเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2561 รวม 3 เดือน เป็นเงิน 15,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าชดเชย 107,400 บาท และค่าจ้างค้างชำระของการทำงานระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2561 เป็นเงิน 12,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่ายตามฟ้องให้โจทก์แล้ว และโจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องเงินดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 23,660 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าชดเชย 109,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมายุติว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทโรงเรียนในระบบตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มีบริษัท ร. เป็นผู้รับใบอนุญาต โจทก์เริ่มทำงานกับจำเลยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 ในตำแหน่งครูประจำชั้นอนุบาล กำหนดให้ทำงานวันจันทร์ถึงวันเสาร์ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน โจทก์ได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 18,200 บาท โจทก์จะต้องถูกหักเงินเดือนสมทบส่งกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนในอัตราร้อยละ 3 ของเงินเดือนทุกเดือน โจทก์จึงได้รับเงินเดือนเพียง 17,654 บาท และเบี้ยขยันอีกเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่จำเลยกำหนดขึ้นเพื่อตอบแทนความขยันในการทำงานของครูทุกคนรวมถึงโจทก์ด้วย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้เหตุผลในหนังสือเลิกจ้างว่า โจทก์กระทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพครู ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยและจงใจขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา และขาดงานตั้งแต่วันที่ 13 ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2561 เป็นเวลา 4 วัน ติดต่อกัน แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพครู ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กระทำความผิดระเบียบข้อบังคับและขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาในเวลาปฎิบัติงานโดยใช้โทรศัพท์ในเวลาทำงานจนเป็นเหตุให้จำเลยมีหนังสือเตือนโจทก์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 (ที่ถูก วันที่ 10) พฤษภาคม 2561 แต่โจทก์ก็ยังคงจงใจขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาอีกจนเป็นเหตุให้จำเลยพักงานโจทก์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 นั้น เป็นการกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำความผิดซ้ำคำเตือน และหนังสือเตือนฉบับดังกล่าวไม่มีข้อความระบุห้ามไม่ให้โจทก์กระทำผิดอีกและหากฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษสถานหนักหรือเลิกจ้าง สำหรับสาเหตุการเลิกจ้างที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ละทิ้งการงานติดต่อกันเกิน 4 วันทำการนั้น โจทก์ไม่ได้ยื่นใบลากิจล่วงหน้าตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยซึ่งจะต้องยื่นล่วงหน้าก่อน 3 วันทำการ และจะต้องได้รับอนุมัติจากจำเลย ปรากฏว่าจำเลยไม่อนุมัติใบลากิจของโจทก์และได้เรียกโจทก์ให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ เมื่อโจทก์ไม่กลับมาปฏิบัติหน้าที่จึงถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ โจทก์ต้องเดินทางไปกับนายอิศเรศวรซ์ บิดาโจทก์ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อไปเยี่ยมพี่สาวนายอิศเรศวรซ์ซึ่งสถาบันครอบครัวเป็นหน่วยที่สำคัญของสังคม การที่โจทก์มีความจำเป็นต้องเดินทางไปพร้อมกับบิดาซึ่งมีอายุกว่า 70 ปี ถือว่าการลากิจของโจทก์มีเหตุอันสมควรแล้ว แม้จะขาดงานเกินกว่า 4 วันทำการก็ตาม ประกอบกับโจทก์เพิ่งกลับมาทำงานให้กับจำเลยเป็นวันแรกหลังจากที่โจทก์ถูกพักงานครั้งที่ 2 ดังนั้นกรณีที่โจทก์ขาดงานนั้นจึงยังไม่ทำความเสียหายให้แก่จำเลยแต่อย่างใด ไม่ถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่โดยไม่มีเหตุอันสมควรตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (5) จำเลยจะนำมาเป็นสาเหตุของการเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้ เมื่อจำเลยเลิกจ้าง จำเลยจึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง จำเลยจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยมีหนังสือบอกเลิกจ้าง วันที่ 22 มิถุนายน 2561 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน 9 วัน และเมื่อโจทก์ได้รับเงินเดือน 18,200 บาท จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 23,660 บาท แต่โจทก์เรียกร้องจำนวน 23,270 บาท เพื่อความเป็นธรรมอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 เห็นควรให้จ่ายจำนวน 23,660 บาท โจทก์ทำงานกับจำเลยเป็นเวลา 5 ปีเศษ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (3) ในอัตราไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน คิดเป็นเงิน 109,200 บาท ที่โจทก์ขอมา 107,400 บาท ไม่ถูกต้องเช่นกัน เห็นควรกำหนดให้จำนวน 109,200 บาท ที่จำเลยอ้างว่าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ข้อ 34 (2) (3) (4) (6) และ (7) นั้น เห็นว่าการที่จำเลยออกหนังสือเลิกจ้างโจทก์ไม่เข้าข้อกำหนดตามระเบียบนี้และการเลิกจ้างด้วยเหตุตาม (4) (5) (6) และ (7) จะต้องเสนอให้คณะกรรมการประนีประนอมดำเนินการพิจารณาก่อน ข้อต่อสู้ของจำเลยนี้ฟังไม่ขึ้น กรณียังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นควรกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 500,000 บาท ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า โจทก์ถูกจำเลยสั่งให้พักงานเพิ่งกลับมาทำงานในวันที่ 12 มิถุนายน 2561 เมื่อโจทก์ขอลากิจระหว่างวันที่ 13 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2561 โดยยื่นใบลาในวันที่ 12 มิถุนายน 2561 จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่สามารถยื่นใบลาต่อผู้บริหารของจำเลยล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันทำงานตามระเบียบการลาของจำเลย เมื่อผู้บริหารของจำเลยไม่อนุมัติให้โจทก์ลากิจตามคำขอและแจ้งให้โจทก์กลับมาทำงาน แต่โจทก์ไม่มาทำงานในวันที่ 13 ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2561 ถือว่าโจทก์ขาดงานติดต่อกัน 4 วันทำงาน จึงต้องพิจารณาว่าโจทก์ขาดงานติดต่อกัน 4 วันทำงานโดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ โจทก์อ้างว่าบิดาโจทก์จำเป็นต้องเดินทางไปเยี่ยมพี่สาวของบิดาโจทก์ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจะขับรถไป โจทก์เห็นว่าบิดาเดินทางคนเดียวจึงอาสาไปเป็นเพื่อน โจทก์จำเป็นต้องลางาน บิดาโจทก์แจ้งพี่สาวว่าหากว่างจากภารกิจจะไปเยี่ยมในวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ยังไม่แน่ว่าจะได้ไปหรือไม่ เพียงแต่บอกโจทก์คร่าว ๆ ว่าในวันพรุ่งนี้จะเดินทางไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังนั้นจากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่าบิดาโจทก์ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบเดินทางไปจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อไปเยี่ยมพี่สาวในวันที่ 13 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2561 โดยไม่สามารถเลื่อนวันเดินทางได้ การลากิจของโจทก์ไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน การที่โจทก์นำใบลาไปวางไว้ที่โต๊ะทำงานของหัวหน้าฝ่ายอนุบาลในวันที่ 12 มิถุนายน 2561 เวลา 16.30 นาฬิกา แล้วหยุดงานทันทีโดยไม่รอฟังว่าผู้บริหารของจำเลยอนุมัติให้ลาหรือไม่ เป็นการขัดต่อระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในเรื่องระเบียบการลา เมื่อผู้บริหารของจำเลยไม่อนุมัติการลาและแจ้งให้โจทก์กลับมาทำงานโดยส่งข้อความให้โจทก์ทางแอปพลิเคชันไลน์ แต่โจทก์ไม่ใส่ใจเปิดดูข้อความทั้งที่ยังไม่ทราบว่าได้รับอนุมัติให้ลากิจหรือไม่ เมื่อการลากิจของโจทก์ไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน การที่โจทก์ไม่มาทำงานในวันที่ 13 ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2561 จึงเป็นการขาดงาน 4 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการละทิ้งการงานไปเสีย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนค่าชดเชยนั้นตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ข้อ 34 กำหนดว่า ผู้รับใบอนุญาตไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ครู ซึ่งเลิกสัญญาการเป็นครูในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้ (8) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 4 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ โจทก์ทำงานกับจำเลยเป็นเวลา 5 ปีเศษ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ข้อ 32 (3)
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 18 และมาตรา 20 (4) อยู่ในส่วนที่ 1 การจัดตั้งและเปิดดำเนินการโรงเรียนในระบบ มีเจตนารมณ์มุ่งเน้นให้การจัดตั้งโรงเรียนในระบบจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตก่อนมิฉะนั้นอาจมีโทษตามมาตรา 130 และการขอรับใบอนุญาตให้แนบรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียนในระบบตามมาตรา 20 (4) เช่น หลักเกณฑ์การจ้าง ฯลฯ ไปให้ทราบเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบ ส่วนการคุ้มครองการทำงานไปอยู่ในส่วนที่ 6 มาตรา 86 เมื่อพิจารณาระเบียบการลา ก็มิใช่เอกสารที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการของโรงเรียนในระบบ จึงมิใช่เอกสารตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (4) ที่ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องแนบพร้อมตราสารจัดตั้งมาพร้อมคำขอตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ด้วย ส่วนที่โจทก์อ้างว่าถ้านายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามมาตรา 130 นั้น เห็นได้ว่าในการกำหนดบทลงโทษตามมาตรา 130 เป็นกรณีที่ผู้จัดตั้งโรงเรียนในระบบโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 18 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับระเบียบการลาตามที่โจทก์อ้างในฎีกา ดังนี้ จึงไม่มีกรณีที่จำเลยต้องจัดส่งระเบียบการลาให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ตามที่โจทก์อ้างในฎีกาแต่อย่างใด เมื่อคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมายุติว่าจำเลยกำหนดระเบียบการลา และโจทก์ทราบระเบียบดังกล่าวตามรายงานการประชุมครูและบุคลากรของโรงเรียน ถือว่าระเบียบการลา มีผลใช้บังคับแก่โจทก์และจำเลยแล้ว ส่วนที่ว่าระเบียบการลา มีผลใช้บังคับแก่โจทก์และจำเลยเพียงใดนั้นจะต้องพิจารณาประกอบระเบียบเกี่ยวกับการคุ้มครองการทำงานที่คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนกำหนดตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 86 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับกับผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน แต่เมื่อในขณะเกิดเหตุยังไม่ได้ออกระเบียบดังกล่าวเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงต้องนำระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับแทนโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติดังกล่าวตามมาตรา 166 เมื่อพิจารณาระเบียบการลา ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ข้อ 24 และ ข้อ 25 แล้ว ปรากฏว่าระเบียบการลา ข้อ 2 การลากิจ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เฉพาะข้อ 2 ที่กำหนดว่า "ต้องยื่นใบลาต่อผู้บริหารล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันทำงาน" นั้น ไม่สอดคล้องกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ข้อ 25 (1) ที่ว่า "การลากิจ หรือลาเพื่อทำหมันให้ยื่นใบลาล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน ในกรณีจำเป็นและไม่สามารถยื่นใบลาได้ตามกำหนด ให้แจ้งการลาโดยเร็วที่สุด" ดังนี้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับลากิจในส่วนนี้จึงต้องใช้บังคับตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ข้อ 25 (1) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมายุติว่า โจทก์ไม่ได้ยื่นใบลากิจล่วงหน้าก่อน 3 วันทำงาน ตามระเบียบการลา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 โจทก์ขอลากิจระหว่างวันที่ 13 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ตามหนังสือขอลากิจ โดยโจทก์เขียนหนังสือขอลากิจและวางไว้ที่โต๊ะทำงานของหัวหน้าฝ่ายอนุบาล ระบุเวลาส่ง 16.45 นาฬิกา หลังเวลาเลิกงานโจทก์รีบเดินทางไปกับบิดาทันทีโดยยังไม่ได้รับอนุมัติการลาจากจำเลยเพราะไม่สามารถรอคำอนุมัติได้ ต่อมาจำเลยไม่ได้อนุมัติใบลากิจของโจทก์เนื่องจากโจทก์เพิ่งกลับเข้ามาปฏิบัติงานเป็นวันแรกหลังจากถูกพักงานครั้งที่สองและจำเลยได้เรียกโจทก์ให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่และแจ้งคำสั่งให้ทราบแล้วตามหนังสือไม่อนุมัติการลา โจทก์ไม่กลับมาปฏิบัติหน้าที่ และโจทก์ไม่ได้มาทำงานในวันที่ 16 มิถุนายน 2561 สาเหตุที่โจทก์ลากิจเนื่องจากโจทก์ต้องเดินทางไปกับนายอิศเรศวรซ์ บิดาโจทก์ซึ่งมีอายุกว่า 70 ปี ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อไปเยี่ยมพี่สาวของนายอิศเรศวรซ์ ดังนี้ แม้การยื่นขอลากิจของโจทก์ดังกล่าวได้ยื่นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ก่อนวันแรกที่ขอลากิจคือวันที่ 13 มิถุนายน 2561 เป็นเวลาอย่างน้อย 1 วัน ซึ่งพอถือได้ว่าได้ยื่นใบลาล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2542 ข้อ 25 (1) ก็ตาม แต่เมื่อการลากิจตามระเบียบการลา ของจำเลย ข้อ 2 การลากิจยังได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นอีกในข้อ 4 ไว้ด้วยว่า "การอนุมัติคำขอขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหาร หากไม่มาปฏิบัติงาน โดยที่ผู้บริหารยังไม่อนุมัติคำขอลาจะถือว่า "ขาดงาน" และไม่ได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าว" เช่นนี้ การขอลากิจของโจทก์จึงต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวด้วย การที่โจทก์หยุดโดยยังไม่ได้รับอนุมัติจากจำเลย และเดินทางไปกับบิดาทันทีภายหลังยื่นขอลากิจและหลังเวลาเลิกงานโดยไม่ได้รออนุมัติจากจำเลย เมื่อต่อมาจำเลยไม่ได้อนุมัติใบลากิจของโจทก์เนื่องจากโจทก์เพิ่งกลับเข้ามาปฏิบัติงานเป็นวันแรกหลังจากถูกพักงานครั้งที่สองและจำเลยได้เรียกโจทก์ให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่และแจ้งคำสั่งตามหนังสือไม่อนุมัติการลาให้ทราบแล้ว และโจทก์ไม่ได้มาทำงานในวันที่ 13 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2561 นั้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบการลา อีกทั้งเมื่อสาเหตุการลากิจของโจทก์เป็นการพาบิดาซึ่งมีอายุกว่า 70 ปี ไปเยี่ยมพี่สาวของบิดาที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น ก็เห็นได้ว่าตามพฤติการณ์ดังกล่าวมาถือเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่ไม่ใช่กรณีมีความจำเป็นทางครอบครัว ถือว่าไม่มีเหตุอันสมควร การกระทำของโจทก์จึงถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงานไปเสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์แต่อย่างใด และการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยสาเหตุดังกล่าวนี้ด้วย ถือได้ว่าเป็นเหตุอันสมควรและเพียงพอในการเลิกจ้าง ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาคดีส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน