โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่บนที่ดินกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ ให้พ้นจากที่ดินกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป และส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทคืนโจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะดำเนินการแล้วเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า มีคดีที่เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 3165 รวม 4 คดี คดีแรก คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 476/2556 และ 1055/2556 หมายเลขแดงที่ 1051 - 1052/2557 ของศาลชั้นต้น โจทก์คดีนี้และเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอีกหกคนเป็นโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขับไล่เทศบาลตำบลบ้านหมอเป็นจำเลยที่ 1 นายสุทธิชัย เป็นจำเลยที่ 2 ออกจากที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า เจ้าของที่ดินพิพาทคนเดิมได้ยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ทางราชการตั้งแต่ปี 2498 เพื่อใช้ที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์ นายชาญจดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินเป็นการขัดต่อกฎหมาย นายชาญจึงไม่มีอำนาจโอนที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ด จำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าที่ดินกับนายชาญเนื่องจากสำคัญผิด นิติกรรมการเช่าเป็นโมฆะ โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าและค่าเสียหาย คดีดังกล่าวถึงที่สุดในชั้นฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งเจ็ด ให้จำเลยทั้งสองและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งเจ็ด 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 721 - 722/2560 ในระหว่างฟ้องคดีแรกนั้น ได้มีการฟ้องคดีที่ 2 คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 306/2557 หมายเลขแดงที่ 561/2558 ของศาลชั้นต้น โดยนายชาติชาย โจทก์ที่ 3 ในคดีแรก เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีแรกในข้อหาละเมิด ขับไล่ ในที่ดินพิพาทแปลงเดิม ในส่วนที่จำเลยทั้งสองเข้ามาทำถนน ปักป้ายบอกชื่อถนน ชื่อซอย ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าถนนในที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะสามารถขับรถเข้าไปได้ ขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนถนนพร้อมป้ายชื่อออกจากที่ดิน และห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งหกฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองในที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแรกแล้ว และคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณา การที่โจทก์กับพวกมายื่นฟ้องขับไล่ให้จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทอีก จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันในระหว่างพิจารณา เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามกฎหมาย ระหว่างการพิจารณาของคดีที่ 2 ได้มีการฟ้องคดีที่ 3 เป็นคดีผู้บริโภคเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 โดยมีโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสิบห้าซึ่งเป็นผู้เช่าในที่ดินแปลงเดียวกันเป็นจำเลย ให้ขับไล่จำเลยแต่ละรายและเรียกค่าเสียหาย 15 คดี ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ 143/2558 ถึง ผบ 157/2558 โดยโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 3 คือโจทก์และจำเลยคดีนี้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 9 ในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทบางส่วนเป็นถนนสาธารณะ บางส่วนเป็นสถานที่ราชการ บางส่วนเป็นสวนสาธารณะ โจทก์ทั้งเจ็ดไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 9 อาศัยอยู่ และไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 4 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 15 ให้การทำนองเดียวกันว่า ไม่เคยทำสัญญาเช่ากับโจทก์ทั้งเจ็ด บิดามารดาจำเลยที่ 4 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 15 อาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยสงบ โดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมานานกว่า 50 ปี ที่ดินพิพาทที่ใช้ปลูกสร้างบ้านจึงตกเป็นของบิดามารดาจำเลยที่ 4 ที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 15 โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 7 ให้การว่า จำเลยที่ 7 ปลูกสร้างบ้านโดยไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของที่ดิน จำเลยที่ 7 จ่ายค่าเช่าแล้ว เมื่อยังไม่ครบกำหนดชำระค่าเช่า จำเลยที่ 7 จึงไม่ต้องจ่ายค่าเช่าอีก ระหว่างพิจารณาคู่ความตกลงท้ากันให้เอาผลคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่ 2 คือคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 306/2557 ของศาลชั้นต้น ระหว่างนายชาติชาย โจทก์ กับเทศบาลตำบลบ้านหมอ ที่ 1 นายสุทธิชัย ที่ 2 จำเลย เป็นผลแพ้ชนะในคดี หากในคดีที่ 2 ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ทั้งเจ็ดในคดีที่ 3 ยอมแพ้โดยยอมให้ยกฟ้อง หากในคดีที่ 2 ศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี จำเลยทั้งสิบห้ายอมแพ้คดีโดยจะยอมออกจากที่ดินพิพาท และยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งเจ็ดโดยให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดให้ตามที่เห็นสมควร ศาลชั้นต้นในคดีที่ 3 อนุญาตให้เป็นไปตามที่คู่ความท้ากัน ปรากฏว่าคดีที่ 2 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีที่ 2 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1051 – 1052/2557 ของศาลชั้นต้น มีคู่ความรายเดียวกันและประเด็นข้อพิพาทเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งฝ่ายโจทก์สามารถขอให้ขับไล่รวมไปในคดีก่อนได้ แต่หาได้กระทำไม่ และคำขอบังคับของคดีแรกและคดีที่ 2 คือขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท และศาลได้วินิจฉัยไว้ในคดีแรกแล้วว่าที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่บนที่ดินมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารโดยให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ดังนั้น การวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยไว้ในคดีแรก โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งหกจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีที่ 2 อีก พิพากษายกฟ้อง ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 561/2558 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีที่ 2 ถึงที่สุด จำเลยทั้งสิบห้าในคดีที่ 3 จึงชนะคดีตามคำท้า ซึ่งศาลชั้นต้นคดีที่ 3 วินิจฉัยว่า คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 306/2557 หมายเลขแดงที่ 561/2558 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง จำเลยทั้งสิบห้าจึงเป็นฝ่ายชนะคดีตามคำท้า และพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ 109/2558 ถึง ผบ 123/2558 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 มีการฟ้องคดีนี้เป็นคดีที่ 4 โดยโจทก์ที่ 2 ในคดีที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีที่ 3 เป็นจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า ในคดีก่อนคือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ 109/2558 ถึง ผบ 123/2558 ที่โจทก์คดีนี้เป็นโจทก์ที่ 2 และจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 3 คดีมีประเด็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสิบห้าออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสิบห้าได้หรือไม่ ซึ่งที่ดินพิพาทในคดีก่อนก็คือที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันกับคดีนี้ แม้คดีนี้โจทก์จะเปลี่ยนรูปคดีจากเรื่องขับไล่และเรียกค่าเสียหายเป็นการเรียกทรัพย์คืนและเรียกค่าเสียหาย แต่ก็มีคำขอให้จำเลยออกไปจากสิ่งปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทแปลงเดิมเหมือนคดีก่อน ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับว่าประเด็นข้อนี้มีอยู่แล้วในคดีก่อนเป็นแต่ศาลยังมิได้วินิจฉัย เพราะศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปตามคำท้า แม้ในคดีก่อนศาลจะมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีโดยตรง เนื่องจากคู่ความตกลงท้ากันเฉพาะผลคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 306/2557 หมายเลขแดงที่ 561/2558 เป็นข้อแพ้ชนะ แต่เมื่อศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีก่อนไปตามคำท้าของคู่ความให้โจทก์แพ้คดีโดยพิพากษายกฟ้องไปแล้ว คำพิพากษาคดีก่อนย่อมผูกพันคู่ความว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทโดยโจทก์ขับไล่ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ดังนั้น โจทก์ซึ่งแพ้คดีและถูกยกฟ้องไปแล้วในคดีก่อน จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ออกไปจากที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้ได้อีกต่อไป มิฉะนั้นผู้ที่แพ้คดีตามคำท้าก็จะนำคดีมาฟ้องร้องใหม่อีกโดยไม่จบสิ้น อีกทั้งคู่ความในคดีก่อนและคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน และคดีก่อนได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำคดีที่มีประเด็นเดียวกันและคดีถึงที่สุดแล้วมาฟ้องใหม่อีก เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 อีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ