โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,466,500 บาท แก่โจทก์ทั้งหก พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหก
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 1,456,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 กันยายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหก กับให้จำเลยที่ 3 ร่วมกันรับผิดชำระเงินไม่เกิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหก ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งหก สำหรับค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสามรับผิดเพียงเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งหกชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นบิดามารดานายภากร ผู้ตาย โจทก์ที่ 3 เป็นภริยาผู้ตาย โจทก์ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 เป็นบุตรผู้เยาว์ของผู้ตาย ผู้ตายทำงานเป็นพนักงานของบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2542 เวลา 15.30 นาฬิกา เกิดเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกันในที่เกิดเหตุ ซึ่งอยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 197 กับ 198 ของถนนมิตรภาพ ช่วงถนนโค้งและลงเนิน มีช่องเดินรถ 4 ช่อง มีเกาะกลางถนนแบ่งช่องเดินรถข้างละ 2 ช่อง คือ มุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครราชสีมา 2 ช่อง ช่องเดินรถสวนทาง 2 ช่อง เหตุเกิดที่ช่องเดินรถที่มุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครราชสีมา รถที่เกิดเหตุนั้นคันหนึ่งเอาประกันภัยไว้กับบริษัทที่ผู้ตายทำงาน ผู้ตายไปตรวจสอบที่เกิดเหตุและถ่ายภาพรถและสถานที่เกิดเหตุ ผู้ตายขับรถยนต์ของผู้ตายไป เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หมายเลขทะเบียน 6 ษ - 6700 กรุงเทพมหานคร ผู้ตายจอดรถยนต์ไว้ที่ไหล่ทางด้านขวา มีพนักงานของหน่วยกู้ภัยคอยโบกรถที่แล่นมุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครราชสีมาซึ่งมีช่องเดินรถ 2 ช่อง ให้ขับไปทางช่องเดินรถช่องซ้าย จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 8 ฒ - 2717 กรุงเทพมหานคร เป็นรถยนต์กระบะตอนเดียว ที่กระบะท้ายได้ต่อโครงเหล็กเสริมสำหรับบรรทุกสิ่งของ มีหลังคาอลูมิเนียมคลุมกระบะ จำเลยที่ 2 เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 กำหนดความรับผิดชอบต่อบุคคลคนละ 250,000 บาท ขณะเกิดเหตุอยู่ในระยะเวลาประกันภัย จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 คันดังกล่าวบรรทุกน้ำมันพืชของจำเลยที่ 2 จำนวน 150 ปีบ น้ำหนักปีบละประมาณ 15 กิโลกรัม มุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครราชสีมา โดยขับรถในช่องเดินรถช่องขวา เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ เห็นพนักงานของหน่วยกู้ภัยโบกรถให้ขับไปทางช่องเดินรถช่องซ้าย ก็หักหลบไปทางช่องเดินรถช่องซ้าย แต่รถยนต์ที่ขับเสียหลักพลิกหงายท้อง ล้อทั้งสี่ชี้ฟ้า ลื่นไถลไป ซึ่งโจทก์ฟ้องว่า ลื่นไถลไปชนรถยนต์ของผู้ตายที่จอดอยู่ รถยนต์ของผู้ตายกระเด็นไปถูกผู้ตายที่ยืนถ่ายภาพอยู่ที่หน้ารถยนต์ของผู้ตาย ผู้ตายได้รับอันตรายแก่กายสาหัส ถึงแก่ความตายในวันรุ่งขึ้น ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 พันตำรวจโทชัยวัฒน์ พนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 1 ว่าขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน และเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ วันที่ 23 พฤษภาคม 2543 พนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดสีคิ้ว) จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งหกฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 โจทก์ทั้งหกยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสำนวนคดีอาญาดังกล่าวเป็นพยานของโจทก์ทั้งหกด้วย ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ทั้งหกได้ 2 ปาก คือโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เบิกความเมื่อวันที่ 20 และ 30 สิงหาคม 2544 ตามลำดับ ครั้นวันที่ 27 กันยายน 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลคดีอาญา โดยคดีอาญา สืบพยานโจทก์ปากแรกคือ ตัวโจทก์ที่ 3 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2545 วันที่ 22 มกราคม 2545 สืบร้อยตำรวจเอกสถาพร รองสารวัตรงาน 2 กองกำกับการวิทยาการเขต 4 ผู้ตรวจพิสูจน์ร่องรอยเฉี่ยวชนของรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 กับรถยนต์ของผู้ตาย และวันที่ 17 กันยายน 2545 สืบนายเจษฎา ผู้อ้างว่าเป็นประจักษ์พยานคดีนี้ ต่อมาจำเลยที่ 1 หลบหนีคดีอาญา ถึงวันนัดวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 ยังจับตัวจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ศาลชั้นต้นออกหมายจับและจำหน่ายคดีอาญาชั่วคราว วันที่ 20 มกราคม 2547 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาต่อไป และให้นำสำนวนคดีอาญามาผูกพ่วงไว้กับคดีนี้ตามที่โจทก์ทั้งหกขอ ศาลชั้นต้นนัดพร้อมวันที่ 22 มีนาคม 2547 และนัดสืบพยานโจทก์ทั้งหกและพยานจำเลยที่ 2 ในวันที่ 22 ธันวาคม 2547 เวลา 9.00 ถึง 16.30 นาฬิกา ถึงวันนัดศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาเวลา 13.30 นาฬิกา ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ทั้งหกได้อีก 1 ปาก ทนายโจทก์ทั้งหกแถลงหมดพยาน ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไปในวันเดียวกันนั้น โดยสืบพยานจำเลยที่ 2 ได้ 2 ปาก ฝ่ายจำเลยที่ 2 แถลงหมดพยาน ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ขณะคดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรากฏตามสำนวนคดีอาญาที่ผูกพ่วงกับคดีนี้ว่า วันที่ 3 มกราคม 2551 ผู้ประกันตามจับจำเลยที่ 1 ส่งศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยที่ 1 ก่อนพิพากษา ในรายงานของพนักงานคุมประพฤติรายงานต่อศาลชั้นต้นระบุไว้ด้วยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ 2 ขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ขับมาในช่องเดินรถช่องขวามือตลอดด้วยความเร็วสูง เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ มีชาย 2 คน โบกรถให้ขับรถไปในช่องเดินรถช่องซ้าย แต่โบกกะทันหัน จึงหักหลบไปช่องเดินรถช่องซ้ายรถพลิกคว่ำไถลไปชนรถยนต์ของผู้ตาย รถยนต์ของผู้ตายกระเด็นไปชนผู้ตาย ศาลชั้นต้นลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ต่อมาถอนอุทธรณ์ คดีอาญาถึงที่สุดแล้วโดยศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด (หมายแดง) ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2551 ส่วนคดีนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2551
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลล่างทั้งสองควรรอฟังข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาคดีส่วนอาญาก่อนนั้น เห็นว่า ศาลในคดีส่วนแพ่งจะรอฟังข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาคดีส่วนอาญาหรือไม่ก็ได้ เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป ไม่มีบทกฎหมายบังคับให้จำต้องรอฟังพฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ที่หลบหนีคดีอาญาอยู่ ไม่อาจทราบได้ว่าคดีส่วนอาญาจะมีคำพิพากษาได้เมื่อใด การที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอฟังคดีอาญาก่อนจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ