โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลของเจ้าพนักงานประเมินจากจำเลยที่ 1 รวม 3 ฉบับ โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่คณะกรรมการดังกล่าววินิจฉัยยกอุทธรณ์โจทก์ ซึ่งโจทก์เห็นว่าคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เก็บเอกสารหลักฐานบัญชีของโจทก์ประจำปี พ.ศ. 2519 ถึง 2523 ไว้ที่บ้านพักของหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งไม่ใช่สถานที่ประกอบธุรกิจการค้าของโจทก์อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 13 ซึ่งให้ผู้มีหน้าที่ทำบัญชีเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ประกอบธุรกิจและโจทก์มิได้ขออนุญาตเก็บบัญชีและเอกสารไว้ ณ สถานที่อื่นตามประกาศของกรมทะเบียนการค้า (พ.ศ. 2526) ลงวันที่ 24 มีนาคม 2526และมิได้แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ทราบล่วงหน้าว่าจะเก็บบัญชีและเอกสารประกอบไว้ที่อื่นตามประมวลรัษฎากรมาตรา 83 ตรี ฉะนั้น ที่โจทก์อ้างว่าบัญชีและเอกสารประกอบสูญหายเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจส่งมอบบัญชีและเอกสารดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ จึงไม่ถูกต้อง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า โจทก์ได้ใช้สำนักงานสาขาของโจทก์เป็นสถานการค้าและเป็นสถานที่ประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ ปรากฏตามคำเบิกความของนายวีระพันธ์ เทอดธรรมไพศาลพยานโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ว่า สำนักงานสาขาของโจทก์เป็นอาคาร 3 คูหา เปิดเป็นร้านขายยา 2 คูหา ใช้ชื่อร้านว่า"แม่ฮ่องสอนเภสัช" ส่วนอีกคูหาหนึ่งมีป้ายชื่อ "บริษัทแม่ฮ่องสอนก่อสร้าง จำกัด" ติดไว้ที่กระจกหน้าสำนักงาน ที่สำนักงานสาขาทั้ง 3คูหานี้ไม่มีป้ายชื่อห้างโจทก์ติดอยู่เลย สำหรับร้านขายยาแม่ฮ่องสอนเภสัชนี้เปิดขายยามาก่อนที่จะมีการก่อตั้งห้างโจทก์และนายวีระวัฒน์ เทอดธรรมไพศาล น้องชายของพยานเป็นผู้ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ต้น ก่อนก่อตั้งห้างโจทก์เช่นเดียวกัน ส่วนบริษัทแม่ฮ่องสอนก่อสร้าง จำกัด ก็มีนายวีระวัฒน์เป็นผู้ดำเนินการและเป็นผู้จัดการ และปรากฏตามคำเบิกความของนายวีระวัฒน์พยานโจทก์ว่าสำนักงานสาขาของโจทก์ใช้เป็นบ้านพักของพยานกับภริยาและบุตรจากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าว เห็นได้ว่าร้านขายยาแม่ฮ่องสอนเภสัชที่ตั้งอยู่ที่สำนักงานสาขาของโจทก์นั้นเป็นกิจการของนายวีระวัฒน์ซึ่งได้เปิดดำเนินกิจการมาก่อนก่อตั้งห้างโจทก์แล้วหาใช่เป็นกิจการของโจทก์ไม่ ส่วนอีกคูหาหนึ่งที่ว่าใช้เป็นที่เก็บวัสดุก่อสร้างนั้น ก็ปรากฏว่าติดป้ายชื่อบริษัท แม่ฮ่องสอนก่อสร้างจำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์รับเหมาก่อสร้างและมีนายวีระวัฒน์เป็นกรรมการผู้จัดการ วัสดุก่อสร้างที่เก็บไว้ดังกล่าวจึงน่าจะเป็นวัสดุก่อสร้างของบริษัทแม่ฮ่องสอนก่อสร้าง จำกัด ที่เก็บไว้ใช้ในการรับเหมาก่อสร้าง ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นของโจทก์ เพราะถ้าหากใช้เป็นที่เก็บวัสดุก่อสร้างของโจทก์จริงแล้ว ก็น่าจะมีป้ายชื่อห้างของโจทก์ติดไว้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ใช้สำนักงานสาขาเป็นสถานการค้าหรือสถานที่ประกอบธุรกิจของโจทก์ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง เมื่อฟังข้อเท็จจริงเช่นนี้แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า การเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ที่สำนักงานสาขาซึ่งใช้เป็นสถานการค้าและสถานที่ประกอบธุรกิจของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี จะถือว่าเป็นการเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่อื่นตามความหมายแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 285 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 13 หรือไม่อีกต่อไปกรณีของโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นการเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ในสถานการค้าหรือสถานที่ประกอบธุรกิจของโจทก์แต่เป็นการเก็บรักษาไว้ ณ สถานที่อื่น และโจทก์มิได้รับอนุญาตจากสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชี จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ข้อ 13 ดังกล่าว โจทก์จะยกเอาเหตุที่บัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายอันเกิดจากการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อกฎหมายของโจทก์มาอ้างเป็นเหตุสุดวิสัยเพื่อมิให้เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) ไม่ได้"
พิพากษายืน.