โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ลงโทษจำคุก 3 ปี ทางนำสืบจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 โจทก์ฟ้องจำเลยกับนางวิมลวรรณ เป็นคดีแพ่ง เรียกค่าเช่ารถยนต์และค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองคนเช่ารถยนต์ของโจทก์ ซึ่งจำเลยเป็นผู้รับเหมาช่วงนำรถไปใช้ในโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 22 สายบ้านธาตุนาแวง - สกลนคร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โจทก์ส่งมอบรถยนต์ที่จำเลยเช่าไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2540 เป็นเงินทั้งสิ้น 20,195,875 บาท โจทก์ทำหนังสือแจ้งหนี้ให้จำเลยทั้งสองทราบแล้วตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมค่าเสียหาย คิดเป็นดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องอีกจำนวน 1,786,411.60 บาท รวมเป็นเงินตามฟ้องทั้งสิ้น 23,824,036.60 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 22,037,625 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำพิพากษาให้จำเลยร่วมกับนางวิมลวรรณ ชำระหนี้ค่าเช่ารถยนต์ให้โจทก์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยกับนางวิมลวรรณ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดยืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยร่วมกับนางวิมลวรรณชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 นายไกรสร เจ้าหนี้รายหนึ่งของจำเลยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลล้มละลายกลางตามคดีหมายเลขแดงที่ ล.7611/2554 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2554 และโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย วันที่ 15 พฤษภาคม 2555 จำเลยกับนางวิมลวรรณยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร.หรือโจทก์ในคดีนี้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว แต่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด วันที่ 29 มิถุนายน 2555 จำเลยได้โอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1502, 1516 และ 1517 รวม 3 แปลง ซึ่งจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนายสงวนศักดิ์ นางจันทร์เพ็ญ และนายลักษณ์ ให้แก่นายภาณุ ต่อมาจำเลยขอประนอมหนี้หลังล้มละลาย ศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้และมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 โจทก์เพิ่งทราบเรื่องที่จำเลยโอนขายที่ดินให้แก่นายภาณุหลังจากที่โจทก์มอบอำนาจให้ทนายโจทก์ไปตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อจะบังคับคดีในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยกับนางวิมลวรรณถูกโจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่ารถยนต์ 11 คัน จากจำเลยและนางวิมลวรรณ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 แต่ปรากฏว่าจำเลยถูกนายไกรสรฟ้องต่อศาลล้มละลายกลาง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2554 และโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ศาลล้มละลายกลางพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยขอประนอมหนี้หลังล้มละลาย ศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้และมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 ดังนี้ เมื่อหนี้ของโจทก์เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย ซึ่งโจทก์ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 ในการขอรับชำระหนี้ กล่าวคือ โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ต่อไป ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ที่บัญญัติว่า เจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้นั้น หมายความถึงเจ้าหนี้ที่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมหมดสิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยได้อีกต่อไป เพราะผลของประนอมหนี้หลังล้มละลายย่อมผูกพันโจทก์และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายไปแล้ว จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย การที่จำเลยขายที่ดินตามฟ้องจึงไม่ใช่การกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในคดีแพ่งได้รับชำระหนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ที่โจทก์ฎีกาว่า บทบัญญัติของกฎหมายในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้มิได้บัญญัติเฉพาะเจ้าหนี้ คือ ตัวโจทก์เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงเจ้าหนี้ของจำเลยคนอื่น ๆ ด้วย เช่น นายไกรสร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดไว้แล้ว ซึ่งถือได้ว่า เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยเช่นเดียวกับโจทก์ การขายทรัพย์สินของจำเลยดังกล่าวก็เพื่อไม่ให้นายไกรสรกับพวกได้รับชำระหนี้เช่นเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 350 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตน...ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน คำว่า "เจ้าหนี้ของตน" ย่อมหมายถึงเฉพาะโจทก์ ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ มิได้หมายความรวมถึงเจ้าหนี้คนอื่นของจำเลยซึ่งมิได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย ส่วนฎีกาอื่นของโจทก์ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน