โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2528 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยแจ้งให้โจทก์ไปชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2523 พร้อมเงินเพิ่ม โดยอ้างว่าโจทก์แสดงยอดรายได้ในบัญชีทำการต่ำกว่ารายรับตามแบบ ภ.ค.4 เป็นเงิน 1,850,050.66 บาท และมีรายจ่ายต้องห้ามเป็นเงิน 106,898 บาท เจ้าพนักงานประเมินได้ปรับปรุงค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นเงิน 3,117.45 บาท คำนวณแล้วโจทก์จะมีกำไรสุทธิ เป็นเงิน 12,768,342.50 บาท โจทก์ต้องเสียภาษีเพิ่มพร้อมเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 1,055,068.96 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว และได้อุทธรณ์การประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วให้โจทก์ชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเงินเพิ่ม รวมเป็นเงิน 694,737.40 บาทการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยดังกล่าวยังไม่ถูกต้องกล่าวคือในรอบระยะเวลาบัญชี 2523 โจทก์มีรายได้จากการจำหน่ายไม้ซุง 26,883,389.15 บาท และในการคำนวณกำไรสุทธิ โดยนำรายจ่ายต้องห้าม จำนวน 103,780.55 บาท มารวมเป็นรายได้แล้วจะมีกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว 10,961,261.79 บาท เป็นเงินค่าภาษีพร้อมเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระเพียง 79,243.36 บาท ฉะนั้นการที่เจ้าพนักงานของจำเลยทำการประเมินให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มเป็นเงิน 694,737.40 บาท จึงเป็นการประเมินที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับเงินที่โจทก์จ่ายคืนเป็นค่าไม้ เจ้าพนักงานประเมินอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับนั้น ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2523 นายตั้งฟูหรือโกเอ๋ง แซ่ด่าน เจ้าของโรงเลื่อยเซียมเฮงล้งได้โอนเงินผิดบัญชีเข้าบัญชีโจทก์ 764,268 บาท โจทก์ได้คืนเงินดังกล่าวแก่นายตั้งฟูหรือโกเอ๋ง แซ่ด่าน ไปในวันที่นำเงินเข้าบัญชีโจทก์ผิดนั้นเอง และในเดือนพฤศจิกายน 2523 มีผู้จ่ายค่าไม้แก่โจทก์เกินและต้องคืนให้ไป เป็นเงิน 5,800 บาท เงินที่โจทก์คืนไปดังกล่าวข้างต้นโจทก์ย่อมนำมาถือเป็นรายจ่ายได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินไม่ยอมให้ถือเป็นรายจ่ายจึงไม่ถูกต้อง ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และมีคำสั่งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิจิบุคคล และเงินเพิ่ม เป็นเงิน 79,243.36บาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินได้เรียกตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2522-2523 และจากการตรวจสอบปรากฏว่าโจทก์ลงรายได้ในแบบ ภ.ค.4 และ ภ.ง.ด.5 ไม่ตรงกับรายรับตามใบเสร็จรับเงินกล่าวคือ ในแบบ ภ.ง.ด.5 โจทก์ลงรายรับไว้ 26,676,660.05 บาทรายรับตามแบบ ภ.ค.4 โจทก์ลงไว้เป็นเงิน 28,526,710.71 บาท แต่จากเอกสารใบเสร็จรับเงินของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์มีรายรับ27,859,430.05 บาท ยอดรายรับตามที่ตรวจพบดังกล่าวไม่ตรงกันเจ้าพนักงานประเมินจึงถือเอาจำนวนเงินที่ปรากฏในแบบ ภ.ค.4 ซึ่งเป็นรายรับสูงสุดของโจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2523 แต่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.5 เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวเป็นเงิน 26,676,660.05 บาท ฉะนั้นย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่นำรายรับไปลงบัญชีเป็นเงิน 1,850,050.66 บาท เจ้าพนักงานของจำเลยได้วิเคราะห์เงินที่โจทก์ไม่นำลงบัญชีดังกล่าวนั้นเนื่องจากโจทก์ลงบัญชีไม่ตรงกับใบเสร็จ และไม่ลงบัญชี 3 รายการคือหลักฐานตามใบเสร็จเป็นเงิน 205,800 บาท แต่ลงบัญชีเพียง105,800 บาท หลักฐานตามใบเสร็จเป็นเงิน 463,691 บาท แต่โจทก์ลงบัญชีเพียง 462,691 บาท และหลักฐานตามใบเสร็จเป็นเงิน 205,780บาท แต่โจทก์ไม่ลงบัญชีสำหรับเงินที่โจทก์อ้างว่าจ่ายคืนให้กับผู้ซื้อไม้มี 3 ราย คือ จ่ายคืนแก่โรงเลื่อยไทยไพบูลย์ จำนวน106,722 บาท นายกวง จำนวน 5,000 บาท และเซียมเฮงล้งจำนวน 764,268 บาท โจทก์ไม่มีหลักฐานยืนยันการคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อไม้ทั้งสามรายดังกล่าวจึงต้องถือว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า โจทก์ลงรายได้ตามที่แสดงไว้ในแบบ ภ.ค.4 เกินไปเพราะเหตุใดและจากการตรวจสอบยังพบว่าโจทก์มีรายจ่ายต้องห้ามคือทรัพย์สินที่นำมาเป็นค่าใช้จ่าย 33,745 บาท ค่างานการกุศลไม่มีใบสำคัญจ่าย 6,720 บาท และค่ารับรองไม่ถือเป็นรายจ่าย 66,433 บาทเจ้าพนักงานประเมินได้ปรับปรุงรายได้และรายจ่ายแล้ว ปรากฏว่าในรอบระยะเวลาบัญชี 2523 โจทก์มียอดรายรับ 12,771,459.95 บาท หักด้วยค่าเสื่อมทรัพย์สินที่นำมาลงเป็นค่าใช้จ่าย 3,117.45 บาท แล้วโจทก์มีกำไรสุทธิที่จะต้องนำไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงิน12,768,342.50 บาท คิดเป็นเงินค่าภาษีในอัตราร้อยละ 45 แล้วเป็นเงิน 5,745,755.13 บาท โจทก์ได้ชำระค่าภาษีไว้แล้วเป็นเงิน4,866,530 บาท ฉะนั้นโจทก์จะต้องชำระเงินค่าภาษีเพิ่มเป็นเงิน879,224.13 บาท กับต้องชำระเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 อีก175,844.83 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระทั้งสิ้น 1,055,068.96 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า รายรับที่โจทก์ไม่ได้นำมาคำนวณเงินได้นิติบุคคลปี 2523 เป็นเงิน 1,182,770 บาท ซึ่งเป็นยอดเงินที่โจทก์จ่ายคืนให้โรงเลื่อยจักรไทยไพบูลย์ 106,722 บาท จ่ายคืนนายกวง 5,000 บาท จ่ายคืนโรงเลื่อยเซียมเฮงล้ง 764,268 บาทโจทก์ลงบัญชีต่ำกว่าใบเสร็จและไม่ลงบัญชี 306,780 บาท โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการคืนเงินกันจริง จึงได้ทำการปรับปรุงรายได้และรายจ่ายแล้ว โจทก์ต้องรับผิดชำระภาษีเพิ่มเติม 694,737.40 บาทคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะในส่วนที่ไม่ยอมให้โจทก์นำเงินจำนวน 764,268 บาท มาหักออกจากรายรับจำนวน27,859,430.05 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว สำหรับเงินจำนวน 764,268 บาท ตามใบเสร็จเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 12-13เป็นเงินที่โจทก์รับจากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโรงเลื่อยเซียมเฮงล้ง และตามคำเบิกความของนางสาวบัวสวรรค์วิศิษฐ์พาณิชย์ ประกอบกับเอกสารหมาย จ.3 ปรากฏว่าได้โอนเข้าบัญชีโจทก์ นางสาวเพียรพร จำเริญพฤกษ์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลย ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าโจทก์มีรายรับตามใบเสร็จ และโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับไป จึงไม่ถือเป็นรายจ่ายอันจะนำมาหักค่าใช้จ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิได้ แต่โจทก์อ้างว่าได้จ่ายคืนให้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโรงเลื่อยเซียมเฮงล้งแล้ว โดยมีนายตั้งฟูหุ้นส่วนผู้จัดการรับไป เพราะเงินจำนวนนี้มีการเข้าใจผิดว่าซื้อขายไม้กัน จึงได้โอนเข้าบัญชีโจทก์และโจทก์ได้ออกใบเสร็จให้ตามเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 12-13 เมื่อทราบเรื่องก็จ่ายเงินคืนในวันโอนเข้าบัญชี กรณีเช่นนี้โจทก์จะมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงิน ตามมาตรา 65 ตรี(18) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งโจทก์มีนายบรรจบ อธิพงศ์วณิช และนางสุกีสุริยะวงศ์กุล เป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารว่า เงินดังกล่าวโจทก์ได้จ่ายเช็คตามเอกสารหมาย จ.4 คืนให้ไปแล้วนายตั้งฟูหรือโกเอ๋งหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโรงเลื่อยเซียมเฮงล้งเป็นผู้รับ แต่นายตั้งฟูหรือโกเอ๋งได้ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2525 จึงไม่สามารถนำตัวมายืนยันได้ และบัญชีโจทก์ที่ธนาคารทำไว้ตามเอกสารหมาย จ.3 มีทั้งนำเงินเข้าและถอนเงินออกในวันที่ 9 ตุลาคม 2523 จำนวน 764,268 บาท เท่ากันตามหลักฐานเหล่านี้แม้โจทก์จะมีพยานบุคคลมายืนยันว่า นายตั้งฟูหรือโกเอ๋งรับเงินไปแต่ในเช็คเอกสารหมาย จ.4 โจทก์จ่ายเงินสดแก่ผู้ถือ จึงไม่อาจชี้ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินตามเช็คฉบับนี้ คงมีแต่ลายเซ็นภาษาจีนที่ด้านหลังเช็คตามเอกสารหมาย จ.4 หรือล.3 แผ่นที่ 34 ซึ่งนายบรรจบพยานโจทก์เบิกความว่า ผู้รับเงินได้เซ็นชื่อไว้ด้านหลังเช็ค และนางสุกีเบิกความว่า นายตั้งฟูหรือโกเอ๋งหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโรงเลื่อยเซียมเฮงล้งได้ลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็ค เป็นการยืนยันว่าด้านหลังเช็คเป็นลายเซ็นของนายตั้งฟูหรือโกเอ๋ง แต่ลายเซ็นดังกล่าวเมื่อตรวจดูกับลายเซ็นตัวอย่างที่นายตั้งฟูหรือโกเอ๋งให้ไว้กับธนาคารตามเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 28 ปรากฏว่า ไม่เหมือนกันและนางสาวบัวสวรรค์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การจำกัด สาขาเพชรบูรณ์ได้เบิกความว่าเมื่อตรวจเปรียบเทียบลายเซ็นในเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 28 และ 34 แล้วเห็นว่า ไม่เหมือนกันฉะนั้นหลักฐานเอกสารที่โจทก์นำสืบมาไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าผู้รับเงินตามเช็คดังกล่าวจะเป็นนายตั้งฟูหรือโกเอ๋ง ส่วนหลักฐานทางบัญชีโจทก์ไม่สืบให้ปรากฏพอที่จะรับฟังได้ว่านายตั้งฟูหรือโกเอ๋งเป็นผู้รับเงินไป คงมีแต่คำพยานบุคคลคือนายบรรจบและนางสุกีว่าผู้รับเงินได้ลงชื่อไว้ด้านหลังเช็คกับนางสาวบัวสวรรค์ว่า เห็นนายตั้งฟูหรือโกเอ๋งไปที่ธนาคารในวันที่รับเงินตามเช็ค แต่เมื่อลายเซ็นผู้รับเงินด้านหลังเช็คไม่ตรงกับลายเซ็นตัวอย่างของนายตั้งฟูหรือโกเอ๋งที่มอบไว้แก่ธนาคาร โดยไม่ปรากฏว่านายตั้งฟูหรือโกเอ๋งจะเซ็นหรือเขียนชื่อหลายอย่าง หลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือพอจะรับฟังได้ว่า นายตั้งฟูหรือโกเอ๋งเป็นผู้รับเงินไป เมื่อเป็นเช่นนี้ถือว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นนายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ จึงไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ โจทก์ไม่มีสิทธิจะนำเงินจำนวน 764,268 บาท มาหักออกจากรายรับได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ กค.0846/1437ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2531 ในส่วนที่ไม่ยอมให้โจทก์นำเงินจำนวน764,268 บาท มาหักออกจากรายรับจำนวน 27,859,430.05 บาทเสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 800 บาท"