โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นาง ก. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 27,810 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 จำคุก 1 เดือน ให้จำเลยชำระเงิน 17,410 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 5,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟัง ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะที่ผู้เสียหายและจำเลยตกลงกันในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 78/2562 ของศาลอาญาธนบุรี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 ยังไม่มีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ก็ตาม แต่ขณะที่จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยยื่นฎีกา เมื่อพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 มาตรา 3 ให้คำนิยาม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสเจรจาตกลงกันระงับข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ทั้งนี้ไม่รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาลและในชั้นบังคับคดี ดังนั้น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาล เมื่อผู้เสียหายและจำเลยตกลงกันเกี่ยวกับคดีนี้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 78/2562 ของศาลอาญาธนบุรี ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาธนบุรีจึงเป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาล กรณีไม่เป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามคำนิยามดังกล่าว จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 35 วรรคสอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไป ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้มีคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมอยู่ด้วย จึงเป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้ในคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 17,410 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 มกราคม 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง เท่ากับศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งแล้ว การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาแล้วไม่ได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้ จึงเป็นการไม่ชอบตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสามศาลให้เป็นพับ