โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 2,480,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เคยทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท ก. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลยตั้งแต่ปี 2544 โจทก์ถูกโอนย้ายไปทำงานกับบริษัทอื่น ๆ อีกหลายแห่งจนมาทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ชำนาญการด้านโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ หน่วยงานด้านพัฒนาธุรกิจโรงงานแปรรูป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 77,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยจ่ายค่าชดเชย 775,000 บาท และค่าตอบแทนพิเศษจำนวน 3 เท่าของค่าจ้าง จำนวน 232,500 บาท รวมเป็นเงิน 1,007,500 บาท แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากมีความจำเป็นต้องปรับองค์กรให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ลักษณะงานในหน่วยงานที่โจทก์ทำอยู่มีการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น มีผลให้บุคลากรล้นงาน จำเลยพยายามหาทางโยกย้ายโจทก์ให้ไปทำงานยังธุรกิจอื่นของจำเลยและบริษัทในเครือ แต่ไม่มีหน่วยงานหรือธุรกิจใดรองรับโจทก์ได้ จำเลยโยกย้ายลูกจ้างบางส่วนไปยังธุรกิจอื่นของจำเลยและเจรจาเลิกจ้างลูกจ้างไปบางส่วน ไม่ได้เจาะจงเลือกปฏิบัติเฉพาะโจทก์ โจทก์อยู่ในหน่วยงานด้านพัฒนาธุรกิจโรงงานแปรรูปเพียงคนเดียวและไม่มีงานที่จะต้องทำ แต่จำเลยให้โจทก์มาทำงานโดยจ่ายค่าจ้างเป็นเวลาถึง 1 ปีเศษ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานของจำเลยเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร เป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจการบริหารงานและดำเนินกิจการของจำเลยในการประกอบธุรกิจเพื่อความเหมาะสมและอยู่รอด ไม่ถือเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามกฎหมาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น" ซึ่งหมายความว่า ศาลแรงงานจะต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นหนังสือและในคำพิพากษาหรือคำสั่งที่เป็นหนังสือนั้นจะต้องมีส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรกต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปเพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือศาลฎีกาจะได้นำข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานได้ฟังไว้นั้นมาวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปหากมีการอุทธรณ์หรือฎีกาในประเด็นนั้น ประการที่สองจะต้องแสดงคำวินิจฉัยให้ปรากฏตามประเด็นแห่งคดีที่ศาลแรงงานจดไว้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง และประการที่สามคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีนั้น จะต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อให้ทราบว่าศาลแรงงานได้นำข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดเป็นหลักในการวินิจฉัยคดีและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและการแปลความบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางนำมาใช้วินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากเห็นว่าการปรับโครงสร้างการบริหารงานของจำเลยเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร เป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจการบริหารงานและดำเนินกิจการของจำเลยในการประกอบธุรกิจเพื่อความเหมาะสมและอยู่รอด ไม่ถือเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์นั้น ศาลแรงงานกลางอ้างถึงเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากมีความจำเป็นต้องปรับองค์กรให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ลักษณะงานในหน่วยงานที่โจทก์ทำอยู่มีการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น มีผลให้บุคลากรล้นงาน การพยายามหาทางแก้ไขโดยโยกย้ายโจทก์ให้ไปทำงานยังธุรกิจอื่นของจำเลยและบริษัทในเครือ การไม่ได้เจาะจงเลือกปฏิบัติเฉพาะโจทก์ ลักษณะงานในหน่วยงานด้านพัฒนาธุรกิจโรงงานแปรรูปที่อ้างว่ามีโจทก์ทำงานเพียงคนเดียวและไม่มีงานที่จะต้องทำแต่จำเลยให้โจทก์มาทำงานโดยจ่ายค่าจ้างเป็นเวลาถึง 1 ปีเศษ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยเพียงฝ่ายเดียวทั้งสิ้น ซึ่งไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมาอย่างชัดแจ้ง คงปรากฏเฉพาะเพียงการนำคำพยานโจทก์และพยานจำเลยมาเรียงต่อกันแล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไปตามข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยเท่านั้น โดยไม่ปรากฏถึงเหตุผลของคำวินิจฉัยว่ามีข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และเหตุใดศาลแรงงานกลางจึงเชื่อว่ามีข้อเท็จจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลยเช่นนั้น คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเช่นนี้ จึงไม่ใช่เป็นการทำคำพิพากษาที่กล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุป และไม่ได้แสดงคำวินิจฉัยให้ปรากฏในประเด็นแห่งคดี พร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาในการรับฟังพยานหลักฐาน และเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง และเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงใหม่เสียก่อน แล้วพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามประเด็นแห่งคดีแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป