โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 33, 44, 46 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 44 (ที่ถูก (เดิม)), 46 (ที่ถูก มาตรา 33 วรรคหนึ่ง (เดิม) ด้วย) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับจำเลยที่ 1 ปรับกระทงละ 100,000 บาท รวม 4 กระทง รวมปรับ 400,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 100,000 บาท รวม 4 กระทง เป็นจำคุกคนละ 4 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 200,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คงจำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 200,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 (ที่ถูก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4) เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับสำหรับจำเลยที่ 1 จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการแรกว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดกรรมเดียว หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 33 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดเป็นกิจการที่ต้องแจ้งให้ทราบ หรือต้องขึ้นทะเบียน ให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องแจ้งหรือขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาก่อนเริ่มประกอบธุรกิจนั้น และตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 มาตรา 7 บัญญัติว่า ธุรกิจบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ใดที่ผู้ให้บริการต้องแจ้งให้ทราบ ขึ้นทะเบียน หรือได้รับใบอนุญาต ให้เป็นไปตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทาง อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 ประเภท บัญชี ข (4) การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ซื้อสินค้าเป็นธุรกิจบริการที่ต้องขอขึ้นทะเบียนก่อนให้บริการ กฎหมายจึงอนุญาตให้ประกอบธุรกิจให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพียงแต่ผู้ประกอบการต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนประกอบการเท่านั้น ซึ่งตามหนังสือรับรองบริษัทจำเลยที่ 1 ข้อ 23 บริษัทจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจรับฝากชำระค่าสาธารณูปโภคผ่านระบบอินเทอร์เน็ต การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ซื้อสินค้าจึงเป็นธุรกิจที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ร่วมกันประกอบธุรกิจรับฝากชำระค่าสาธารณูปโภคผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ 1 ก่อนได้รับอนุญาต กระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่จึงอยู่ที่ไม่ได้ขออนุญาตก่อนดำเนินธุรกิจมาแต่ต้นเท่านั้น จึงเป็นการกระทำความผิดเพียงกรรมเดียว หาใช่ความผิดหลายกรรมไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดหลายกรรมมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ยังเป็นความผิดตามกฎหมายและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยทั้งสี่หนักเกินไป หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2561 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 แต่ตามมาตรา 4 ได้กำหนดให้บรรดาการกระทำที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจ บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับให้เป็นหน้าที่ของผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายที่จะดำเนินการเกี่ยวกับความผิดนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จ เมื่อจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดคดีนี้ก่อนพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2561 มีผลบังคับ จึงสามารถดำเนินคดีจำเลยทั้งสี่ต่อไปจนแล้วเสร็จได้ และเมื่อกฎหมายกำหนดขั้นตอนดำเนินคดีต่อไปไว้ชัดแจ้ง จึงมิใช่กรณีกฎหมายที่มีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องไม่เป็นความผิดต่อไปหรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และมาตรา 3 จึงสามารถใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ต่อไปจนเสร็จได้ แต่อย่างไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 44 บัญญัติว่า ผู้ใดประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่แจ้งหรือขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งห้ามการประกอบธุรกิจของคณะกรรมการตามมาตรา 33 วรรคหก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลล่างลงโทษปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 100,000 บาท เป็นการลงโทษในอัตราโทษสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ทั้งที่การกระทำของจำเลยทั้งสี่ในภายหลังไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอีกต่อไปแล้ว จึงเป็นการลงโทษจำเลยทั้งสี่หนักเกินไป เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป สมควรแก้ไขโทษให้เหมาะสม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง (เดิม) มาตรา 44 (เดิม), 46 (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 20,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 20,000 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 10,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์