โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 7,761,187.42 บาท พร้อมค่าชดเชยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,600,091.99 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงิน 10,546.76 บาท พร้อมค่าชดเชยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันและที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2554 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการบริหาร 1 ส่วนวิเคราะห์สินเชื่อรายย่อย มีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานกำกับดูแลวิเคราะห์สินเชื่อ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 53,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 23 ของเดือน เมื่อระหว่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2555 มีผู้นำรหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยไปใช้ในการอนุมัติสินเชื่อลูกค้า 5 ราย คือ นายอรรถพล นางสาวสุมาลี นางพิศมัย นายประจวบ และนางสาวประพัฒสร โจทก์ออกคำสั่งพักงานจำเลยในระหว่างการสอบสวนวินัย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2555 (ที่ถูกคือ วันที่ 28 ธันวาคม 2555) โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยพ้นสภาพการเป็นพนักงานของโจทก์ โดยมีหนังสือเลิกจ้างจำเลยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2555 ต่อมาจำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างพร้อมเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 989/2557 ในระหว่างที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อศาลฎีกา จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางในมูลคดีเดียวกัน ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเป็นฟ้องซ้อน ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2818/2558 คดีทั้งสองสำนวนถึงที่สุดแล้ว แล้ววินิจฉัยว่า ในคดีหมายเลขแดงที่ 989/2556 (ที่ถูกคือ คดีหมายเลขแดงที่ 989/2557) ระหว่างจำเลยและโจทก์คดีนี้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยอาศัยวิธีการและขั้นตอนของการปฏิบัติงานของจำเลยมาวินิจฉัย และประเด็นที่วินิจฉัย คือ โจทก์ (จำเลยคดีนี้) กระทำผิดวินัยร้ายแรงและทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ ซึ่งมิใช่ประเด็นโดยตรงกับที่วินิจฉัยในคดีนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยมิได้เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อรายนางพิศมัย นายประจวบ นายอรรถพล และนางสาวสุมาลี แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานหรือพยานบุคคลยืนยันว่าจำเลยยินยอมให้นางสาวนงนุช หรือพนักงานอื่นใช้รหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยหรือจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการที่นางสาวนงนุชหรือพนักงานอื่นใช้รหัสดังกล่าวของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการอนุมัติสินเชื่อลูกค้า 4 ราย ดังกล่าว ส่วนลูกค้ารายนางสาวประพัฒสร จำเลยพิจารณาอนุมัติสินเชื่อร่วมกับผู้จัดการโจทก์ฝ่ายอื่นอีก 2 คน โดยไม่ปรากฏความผิดปกติในการอนุมัติเมื่อเปรียบเทียบกับการอนุมัติสินเชื่อลูกค้ารายอื่น ๆ อีกหลายราย ส่วนนางสาวประพัฒสรจะชำระหนี้คืนแก่โจทก์ครบถ้วนหรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องในอนาคต ซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องดำเนินการกับนางสาวประพัฒสรต่อไป ทั้งปรากฏว่ามีการโอนสินทรัพย์และหนี้สินของลูกหนี้ทั้ง 5 รายดังกล่าวให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคาร อ. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 โจทก์จึงไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ทั้ง 5 รายดังกล่าวอีกต่อไป การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้แทนตามจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้แต่ละรายค้างชำระแก่โจทก์อีก จึงไม่ชอบ ส่วนค่าล่วงเวลานั้นข้อเท็จจริงยุติแล้วตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 989/2556 (ที่ถูกคือ คดีหมายเลขแดงที่ 989/2557) ว่าจำเลยในคดีนี้ทุจริตเบิกเงินค่าล่วงเวลา จึงให้จำเลยชดใช้ค่าล่วงเวลาคืนพร้อมค่าชดเชยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์และจำเลยต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 989/2557 ของศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องจำเลยเกี่ยวกับละเมิด ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายโดยกล่าวหาว่าการใช้รหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยในการอนุมัติสินเชื่อลูกค้า 5 ราย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนคดีก่อนเป็นเรื่องจำเลยฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง และเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นคนละกรณีกันกับคดีนี้ โดยศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในคดีดังกล่าวถึงวิธีการและขั้นตอนของการปฏิบัติงานของจำเลยแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการวินัยของโจทก์อันเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรงและทุจริตต่อหน้าที่ แม้คดีดังกล่าวศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว แต่ศาลแรงงานกลางในคดีนี้หาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวมาพิจารณาพิพากษาในคดีนี้ว่าจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้รหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยในการอนุมัติสินเชื่อแทน เป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ และที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่าแม้โจทก์โอนหนี้และทรัพย์สินให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว ก็ไม่มีผลทำให้สิทธิของโจทก์สิ้นไป เนื่องจากเป็นคนละมูลหนี้กันนั้น ไม่เป็นสาระแก่คดี
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า คำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 989/2557 ของศาลแรงงานกลาง ผูกพันโจทก์และจำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีก่อน จำเลยคดีนี้ (โจทก์คดีก่อน) ฟ้องเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง และเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากโจทก์คดีนี้ (จำเลยคดีก่อน) กล่าวอ้างว่า โจทก์มีคำสั่งไล่จำเลยออก อ้างเหตุว่าจำเลยเอื้ออำนวยประโยชน์ให้นางสาวนงนุช ใช้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยอนุมัติสินเชื่อ และยินยอมให้ผู้อื่นลงเวลาทำงานให้เบิกค่าล่วงเวลาโดยทุจริต ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์ให้การต่อสู้ในคดีก่อนว่าจำเลยยินยอมให้ผู้อื่นลงเวลาทำงานให้ตนเองทุจริตเบิกเงินค่าล่วงเวลา และยินยอมให้พนักงานอื่นใช้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยในการอนุมัติสินเชื่อโดยสินเชื่อดังกล่าวมีลักษณะที่เล็งเห็นว่าเรียกคืนไม่ได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นความผิดวินัยร้ายแรง ขอให้ยกฟ้อง ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยกล่าวอ้างว่า จำเลยเอื้อประโยชน์ให้นางสาวนงนุชเจ้าหน้าที่อาวุโสของโจทก์ใช้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยในการอนุมัติสินเชื่อลูกค้า 5 ราย ที่เล็งเห็นว่าเรียกคืนไม่ได้ และจำเลยเบิกค่าล่วงเวลาทั้งที่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริง เป็นการกระทำผิดประมวลจริยธรรมของโจทก์และผิดวินัยตามข้อบังคับของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนี้ แม้คดีก่อนมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยฟ้องเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง และเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากโจทก์ได้ดังฟ้องของจำเลยเพียงใดหรือไม่ แต่จำเลยอ้างในคดีก่อนว่าเหตุที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยเนื่องจากจำเลยกระทำผิดวินัยโดยจำเลยเอื้อประโยชน์ให้นางสาวนงนุชใช้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยในการอนุมัติสินเชื่อ และจำเลยเบิกค่าล่วงเวลาทั้งที่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริงซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์ให้การต่อสู้ว่าจำเลยกระทำผิดวินัยจริง ดังนั้น ในคดีก่อนศาลแรงงานกลางจึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าจำเลยกระทำความผิดวินัยดังที่จำเลยฟ้องและโจทก์ให้การในคดีก่อนหรือไม่ ซึ่งในคดีก่อนศาลแรงงานกลางวินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนยินยอมให้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของตนแก่พนักงานอื่นเพื่อทำการวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อแทน อันเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง และทุจริตต่อหน้าที่ คดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน จำเลยจึงต้องผูกพันในผลแห่งคดีและข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางในคดีก่อนวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 โดยต้องถือตามข้อเท็จจริงในคดีก่อนว่าจำเลยยินยอมให้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยแก่พนักงานอื่นเพื่อทำการวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อลูกค้า 5 ราย แทน อันเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง และทุจริตต่อหน้าที่ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าคดีนี้หาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงในคดีก่อนไม่และคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าจำเลยไม่ได้ให้ความสำคัญกับระเบียบปฏิบัติหรือข้อบังคับของโจทก์ที่กำหนดให้พนักงานใช้รหัสผ่านเพื่อการวิเคราะห์สินเชื่อและพิจารณาอนุมัติสินเชื่อโดยผ่านการพิเคราะห์ตามลำดับก่อนจะมาถึงผู้มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อ กลับเอื้อประโยชน์ให้นางสาวนงนุชผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยใช้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยในการอนุมัติสินเชื่อแทนเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่ใช่อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนั้น ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีในส่วนที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยยินยอมให้พนักงานอื่นใช้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยในการอนุมัติสินเชื่อของลูกค้า 5 ราย หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดและผิดสัญญา อ้างว่าเนื่องจากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ 5 ราย ที่จำเลยมีส่วนกระทำความผิดและโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยแล้ว ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยคดีนี้มีมูลเหตุจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ที่เป็นนายจ้างกับจำเลยที่เป็นลูกจ้าง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับหนี้ของลูกค้าซึ่งเป็นลูกหนี้ทั้ง 5 ราย การที่โจทก์โอนหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าวให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคาร อ. เป็นเพียงการบรรเทาความเสียหายในหนี้ส่วนลูกหนี้ดังกล่าวเท่านั้น อีกทั้งการโอนหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าวนั้นก็ไม่เกี่ยวกับมูลหนี้อันสืบเนื่องจากการจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงไม่มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยตามมูลหนี้ดังกล่าวระงับสิ้นไป ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน เมื่อจำเลยต้องผูกพันในผลแห่งคดีตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 989/2557 ดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัยและคดีดังกล่าวศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติเกี่ยวกับลูกหนี้ทั้ง 5 ราย แล้วว่า จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวกระทำผิดตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการวินัย โดยจำเลยยินยอมให้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยแก่พนักงานอื่นเพื่อทำการวิเคราะห์ และอนุมัติสินเชื่อแทนโดยขณะที่มีการอนุมัติสินเชื่อนั้นจำเลยไม่อยู่ในสถานที่ทำงาน เป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรงและทุจริตต่อหน้าที่ ดังนี้ จำเลยจึงผิดสัญญาจ้างแรงงานตามสัญญาจ้าง ลงวันที่ 1 กันยายน 2554 และตามข้อบังคับธนาคาร อ. ฉบับที่ 8 ว่าด้วยการทำงานและสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างธนาคาร พ.ศ. 2551 หมวด 7 ส่วนที่ 1 วินัยและโทษทางวินัย ข้อ 49.3.1 49.3.8 49.3.9 และ 49.5.3 ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนปัญหาว่าจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์เพียงใดนั้น เห็นว่า เนื่องจากการกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่สามารถกำหนดเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ในส่วนนี้ต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์อันเนื่องมาจากการที่จำเลยยินยอมให้ใช้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยกับพนักงานอื่น เพื่อทำการวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อลูกค้า 5 ราย แทน ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณากำหนดค่าเสียหายในส่วนดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ