โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าไปสับฟันแผ้วถางป่าและขุดดินปลูกไม้ยืนต้นลงในที่ดินสงวนของกรมทางเพื่อถือการครอบครองที่ดินนั้น ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การว่า ที่ดินนั้นเป็นของจำเลย ๆ จับจองได้รับใบเหยียบย่ำมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๙ จำเลยปลูกยางเต็มเนื้อที่และครอบครองมา ๒๐ กว่าปีแล้ว ผู้ที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาที่นั้นไม่เคยเข้าเกี่ยวข้อง คดีขาดอายุความและฟ้องเคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยเข้าแย่งการครอบครองที่พิพาท มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ พิพากษาลงโทษ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยครอบครองที่พิพาทอย่างน้อยก็เป็นเวลา ๙ ปีมาแล้ว และมีพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยมีความรู้สึกว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยมาแต่ต้นฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุก พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะได้ความว่ากรมทางหลวงแผ่นดินได้จับจองที่พิพาทและขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินสงวนไว้ก่อนเวลาที่จำเลยอ้างว่าขอจับจอง และได้รับใบเหยียบย่ำก็จริง แต่กรมทาง ฯ ก็มิได้เข้าไปทำประโยชน์ ไม่มีประกาศในที่พิพาทให้ราษฎรทราบโดยเปิดเผยว่า เป็นที่สงวนของทางราชการ จนจำเลยเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นที่สงวนหวงห้าม จึงได้เข้าไปปลูกข้าวและต้นยางพารา แต่ก็ยังไม่มีเจ้าพนักงานผู้ใดทักท้วงห้ามปราม จนล่วงเลยมาเกือบ ๒๐ ปี แล้วกรมทาง ฯ จึงได้ไปปลูกบ้านพักคนงาน จำเลยก็ไปร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่ากรมทาง ฯ รุกที่ดินของจำเลยกรมทาง ฯ จึงไปร้องต่ออำเภอบ้าง อำเภอเปรียบเทียบให้เป็นของกรมทาง ฯ จำเลยไม่ยอม เห็นได้ว่าเป็นการพิพาทกันในทางแพ่งว่าที่พิพาทเป็นของใคร ครั้นจำเลยไม่ฟ้องกรมทาง ฯ กรมทาง ฯ กลับดำเนินคดีอาญาเรื่องนี้ รูปคดีฟังได้ว่า การที่จำเลยเข้าไปปลูกต้นยาง ก็โดยพฤติการณ์ต่าง ๆ ทำให้จำเลยหลงเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยไม่ทราบว่าเป็นที่ดินสงวนหวงห้ามมาก่อน เห็นได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะเข้าถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์อันเป็นของผู้อื่น อันจะเป็นความผิดทางอาญาฐานบุกรุก พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์