โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 2,418,006.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,262,288 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 288,672.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 270,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นางสาวรัชฎาภรณ์ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประสิทธิ์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 620,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 620,000 บาท นับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และโจทก์ร่วม ให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 265,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 265,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 มกราคม 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และโจทก์ร่วมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประสิทธิ์ ผู้ตาย ผู้ตายทำสัญญาประกันภัยภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 รถกระบะไว้กับจำเลยที่ 3 ระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 12 ตุลาคม 2560 สิ้นสุดวันที่ 12 ตุลาคม 2561 กรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกำหนดจำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยกรณีเสียชีวิต 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 1 ตำแหน่งคนงานทั่วไป กองสวัสดิการสังคมของจำเลยที่ 2 ขับรถกระบะหมายเลขทะเบียน กค 3011 กำแพงเพชร ของจำเลยที่ 2 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคมของจำเลยที่ 2 เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นถนนมี 4 ช่องเดินรถ ไป 2 ช่อง และกลับ 2 ช่อง มีเส้นทึบสีเหลืองแบ่งกึ่งกลางถนน จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทข้ามเส้นทึบสีเหลืองดังกล่าวเข้าไปชนรถกระบะ ที่ผู้ตายขับสวนทางมา เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย รถกระบะของผู้ตายได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 35,000 บาท แก่โจทก์ คดีในส่วนอาญาพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 โดยไม่รอการลงโทษ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดทางละเมิดไม่ได้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์และโจทก์ร่วมเป็นค่าใช้จ่ายในการปลงศพ 110,000 บาท ค่าซ่อมรถกระบะของผู้ตาย 110,000 บาท ค่าขาดแรงงานในครัวเรือนของโจทก์และโจทก์ร่วม 400,000 บาท รวมเป็นเงิน 620,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด โจทก์และโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อุทธรณ์ คดีระหว่างคู่ความดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยที่ 3 ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีเสียชีวิตแก่โจทก์และโจทก์ร่วมหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเป็นเหตุให้นายประสิทธิ์ ถึงแก่ความตาย ขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์และโจทก์ร่วมอันเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในมูลหนี้ละเมิด และฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยภาคบังคับซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์และโจทก์ร่วมกรณีผู้ตายซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต อันเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 3 รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัย เห็นได้ว่าโจทก์และโจทก์ร่วมประสงค์ที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 รับผิดชำระหนี้ในมูลหนี้คนละส่วนแยกต่างหากจากกัน เมื่อตามกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ระบุจำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยสำหรับการเสียชีวิตจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 300,000 บาท ต่อหนึ่งคนสำหรับการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงมีหน้าที่ต้องชำระแก่โจทก์และโจทก์ร่วมที่เป็นทายาทโดยไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดได้ แต่อย่างไรก็ตาม การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 22 บัญญัติว่า "การได้รับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นตามมาตรา 20 ไม่ตัดสิทธิผู้ประสบภัยที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้ถือว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" และมาตรา 31 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอก หรือเกิดขึ้นเพราะความจงใจหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าของรถ ผู้ขับขี่ ผู้ซึ่งอยู่ในรถ หรือผู้ประสบภัย เมื่อบริษัทได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทน...ไปแล้วจำนวนเท่าใดให้บริษัท...มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลดังกล่าวหรือมีสิทธิเรียกให้ผู้ประสบภัยคืนเงินดังกล่าวได้" อันหมายความว่าเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อผู้ประสบภัยได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว ผู้ประสบภัยยังสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จากผู้ก่อความเสียหายได้อีก และในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอก เมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทนไปแล้วจำนวนเท่าใด บริษัทก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ ค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทนที่จะต้องจ่ายตามกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนี้จึงเป็นการจ่ายตามสัญญาประกันภัยวินาศภัย ซึ่งค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขความคุ้มครองหมายถึงค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าเสียหายส่วนที่เกินจากค่าเสียหายเบื้องต้นตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตามตารางกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถระบุว่าค่าเสียหายเบื้องต้น คือ ค่าเสียหายต่อร่างกายไม่เกิน 30,000 บาท ต่อหนึ่งคน หรือตามที่กฎหมายกำหนด ค่าเสียหายต่อร่างกาย สำหรับการสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร 35,000 บาท หรือตามที่กฎหมายกำหนด ความเสียหายต่อชีวิต 35,000 บาท ต่อหนึ่งคน หรือตามที่กฎหมายกำหนด ตามที่ระบุไว้ในรายการ 5 จำนวนค่าเสียหายเบื้องต้น ส่วนที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่าจำเลยที่ 3 ต้องจ่ายในกรณีนี้จำนวน 300,000 บาท ไม่ใช่ค่าเสียหายเบื้องต้น แต่อยู่ในส่วนจำนวนเงินที่คุ้มครองผู้ประสบภัย 300,000 บาท ต่อหนึ่งคน สำหรับการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร ตามที่ระบุไว้ในรายการ 4 จำนวนเงินที่คุ้มครองผู้ประสบภัย กรณีเป็นดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น จำนวนเงินที่คุ้มครองผู้ประสบภัยดังกล่าวจึงเป็นค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง เมื่อปรากฏว่าผู้ตายขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 และความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถกระบะคันของจำเลยที่ 2 จึงเป็นกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอก หากจำเลยที่ 3 ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ไป จำเลยที่ 3 ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกได้ ในกรณีนี้คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับ รวมทั้งฟ้องจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยภาคบังคับ แม้การฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดจะเป็นการฟ้องตามสัญญาประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก็ตาม ในส่วนที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดนี้ หากจำเลยที่ 3 ชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเท่าใดก็ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกผู้กระทำละเมิดหรือผู้ก่อความเสียหายได้ ตามมาตรา 31 แห่งบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น ดังนั้น เมื่อเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ แม้การฟ้องจะแยกจำนวนเงินที่แต่ละคนต้องรับผิด ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าว เพื่อไม่ให้ผู้ประสบภัยได้รับชดใช้เกินจำนวนความเสียหายที่ได้รับ และไม่ให้บุคคลภายนอกผู้ก่อความเสียหายต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าที่ต้องรับผิด แต่เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมตามจำนวนความเสียหายที่กำหนดให้แล้ว ซึ่งต่อมาโจทก์และโจทก์ร่วมได้รับชำระค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาจนเป็นที่พอใจแล้ว กรณีจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมได้อีก เพราะจะทำให้โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินจำนวนที่ได้รับความเสียหายจริง ทั้งหากจำเลยที่ 3 ชำระให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมแล้วก็ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเกินไปกว่าจำนวนความเสียหายที่แท้จริงเช่นนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ