โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,840,674.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,433,655.99 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงินแทนจำเลยที่ 1 จำนวน 360,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,114,046 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์นี้ต้องไม่เกินกว่าความรับผิดของนายชัยยันต์ และหรือนางวิมล ที่จะมีต่อโจทก์ตามคดีหมายเลขดำที่ ผบ.89/2562 ของศาลชั้นต้น และภายหลังจากนั้นหากนายชัยยันต์และหรือนางวิมลชำระเงินให้แก่โจทก์ในคดีดังกล่าวเพียงใด ให้นำเงินจำนวนนั้นมาหักจำนวนหนี้ในคดีนี้ด้วย โดยทุกครั้งที่นำมาหักทอนบัญชีนั้น ให้หักชำระดอกเบี้ยก่อน คงเหลือเงินอีกเพียงใดให้นำไปหักชำระต้นเงินทุกครั้ง และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ 360,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 3,433,655.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทำสัญญาตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจดหน่วยพร้อมแจ้งค่าไฟฟ้าในเขตจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของโจทก์ เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 และต่ออายุสัญญากันมาโดยตลอดจนถึงปี 2560 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 พนักงานช่างกองมิเตอร์ของโจทก์ตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ่อเลี้ยงกุ้งซึ่งมีนายชัยยันต์ เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้า นางวิมล เป็นผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า พบตัวมิเตอร์ไฟฟ้าบริเวณตราตะกั่วฝาครอบตัวมิเตอร์ จำนวน 2 ดวงตรา มีร่องรอยงัดแงะตัดลวดที่ใช้ร้อยตะกั่วจนขาด แล้วสอดลวดเข้าร่องตะกั่ว บีบอำพรางไว้ อันเป็นพฤติการณ์ละเมิดการใช้ไฟฟ้าของโจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับกรณีพนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ไปจดหน่วยมิเตอร์ไฟฟ้าและอ่านหน่วยไฟฟ้าผิดพลาด หน่วยละ 500 บาท ต่อรายการที่ผิดพลาดตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 ถึงวันที่ตรวจสอบพบเป็นเวลา 44 เดือน เป็นเงิน 22,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับดังกล่าวแล้ว ต่อมาโจทก์นำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมมีมติให้แจ้งจำเลยที่ 1 ชำระค่าไฟฟ้าปรับปรุงตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 ถึงเดือนสิงหาคม 2559 เป็นเงิน 3,433,655.99 บาท และแจ้งให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ได้ฟ้องนายชัยยันต์เป็นจำเลยที่ 1 กับนางวิมลเป็นจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกันชำระหนี้ค่าไฟฟ้าปรับปรุงจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บุคคลทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คดีถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าไฟฟ้าปรับปรุงให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาตั้งตัวแทนจดหน่วยพร้อมแจ้งค่าไฟฟ้าในเขตจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของโจทก์ ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า พนักงานช่างจากกองมิเตอร์ของโจทก์ตรวจสอบมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ่อเลี้ยงกุ้งของนายชัยยันต์ผู้ใช้ไฟฟ้าพบว่า ตราตะกั่วฝาครอบมิเตอร์ 2 ดวงตรา มีร่องรอยงัดแงะตัดลวดที่ใช้ร้อยตะกั่วจนขาด แล้วสอดลวดเข้าร่องตะกั่วและบีบอำพรางไว้ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้มิเตอร์ไฟฟ้าหมุนช้าลงและแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าคลาดเคลื่อน เนื่องจากมีการดัดแปลงชุดตัวเลขบอกหน่วยของมิเตอร์ไฟฟ้า การละเมิดดังกล่าวมิได้เกิดจากการกระทำของนายทรงวุฒิ พนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ไปจดหน่วยมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งการเรียกเอาค่าเสียหายนั้น มี 2 กรณี ได้แก่ ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ ประการหนึ่ง และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ หากว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว อีกประการหนึ่ง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 แต่ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดนั้น เกิดจากการที่มิเตอร์ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าหมุนช้าลงและแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าคลาดเคลื่อน เนื่องจากมีการดัดแปลงชุดตัวเลขบอกหน่วยของมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากการกระทำละเมิดของผู้ใช้ไฟฟ้า จึงมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่อาจถือได้ว่าเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้คาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้รับค่าปรับหรือเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว และค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องเป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของผู้ใช้ไฟฟ้า มิใช่ค่าเสียหายอันเกิดแต่การที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามสัญญา จึงไม่มีค่าเสียหายซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์อีก ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น สำหรับจำเลยที่ 2 แม้จะมิได้ขออนุญาตฎีกามาด้วย แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะต้องชำระหนี้เป็นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ไปประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 252 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามชั้นศาลให้เป็นพับ