โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 นายสลิด บิดาโจทก์ยื่นใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์และชำระเงินฝากสงเคราะห์ 1,930 บาทต่อปี สำหรับคุ้มครองการเสียชีวิตเป็นเงิน 200,000 บาท และชำระเงินฝากสงเคราะห์ 300 บาทต่อปี สำหรับเพิ่มเติมคุ้มครองการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นเงิน 200,000 บาท กับจำเลย ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ วันที่ 15 มีนาคม 2562 นายสลิดประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2562 และวันที่ 17 เมษายน 2562 จำเลยมีหนังสือปฏิเสธการรับฝากเงินสงเคราะห์และโอนเงินคืนให้แก่นายสลิด เนื่องจากนายสลิดเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะอนุมัติให้รับฝากเงินสงเคราะห์ได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นและมีผลสมบูรณ์หรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้ความสมบูรณ์ในการทำสัญญาประกันชีวิต จะถือว่าการแสดงเจตนาทำคำขอเอาประกันชีวิตของผู้บริโภคเป็นเพียงคำเสนอต่อผู้ประกอบธุรกิจรับประกันภัย และตราบใดที่ผู้รับประกันภัยยังมิได้พิจารณาคุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้ขอแต่ละรายแล้วทำคำสนองรับประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตจะยังมิได้เกิดขึ้นดังที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อฎีกา แต่เมื่อจำเลยประกอบธุรกิจธนาคารรับฝากเงินเป็นปกติธุระมิใช่ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจรับประกันภัย ทั้งการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ของจำเลยด้วยข้อความสำคัญที่ว่า เป็นการฝากเงินสงเคราะห์ แบบคุ้มครองสินเชื่อแก่ลูกค้าผู้กู้ของธนาคาร โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ฝากเงินสงเคราะห์และเงื่อนไขสำคัญว่า ผู้ฝากเงินสงเคราะห์ต้องมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกร ลูกค้าผู้กู้และคู่สมรส อายุระหว่าง 20 ถึง 60 ปี บริบูรณ์ ผู้ฝากที่มีช่วงอายุ 20 ถึง 50 ปี ชำระเงิน 365 บาท ต่อปี ผู้ฝากที่อายุ 51 ถึง 60 ปี ชำระเงิน 665 บาท ต่อปี ผู้ฝากที่อายุ 61 ถึง 65 ปี ชำระเงิน 965 บาท ต่อปี และผู้ฝากที่อายุ 66 ถึง 70 ปี ชำระเงิน 1,265 บาท ต่อปี โดยมีผลประโยชน์ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงทุกกรณีรับ 100 เปอร์เซ็นต์ ของเงินทุนสงเคราะห์ กรณีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรับเพิ่ม 100 เปอร์เซ็นต์ ของเงินทุนสงเคราะห์ กรณีขอรับความคุ้มครองอุบัติเหตุเพิ่มเติม ข้อความโฆษณาของจำเลยดังกล่าวที่นำมาจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในกรมธรรม์มอบรัก 1/1 และมีถ้อยคำเรื่องการฝากเงินสงเคราะห์เป็นหลักสำคัญยิ่งกว่าข้อความบ่งชี้เกี่ยวกับการชำระเบี้ยประกันชีวิต ย่อมทำให้ผู้ตายซึ่งเป็นผู้บริโภคเข้าใจได้ตามสามัญสำนึกว่า หากผู้ตายเป็นลูกค้าของธนาคารจำเลยนำเงินไปฝากกับจำเลยตามจำนวนและต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำโฆษณาแล้ว ผู้ตายซึ่งเป็นคู่สัญญาฝากทรัพย์จะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของกรมธรรม์มอบรัก 1/1 ที่จำเลยโฆษณาไว้ด้วย จำเลยจึงต้องผูกพันให้ความคุ้มครองแก่ผู้ตายตามที่ตนโฆษณาซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 นอกจากนี้ การที่ผู้ตายขอฝากเงินสงเคราะห์ต่อจำเลยโดยมุ่งหวังจะได้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์มอบรัก 1/1 จนเกิดปัญหาการตีความการก่อนิติสัมพันธ์ตามใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์กับคำโฆษณากรมธรรม์มอบรัก 1/1 ของจำเลยที่เป็นต้นตอในการก่อสัญญาและเผยแพร่ออกไปสู่ผู้บริโภคโดยทั่วไป การตีความจึงพึงยึดถือความเข้าใจของผู้บริโภคซึ่งเป็นวิญญูชนและมิได้เป็นผู้โฆษณาข้อความเช่นนั้นเป็นสำคัญยิ่งกว่าการตีความตามความมุ่งหมายของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นผู้เขียนคำโฆษณา ประกอบกับ หากกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตีความ ย่อมต้องตีความไปในทางให้สัญญามีผลบังคับซึ่งเป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายผู้บริโภคที่เป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น เพราะหากตีความจนสัญญาไม่เป็นผลผู้บริโภคจะเป็นฝ่ายเสียไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ดังนี้ สัญญาฝากเงินตามใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์ระหว่างผู้ตายกับจำเลยจึงตีความได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาฝากทรัพย์โดยมีความคุ้มครองประกันชีวิตให้แก่ผู้ตายด้วยอยู่ในตัว เมื่อผู้ตายมีคุณสมบัติเฉพาะตัวตามหลักเกณฑ์แห่งคำโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ของจำเลยและนำเงินไปฝากตามจำนวนที่จำเลยกำหนด โดยธนาคารจำเลย สาขาภูสิงห์ ยอมรับใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์พร้อมเงินฝากของผู้ตายไว้เช่นนี้ สัญญาฝากทรัพย์โดยมีความคุ้มครองประกันชีวิตย่อมเกิดขึ้นตามเจตนาของคู่สัญญาแล้ว จำเลยต้องผูกพันให้ความคุ้มครองแก่ผู้ตายตามกรมธรรม์มอบรัก 1/1 ที่ตนโฆษณาไว้ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายภายหลังจากสัญญาฝากทรัพย์ที่มีความคุ้มครองประกันชีวิตเกิดขึ้นและมีผลบังคับ จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อผู้ตายตามผลประโยชน์ที่ควรได้รับในกรมธรรม์มอบรัก 1/1 อันเป็นส่วนหนึ่งในการโฆษณาของจำเลยได้ ทั้งกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะปฏิเสธความคุ้มครองให้แก่ผู้ตายตามกรมธรรม์มอบรัก 1/1 จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์ ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนที่จำเลยฎีกาในตอนท้ายว่า จำเลยได้บอกล้างสัญญาที่เป็นโมฆียะแล้ว เป็นทำนองสัญญาประกันชีวิตที่เกิดขึ้นตกเป็นโมฆะเสียเปล่าไปเพราะการบอกล้างสัญญาตามกฎหมาย นับเป็นฎีกาที่ขัดแย้งกับฎีกาของจำเลยในตอนต้นที่อ้างว่า สัญญาประกันชีวิตรายนี้ยังไม่เกิดขึ้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ซึ่งแก้ไขใหม่ โดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดแก่โจทก์ ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทบัญญัติเดิมก่อนมีการแก้ไข และรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มิถุนายน 2562) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้นบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ