ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เบี้ยปรับสัญญาการศึกษา, การชดใช้ทุน, อายุความเงินกู้: ศาลฎีกาตัดสินประเด็นการบังคับสัญญาและอายุความ
จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครส่วนจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการการเสนอคำฟ้องจึงต้องเสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1) แต่คดีนี้จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ต่างเขตอำนาจศาล โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งที่จำเลยมีภูมิลำเนาได้ตามมาตรา 5ส่วนที่สัญญาได้ระบุให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งนั้น ในขณะทำสัญญาอยู่ระหว่างการใช้บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 7 เดิม ที่บัญญัติยอมให้คู่ความเสนอคำฟ้องต่อศาลที่คู่ความระบุไว้ในสัญญาได้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2534การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการจึงชอบแล้ว ข้อกำหนดในสัญญาการรับทุนไปศึกษาและกลับมาทำงานสำหรับผู้รับทุนไปศึกษาต่างประเทศข้อ 12 ที่ห้ามไม่ให้จำเลยที่ 1 ผู้รับทุนสมรสตลอดระยะเวลาการศึกษาชั้นปริญญาเอก เมื่อไม่มีความสัมพันธ์กับข้อกำหนดในสัญญาข้ออื่นเพียงแต่เป็นข้อกำหนดข้อหนึ่งในสัญญาซึ่งหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิเรียกเงินประเภทต่าง ๆที่จำเลยที่ 1 ผู้รับทุนไปเพื่อการศึกษาคืนเป็นจำนวน4 เท่าในทันที แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้ใช้สิทธิตามสัญญาข้อดังกล่าว จึงถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาแยกข้อกำหนดในสัญญาข้อนี้ออกจากข้อสัญญาอื่น ๆ เป็นการแยกส่วนที่ไม่สมบูรณ์ออกจากส่วนสมบูรณ์ ดังนั้น หนังสือสัญญาการรับทุนไปศึกษาข้ออื่น ๆ นอกจากข้อห้ามในข้อ 12จึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ต้องลงทุนเพื่อสนับสนุนบุคลากรผู้รับทุนไปศึกษาต่างประเทศ โจทก์ย่อมมีความมั่นใจในชั้นต้นว่าผู้รับทุนจะกลับมาทำงานด้วยส่วนที่ตามสัญญาระบุระยะเวลาชดใช้ทุนต่างกันไป โดยให้ชดใช้ทุนชั้นปริญญาโท 3 เท่าแต่ชดใช้ทุนชั้นปริญญาเอก 4 เท่า ก็เนื่องจากโอกาสในการได้รับงานสถานที่อื่นหรือในต่างประเทศนั้น ผู้สำเร็จปริญญาเอกจะมีโอกาสมากกว่าผู้สำเร็จชั้นปริญญาโท ทำให้โอกาสในการผิดสัญญาของผู้รับทุนไปศึกษาชั้นปริญญาเอกมีมากขึ้นด้วยคู่สัญญาจะกำหนดระยะเวลาชดใช้ทุนมากขึ้นจากระยะเวลาชดใช้ทุนในชั้นปริญญาโทจึงมีเหตุผล การที่คู่สัญญาจะกำหนดความเสียหายไว้ล่วงหน้าดังกล่าวจึงกระทำได้ แต่ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่งที่ศาลล่างทั้งสองลดเบี้ยปรับลง โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในการผิดสัญญาไปศึกษาชั้นปริญญาโทเพียง 1 เท่าและร่วมกันรับผิดในการผิดสัญญาไปศึกษาชั้นปริญญาเอกเพียง 2 เท่า จึงเหมาะสมแล้ว ตามสัญญาการกลับมาทำงานได้ระบุชัดเจนว่า ระยะเวลาการชดใช้ทุน คือเวลากลับเข้าปฏิบัติงานในวิทยาลัยของโจทก์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 เท่า กรณีจึงไม่อาจแปลไปได้ว่าระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อชั้นปริญญาเอกเป็นการปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของโจทก์ด้วย ส่วนการที่สัญญาการรับทุนไปศึกษาระบุว่า ให้นับระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาเป็นอายุการทำงานของผู้รับทุนก็เป็นเรื่องการนับอายุงานซึ่งเป็นเรื่องอื่น ไม่อาจหมายความได้ว่าให้หมายถึงเป็นการชดใช้ทุนการศึกษาในระดับชั้นปริญญาโทไปได้ ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ได้แบ่งยอดชำระหนี้ด้วยการหักเงินเดือนออกเป็นงวด ๆ รวม 60 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2527 เป็นต้นไป จึงเป็นการผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(2)แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาต่อชั้นปริญญาเอกจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินเดือน โจทก์จึงผ่อนผันไม่หักเงินเดือนชำระหนี้ในระหว่างนั้นให้ จึงถือได้ว่าพฤติการณ์ของคู่ความต่างไม่ถือเอาข้อกำหนดในสัญญาเรื่องระยะเวลาชำระหนี้เป็นงวด ๆ ในขณะนั้น เป็นสาระสำคัญของสัญญาแล้ว แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ชำระหนี้ในช่วงเวลาที่ไปศึกษาต่อก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจำเลยที่ 1จะสำเร็จการศึกษาหรือกลับมาทำงานกับโจทก์ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ให้เริ่มนับอายุความแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษามาแล้ว และไม่ชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องภายใน 5 ปีได้ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ