โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์หลายสาเหตุรวมทั้งเหตุพกพาอาวุธปืนเข้าไปทะเลาะวิวาทและขู่ผู้บังคับบัญชา และถูกดำเนินคดีในข้อหาจ้างวานใช้คนร้ายยิงผู้บังคับบัญชาได้รับบาดเจ็บสาหัสซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ เมื่อเจ้าหน้าที่สั่งไม่ฟ้องก็ไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน แล้วเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้สอบสวน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์กระทำผิดจริงตามที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนตามข้อบังคับแล้ว จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเชื่อว่าโจทก์เป็นผู้จ้างวานฆ่านายโยชิยูกิผู้จัดการของจำเลย จึงไม่ไว้วางใจโจทก์ เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อดังกล่าวจึงฟังไม่ถนัดว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม แต่ไม่มีหลักฐานแจ้งชัดว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดอาญาต่อจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสามจำนวนนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าไม่มีพยานหลักฐานแสดงโดยแจ้งชัดว่าโจทก์เป็นผู้กระทำความผิดประการใดแต่ได้มีการลอบฆ่านายโยชิยูกิ การเลิกจ้างโจทก์มีสาเหตุมาจากจำเลยเชื่อว่าโจทก์มีส่วนพัวพันกับการพยายามฆ่านายโยชิยูกิ ทำให้จำเลยเกิดความไว้วางใจโจทก์จึงได้เลิกจ้างเสีย ที่โจทก์อ้างว่าการเลิกจ้างที่ไม่ใช่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ อันนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย จะมีได้แต่กรณีที่ลูกจ้างกระทำผิดเท่านั้น โดยโจทก์ยกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ เรื่องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าขึ้นเทียบเคียง ศาลฎีกาเห็นว่า กฎหมายสามฉบับนั้นมีวัตถุประสงค์และมีที่ใช้ต่างกัน จะเทียบเคียงแปลปรับเข้าด้วยกันมิได้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น จักต้องพิเคราะห์ว่ามีสาเหตุเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้หรือไม่เป็นประการสำคัญ บางกรณี แม้ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดใด ๆ เลย มีความรู้ความสามารถ มีประสิทธิภาพสูง แต่นายจ้างประสบภาวะขาดทุน นายจ้างก็อาจเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นเสียได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กรณีของโจทก์นี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลแรงงานกลางว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีสาเหตุเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้ ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมซึ่งโจทก์มีสิทธิจะเรียกร้องค่าเสียหายได้
พิพากษายืน.