โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินกู้คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,224,202 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 6,224,562 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง และจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 22355, 22356 และ 22357 ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร แก่จำเลยที่ 2
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กรกฎาคม 2544) ต้องไม่เกินจำนวน 1,999,640 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี กับให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 22355, 22356 และ 22357 ตำบลบ้านช่างหล่อ อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร แก่จำเลยที่ 2 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับฟ้องของโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันและร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์และมอบโฉนดที่ดิน 3 ฉบับ คือ โฉนดที่ดินเลขที่ 22355, 22356 และ 22357 ดังกล่าวให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกันและหนังสือมอบอำนาจให้แก่โจทก์เพื่อจดทะเบียนจำนองต่อเจ้าพนักงาน แต่โจทก์มิได้นำเอกสารไปจดจำนอง ภายหลังจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่สามารถชำระหนี้ตามที่ตกลงกัน ในปี 2542 โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงคิดดอกเบี้ยกันใหม่ โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้จำนวน 6,224,562 บาท และจำเลยที่ 2 ยังสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์ 1 ฉบับ มีจำนวนเงินในเช็คเท่ากับจำนวนเงินในสัญญากู้เงิน มีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสลักหลัง เมื่อเช็คถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน
...โจทก์ฎีกาในข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีคดีฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับ โดยจำเลยที่ 2 มอบให้ยึดถือเป็นประกันเงินกู้ โจทก์จึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืน อันเป็นบุคคลสิทธิบังคับกันได้ระหว่างโจทก์ กับจำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาต่อกัน แม้การที่โจทก์ยึดถือโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับเป็นประกันเงินกู้ที่โจทก์จะได้รับคืน ซึ่งไม่ได้เป็นคุณแก่โจทก์เกี่ยวด้วยที่ดินโฉนดพิพาททั้งสามฉบับดังกล่าว กรณีจึงหาใช่สิทธิยึดหน่วงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 ซึ่งหมายถึง การที่ผู้ครอบครองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นก็ตาม แต่โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับเป็นประกันจนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืน เมื่อจำเลยยังไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์คืนโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับแก่จำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ยังคงยึดถือโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับดังกล่าวไว้จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ครบถ้วน ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องกับฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์